การเขียนนวนิยายสืบสวนแนว Cozy
Mystery fiction
Mystery fiction เป็นนวนิยายลึกลับ ที่เน้นไปทางการสืบสวนสอบสวนปมปริศนาที่ถูกสร้างขึ้น
ประเภท
การแบ่งประเภท อีกครั้งที่ไม่มีข้อกำหนดตายตัว แล้วแต่ความเห็นของแต่ละคน แต่สามารถแบ่งประเภทอย่างคร่าว ๆตามวิวัฒนาการของเรื่องตามช่วงเวลา ได้ ดังนี้
Gothic stories ( เริ่ม ต้นปี ค.ศ.1700) เป็นเรื่องลึกลับน่ากลัว และหนือธรรมชาติ มักจะเกิดเรื่องที่ปราสาทเก่าแก่ ที่มีความลึกลับซ่อนอยู่ในห้องใต้ดิน จะมีเสียงกรีดร้องโหยหวน มีความมืดสลัวเพื่อให้ฉากมีความน่ากลัวขึ้น มีการขู่เข็ญเหยื่อที่โดยมากจะเป็นหญิงสาวบริสุทธิ์
Crime stories ( เริ่มในช่วงต้นและเด่นชัดกลาง ปี ค.ศ. 1700 ) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอาชญากรที่ ถูกคุมขังอยู่ในคุกนิวเกตที่ประเทศอังกฤษซึ่ง เป็นเรื่องความอื้อฉาวของการก่ออาชญากรรมที่ลือกระฉ่อนในหน้าหนังสือพิมพ์
Spy stories ( เริ่มเมื่อสิ้นสุด ปี ค.ศ. 1800 ) ปรากฏให้เห็นมากหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองในยุคสงครามเย็น แบ่งเป็นสองอย่างคือ เรื่องของสายลับจริง ๆ ที่แสดงให้เห็นความยากลำบากและอันตรายจากการจารกรรม ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของเรื่องที่เกอดขึ้นจริง ส่วนอีกประเภทหนึ่งเป็นเรื่องการผจญภัยของสายลับ ที่มีพื้นฐานอยู่กับเรื่องการผจญภัย ที่พระเอกจะต้องเอาชนะอุปสรรคที่มีมาเป็นชุด ๆ ได้หมด ที่โด่งดังก็คือเรื่อง เจมส์ บอนด์ ของ เอียนเฟลมมิ่ง
Detective stories ( เป็นที่นิยมใน ปี ค.ศ. 1900 ) เป็นเรื่องราวของนักสืบ และการสืบสวน เป็นที่นิยมมาก สิ่งที่แตกต่างไปจากประเภทอื่น คือ วิธีการเล่าเรื่อง นวนิยายนักสืบจะเริ่มเรื่องเมื่อได้เกิดเหตุการณ์ที่สำคัญขึ้น ( โดยมากแต่ไม่เสมอไปจะเป็นการก่ออาชญากรรม ) จากนั้นก็จะเปิดเผยหลักฐานของคนร้ายออกมาก่อนที่คนอ่านจะรู้ถึงรายละเอียดในตอนเริ่มต้น จากนั้นจะเพิ่มการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆไปตามตามปกติของการเล่าเรื่อง และมักจะสร้างความประหลาดใจให้กับคนอ่านในการเปิดเผยความจริงออกมาในตอนจบ ( เป็นนวนิยายประเภทเดียวที่คนอ่านจะหัวเราะเมื่อรู้สึกว่าตัวเองโง่ )
สิ่งที่ต้องมีในนวนิยายสืบสวนสอบสวนแนวฆาตกรรม
The puzzle เรื่องราวอันเป็นปมปริศนา ที่มักจะก่อให้เกิดคำถามสำคัญที่ขับเคลื่อนพล็อต ในทุก ๆ เรื่องของนวนิยายสืบสวนสอบสวน รวมทั้งเรื่องสั้นแนวนี้ด้วย มัจะมีคำถามว่า ใครทำ ใครก่ออาชญากรรมครั้งนี้ขึ้น คำถามนี้จะถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ตอนต้น ทั้งนักสืบและคนอ่านยังไม่รู้คำตอบ
Detection วิธีการสืบสวนสอบสวนในเรื่องการก่ออาชญากรรม (อันเป็นศูนย์กลางของเรื่อง )เมื่อปมปริศนาได้ถูกเปิดเผยและแก้ไขได้แล้ว เรื่องก็จบ
The sleuth นักสืบเป็นตัวละครเอกในเรื่องที่จะต้องเข้าไปไขปัญหาด้วยด้วยความฉลาด ความพยายายาม ความกล้าหาญ ความแข็งแกร่ง ความเชื่อมั่นในคุณธรรม หรือทุกอย่างรวมกัน
The worthy villain ตัวร้าย โดยทั่วไปก็คือฆาตกร เป็นตัวทดสอบขีดจำกัดความสามารถของนักสืบ เป็นตัวละครที่มีความฉลาด เจ้าความคิด และทำทุกอย่างเพื่อที่จะเอาตัวรอดจากความผิด เขาเป็นตัวสร้างปริศนาที่ท้าทายทั้งนักสืบและคนอ่าน
Fair play หลักฐานทุกชิ้นที่ถูกค้นพบในรูปของสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นร่องรอย เงื่อนงำ ที่ถูกค้นพบโดยนักสืบ ต้องเป็นสิ่งที่ คนอ่านจะต้องหาได้ในหนังสือและรู้เท่าเทียมกัน
