forwriter.com
 
ห้องสร้างนักเขียน

เขียนเรื่องของคุณ           คุณจะเขียนถึงเรื่องอะไรได้บ้าง        100 คำถามเรียกความทรงจำ

 

หนังสือเล่มแรกของคุณ

เขียนเรื่องของคุณเอง

 

หนังสือเล่มแรก ที่ทุกคนควรจะเขียนได้ นั่นคือ เรื่องเกี่ยวกับชีวิตของคุณเอง

การเขียนเรื่องของตัวเอง เหมาะสำหรับคนที่อยากเขียนค่ะ

และการเขียนมันเป็นการสื่อสารที่ดี่ที่สุด ที่จะทำให้คุณได้รู้จักตัวเอง

เรื่องราวของคุณก็เป็นหนึ่งเดียวในโลกเท่านั้นที่มี

ทำไมถึงเขียน

เขียนเรื่องของตัวเอง มีเหตุผลอยู่หลายอย่าง

1. เพื่อค้นหาความหมายในชีวิตของคุณ

2. เพื่อทิ้งร่องรอยชีวิตของคุณเอาไว้เป็นความทรงจำ ประสบการณ์ทุกอย่างของคุณจะเป็นสิ่งที่คนอื่นได้เรียนรู้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณอาจจะเป็นบทเรียน หรือข้อเตือนใจให้กับคนอื่นๆ ได้

3.มันทำให้คุณเป็นคนพิเศษ ไม่เพียงแต่ที่คุณได้เขียนหนังสือเท่านั้น แต่สิ่งที่คุณเขียนมันอาจจะมีอิทธิพลต่อคนอื่นที่ได้อ่าน แล้วเห็นด้วย นำเอาไปปฏิบัติตาม นี่ไม่ได้ทำให้คุณเป็นธรรมดาแน่ๆ

4. มันทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น

5. มันสนุก

6. เพื่อคุณจะได้เป็นที่จดจำ

7. เมื่อคุณเขียนเรื่องของคุณได้ ทักษะอันนี้จะทำให้คุณสามารถเขียนอย่างอื่นให้แตกต่างกันไปได้อีก แต่ที่ใกล้เคียงที่สุด มันอาจจะทำให้คุณกลายเป็นนักเขียนประวัติบุคคลทีเก่งไปเลยก็ได้ คิดดูสิ อะไรจะตามมาในชีวิตคุณ ^--^

8. หากคุณคิดเหตุผลได้มากกว่านี้ ก็เติมลงไปได้เล้ย !

 

ข้อจำกัดที่ทำให้ไม่เขียน

บางครั้งคนเราก็มักมีข้อแก้ตัว ทำให้ตัวเองไม่อยากเขียนเหมือนกันนะเป็นต้นว่า

 

  1. เรื่องของฉันไม่น่าสนใจหรอก ( อย่าลืมนะ คุณเป็นหนึ่งเดียวในโลก )
  2. ฉันเขียนไม่เป็น (ไม่มีใครทำอะไรเป็นมาจากท้องพ่อท้องแม่หรอกคุณ ฝึกฝนหน่อย)
  3. ฉันไม่มีเวลา (สร้างมันขึ้นมาสิ วันละ 5 นาทีก็ได้)
  4. ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง ( ถ้าตั้งใจจริง ก็อ่านต่อไป)
  5. ไอ้หนังสือแบบนี้ มันต้องสำหรับคนดังเท่านั้น (คิดผิดมากๆ เลยนะเนี่ย ...)

ดังนั้นเลิกคิดไปเลยค่ะ เหตุผลต่างๆ ที่จะทำให้คุณไม่ได้เขียนน่ะทิ้งไปเลย

มาเริ่มต้นกันดีกว่า

ขั้นตอนในการเขียนเรื่องของตัวเอง

1. เริ่มที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองล่ะค่ะ

ความทรงจำต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบันมันยังมีอยู่ไหม?

คิดหา เริ่มเขียนเป็นข้อๆ ลงไปเลย ใช้วิธีแบบนี้ก็ได้ คือแบ่งเป็นหัวข้อๆ ที่คุนสนใจเช่น การเกิด การตาย การป่วย ความสำเร็จ ความล้มเหลว ญาติ เพื่อน การศึกษา การทำงาน การมองชีวิต ฯลฯ

จากนั้นก็แบ่งหยิบกระดาษขึ้นมา แบ่งเป็นสองตอน สมมติว่าเอาเรื่องญาติก่อน

ด้านซ้ายเขียนสิ่งที่คุณจดจำได้เป็นข้อๆ เรียงลำดับกันลงมา ระยะห่างก็ควรจะเว้นบรรทัดสักสามสี่บรรทัด

คิดอะไรได้ก็เขียนลงไปเกี่ยวกับรายชื่อญาติ

ส่วนด้านขวานั้น ให้เขียนรายละเอียดในเรื่องนั้นๆ อย่างที่คุณจดจำได้ลงไป

ทำแบบนี้ในทุกๆ หัวข้อ

หากคุณจำไม่ได้ ก็ให้ถามคนเกิดก่อนคุณ คนที่รู้เรื่องของคุณ

การใช้วิธีจดรายการ หรือลิสต์รายการ ก็เป็นวิธีหนึ่งทีจะทำให้คุณเริ่มได้ง่าย

ก็เริ่มตั้งแต่ หนังสือที่ชอบอ่าน ดาราที่ชอบ ภาพยนตร์ เพลง สัตว์ สี อาหาร รถ สิ่งที่อยากเป็น สิ่งที่เป็นของคุณอยู่ในขณะนี้ ร้านอาหารที่เคยไป ฯลฯ เวลาเขียนรายการลงไป มันจะทำให้คุณรู้จักตัวเองมากขึ้น

รูปถ่ายจะเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่จะทำให้คุณมีเรื่องเล่ามากขึ้น

ถ้ามี ก็เอามันออกมา การเห็นรูปภาพจะทำให้คุณเขียนเรื่องได้มีชีวิตชีวาขึ้น เพราะรายละเอียดในเรื่องสถานที่ รูปทรง สีสรร และสิ่งแวดล้อมจะทำให้คุณบรรยายได้ดีขึ้น เรื่องของคุณก็สมจริงขึ้น

2.จัดระเบียบความคิดแหละว่า คุณจะเล่าเรื่องยังไง

แบบ timeline

การเล่าเรื่องแบบใช้วันเวลาเป็นตัวกำหนดคุณอาจจะแบ่งเป็นช่วงเช่น เขียนเล่าชีวิตในช่วงแต่ละ 10 ปี เป็นการเขียนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง10ปี เช่น ชีวิตในช่วงปีพ.ศ 2525 ปี พ.ศ 2535 ปีพศ. 2545 ไปเรื่อย ๆ

หรือจะเขียนเล่าในแต่ละช่วงของวัยเช่น วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ วัยเกษียณ เมื่ออายุ 30 ปี 35ปี 40 ปี

หรือคุณอาจจะเล่าตั้งแต่ สาแหรกบรรพบุรุษของคุณคือใคร เป็นอะไร มาจากไหน คุณถือกำเนิดมาได้อย่างไร ไฉนจึงได้เกิดมาเป็นตัวคุณ จากนั้นก็ลากความทรงจำเหล่านี้เข้าไปสู่วัยเด็ก

เขียนไปตามลำดับเวลาเรื่อยๆ อาจจะจนถึงคุณได้ตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาก็ได้

แต่ในระหว่างที่เขียน หากมีเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกัน คุณอาจจจะเขียนถึงไปก่อนโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงเวลาต่อมาก็ได้ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของคุณ แต่ก็อย่าเขียนเสียให้มันยุ่งเหยิง วกไปเวียนมา ก็แล้วกัน

เล่าเรื่องโดยเขียนไปตามหัวข้อที่สนใจ

เช่นเรื่อง การศึกษา เพื่อนสนิท ของเล่น คนสำคัญในชีวิต หรือ สัตว์เลี้ยง คุณก็เขียนตั้งแต่เริ่มต้นอาจจะเป็นสัตว์เลี้ยงตัวแรก ได้มายังไง เป็นตัวอะไร คุณชอบมันไหม มันทำอะไร คุณผูกพันธ์กันมันยัง ฯลฯ เล่าตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน

หรือจะเล่าแบบเป็นเหตุการณ์เดี่ยวๆ โดยจับเอาเหตุการณ์สำคัญๆ ในช่วงเวลาหนึ่งขึ้นมาเขียน เช่น 2ปีที่เป็นทหารเกณฑ์ ,ฉันลดความอ้วนอย่างไรในหนึ่งเดือน ,ชีวิตมืดใต้ยาเสพติด,เอาตัวรอดให้ได้ในมหาวิทยาลัย ฯลฯ การเขียนแบบนี้จะเป็นการเล่าถึงประสบการณ์ในช่วงเวลาหนึ่ง และอยู่ในธีมเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น

3. เลือก point of view ในการเขียน

จะเป็นแบบ บุคคลที่สาม หรือบุคคลที่หนึ่ง หรือจะผสมกัน แต่ที่เห็นโดยมากก็แบบที่หนึ่งนั่นแหละ แต่คุณจะแทนตัวว่าอะไรล่ะ?

ผม ข้าพเจ้า ฉัน ดิฉัน มดตะนอย( ชื่อคุณ) ฯลฯ เลือกเอาแบบที่คุณสนุกและคุ้นเคยกับมันที่สุด ในแบบที่เป็นตัวคุณเองเลย

แล้วเด็กสาวคนหนึ่งก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในโลกใบนี้ เธอเป็นเด็กตัวเล็กที่ ร้องไห้เสียงดังตลอดเวลา คุณแม่ผู้เป็นมือใหม่ในการเลี้ยงลูกถึงกับ ... ( เล่าในแบบบุคคลที่สาม)

ตอนเกิดที่ดิฉันเกิดตัวเล็กมาก แล้วก็ร้องไห้เก่ง เสียงดังตลอดเวลา จนคุณแม่ซึ่งยังเป็นมือใหม่อยู่ถึงกับ ... ( เล่าในแบบบุคคลที่หนึ่ง )

แล้วเด็กสาวคนหนึ่งก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในโลกใบนี้ เธอเป็นเด็กตัวเล็กที่ ร้องไห้เสียงดังตลอดเวลา

แหะ ... ก็ดิฉันเองนี่แหละค่ะ ตอนนั้นคุณแม่ผู้เป็นมือใหม่ในการเลี้ยงลูกถึงกับ ... (แบบผสม)

4. ลงมือเขียน

คำแนะนำในการเขียน

เริ่มแรก อย่าสนใจในเรื่องสไตล์การเขียนที่เป็นแบบแผนนัก สิ่งสำคัญคือเรื่องที่เล่า ไม่ใช่วิธีมันถูกเขียนขึ้นยังไง ปล่อยความรู้สึกของคุณให้เป็นอิสระ สนุกในสิ่งที่เขียนที่เล่า เขียนมันลงให้สุดๆ เอามันให้หมดไปจากใจจากหัว ให้ได้เสียก่อน ค่อยมาประคมประหงมกับสไตล์การเขียน เป็นต้นว่า ในย่อหน้าเดียวกัน หรือใกล้ๆ กัน อย่าใช้คำซ้ำซาก ยกเว้นคุณตั้งใจที่จะเน้นหรือให้เป็นอย่างนั้น ตรวจสอบตัวสะกด ตัดคำฟุ่มเฟือยซ้ำซาก ลำดับคำพูด ความคิด ฯลฯ

เขียนเหมือนกับที่คุณพูด ใช้ pov แบบบุคคลที่ 1 เขียนประโยคสั้นๆ และจบอย่างหักมุมนิดๆ ให้มีอารมณ์ขันหน่อยๆ

ทำให้ความทรงจำนั้นกลับมามีชีวิตใหม่ ก่อนที่จะเขียนมันลงไป ใช้เวลาสักนิดว่า มันคืออารมณ์ไหนไปในช่วงเวลานั้น เป็นความรู้สึก ตื่นเต้น กลัว สนุก เศร้า อะไรที่คุณจดจำได้ รูปร่าง รสชาติ สี เสียง กลิ่น มีใครอยู่บ้างในตอนนั้น เกิดอะไรขึ้น ทำไม คุณคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร?

จะเอาเรื่องของคุณเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อะไรสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้ไหม อ้างอิงไปสู่เรื่องภายนอกอะไรได้บ้าง จะแสดงความรู้สึกส่วนตัวในสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นได้อย่างไร (เป็นต้นว่า คุณนัดไปดูหนังกับแฟน แต่เจอเหตุการณ์เดินขบวน คุณเกิดในวันเดียวกับที่มีงานฉลองเทศกาลปีใหม่ คุณอกหักในวันเดียวกับที่ดาราคนโปรดประกาศแต่งงาน ฯลฯ ก็ว่าไป ^--^ )

ใส่สิ่งเหล่านี้ไปใน หนังสือแห่งความทรงจำของคุณด้วย

รูปภาพ แผนที่ หรือภาพวาด จดหมายจากคนสำคัญถึงคุณ ตัวอย่างลายเซ็น ใบประกาศ ภาพก็อบปี้จากหนังสือพิมพ์ การ์ตูน หรืออื่นๆ ที่จะเรียกความทรงจำให้เห็นชัด

 

การเขียนของคุณ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการบอกเล่าเท่านั้น จะมีซีนเล็กๆ แสดงให้เห็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วนั้นก็ย่อมได้ ดีเสียอีกค่ะ จะได้ฝึกเขียนหลายๆ แบบ

สนุกกับการเขียน เป็นเหตุผลสำคัญที่สุดในการเขียน ความสนุกและมีความสุขของคุณมันจะสะท้อนให้คนอ่านได้เห็น

หลังจากผ่านไปสักสองสามปี คุณจะพบว่าคุณมีวัตถุดิบเพียงพอสำหรับที่จะเขียนหนังสือได้เรื่อยๆ (หมายถึงเรื่อยๆ จริงๆ)

 

อ้อ ... เน้นว่า สิ่งที่คุณเขียนต้องเป็นเรื่องที่เกิดจริงนะคะ หากว่ามันเป็นความฝันของคุณ คุณก็ต้องเน้นด้วยนะคะว่า นี่ฝัน จ้ะฝัน ส่วนความคิดเห็น หรืออารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ของคุณต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นยังไงก็ได้ ขอให้เป็นความเห็นที่ออกจากใจคุณจริงๆ ก็แล้วกัน

5. ขัดเกลา แก้ไข ปรับปรุง เรื่องของคุณ ตามขั้นตอนการเขียน หนังสือทั่วๆ ไป

6.สำเร็จ จบ ...

 

อา ... แล้วในที่สุด คุณก็จะได้หนังสือของคุณเองขึ้นมาแล้ว

แล้วเอาไปไหนดีล่ะ?

หนังสือนี้คือสิ่งที่บอกตัวตนของคุณ คุณอยากให้ใครรู้บ้าง

1.พิมพ์เป็นรูปเล่ม จัดทำเป็นหนังสือทำมือ ง่ายๆ แต่สวยเทห์ ไม่เหมือนใคร

ส่งให้ใครๆ เป็นของขวัญ ในวัน ... ที่คุณอยากให้

2.จัดอยู่ในไฟล์ pdf. ส่งให้เพื่อนๆ ทางอีเมล

3.นำสู่สาธารณะ โดยการนำไปเขียนเป็น blog ในโลกอินเตอร์เน็ท

หรือส่ง สนพ.

คุณค่า ในหนังสือเล่มนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้คุณรู้จักตัวคุณเองมากขึ้นเท่านั้น

แต่คุณยังได้ฝึกฝนทักษะการเขียนอีกด้วย

และหากคุณเพิ่มทักษะในการ ค้นข้อมูล เรียนรู้ในการสัมภาษณ์ตั้งคำถาม

ไม่เพียงจะเป็นเรื่องของคุณเท่านั้นที่คุณเขียนได้

คุณอาจจะเขียนเรื่องของคนอื่นก็ได้

สิ่งหนึ่ง อาจจะนำไปสู่สิ่งหนึ่ง

และนี่ อาจจะเป็นก้าวแรก ของนักเขียนชีวประวัติชื่อดังในอนาคต

ลงมือเขียน แล้วคุณจะรู้ว่า คุณเขียนได้ เชื่อเถอะ !

 

 

 


๑ สิงหาคม ๒๕๔๙

คุณจะเขียนถึงเรื่องอะไรได้บ้าง

100 คำถามเรียกความทรงจำ

 

 

 

การเขียนนวนิยายต่าง ๆ
Idea bank
ฝึกเขียนเรื่อง
 
 

 

http://www.forwriter.com . © 2005 All rights reserved.