Realism and Logic ทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ในเรื่องต้องเหมาะสม มีเหตุผล และ เหมือนจริง
ตัวละครในนวนิยายสืบสวนสอบสวน
ฆาตกร
- ต้องสร้างภูมิหลังให้กับเขาด้วย
- แรงจูงใจ ทำไมจึงก่ออาชญากรรม ทำแล้วได้อะไร
- จะให้ก่ออาชญากรรมคนเดียว หรือเป็นกลุ่ม มีผู้สมรู้ร่วมคิดไหม ? คิดเอาไว้เลย
- เขาเป็นฆาตรกรโรคจิต หรือพวกฆาตกรต่อเนื่อง หรือเปล่า
- หากถูกตัดสินว่ามีความผิด เขาหรือเธอไม่ควรจะได้รับความเห็นอกเห็นใจจากคนอ่าน
- เขาต้องฉลาด และเจ้าความคิด เพื่อให้การสืบสวนของนักสืบเต็มไปด้วยความยากลำบากและมีความเข้มข้น ชิงไหวชิงพริบกัน
- ต้องฉลาดในการกลบเกลื่อนร่องรอย เพื่อที่จะปิดบังตัวตนที่แท้จริงจากคนอ่านจนถึงบทสุดท้าย
- เขาต้องปรากฏตัวให้เห็นในแบบที่เขาไม่ได้เป็น และไม่ให้เห็นในสิ่งที่เขาเป็น การชี้ตัวหรือเปิดเผยฆาตกรที่แท้จริงจะสร้างความประหลาดใจให้กับคนอ่าน
นักสืบ
- เลือกเอาว่า จะให้เขาเป็นนักสืบเอกชน นักสืบสมัครเล่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
- สร้างภูมิหลัง ชีวิตส่วนตัวของเขา ซึ่งอาจจะใช้เป็นพล็อตย่อยได้
- เขาต้องมีแรงจูงใจในการทำการคลี่คลายปัญหาเช่นเดียวกัน
- คุณสมบัติทั่วไปต้อง ฉลาด มีไหวพริบ ละเอียดถี่ถ้วน ฯลฯ ตามที่คุณต้องการ ( ดูตัวอย่างจากนวนิยายสืบสวนทั่วไปได้ )
- ภูมิหลังของเขาหากเคยทำหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่ง ควรจะมีเพื่อนหรือคนรู้จักที่เขาสามารถขอความช่วยเหลือในด้านข้อมูล หรือความชำนาญพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งได้เป็นอย่างดี
- เอาใจใส่ในการสร้างนักสืบ ให้เขามีลักษณะเด่นและด้อย วิธีการที่เขาคลี่คลายปัญหาแสดงถึงไหวพริบอันชาญฉลาด หากเขาเป็นที่พอใจของคนอ่าน ก็จะทำให้คุณมีหนังสือเล่มต่อมาในการคลี่คลายคดีของเขาอีก
เหยื่อหรือผู้เคราะห์ร้าย
- ต้องคัดเลือกด้วยความเอาใจใส่ ตัดสินว่าจะให้เป็น หญิงหรือชาย หนุ่มหรือแก่
- ควรจะเป็นคนที่มีชื่อเสียง หรือมีความสำคัญ หรือเป็นหญิงสาวที่มีความสวยน่ารัก ที่สามารถสร้างความเห็นอกเห็นใจ และสร้างความสนใจต่อตัวละครอื่นในเรื่อง
- อาจจะสร้างให้เหยื่อเป็นคนดี สุภาพบุรุษ หรือคนแก่ใจบุญ ที่ถูกฆ่าอย่างทารุณ แต่ต่อมากลับพบว่าแท้ที่จริงเขาหรือเธอเป็นคนเลวสุดๆ และถูกฆ่าเพื่อความถูกต้อง หรือเพราะขุ่นเคืองจากเมตตาธรรมจอมปลอม
ผู้ต้องสงสัย
- จะมีมากหรือน้อยแล้วแต่ความยาวของเรื่อง
- ผู้ต้องสงสัยจะเป็นตัวละครที่สร้างความก้าวหน้าให้กับเรื่อง และคนอ่านมักจะมั่นใจว่าใช่ แต่แล้วก็ไม่ใช่ ตัวละครอื่นจะถูกนำเข้ามาให้สืบสวนต่อไป การสร้างเรื่องอาจจะวางผู้ต้องสงสัยเป็นลำดับ A,B,C,D ฆาตกรที่แท้จริงอาจจะเป็น D แต่หาก D สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ว่าไม่ใช่เขา แต่คือ C เป็นต้น
- อาจจะมีตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เข้าใจผิดว่าเขาคือฆาตกร โดยเฉพาะ( แท้จริงแล้วไม่ใช่)
- การสร้างผู้ต้องสงสัยจะสนุกหรือน่าสนใจก็อยู่ที่พล็อตเรื่อง คนอ่านอาจจะไม่กล้าหายใจเมื่อคิดว่าฆาตกรคือสาวสวยแต่หัวแข็ง หรือสร้างความสงสัยว่าฆาตกรจะคือหนุ่มรูปหล่อที่เหมาะจะเป็นพระเอกมากกว่า หรือ จะเป็นหลานชายที่อาศัยอยู่ด้วย หรือจะเป็นคนรับใช้เก่าแก่ ฯลฯ
- หากสร้างมูลเหตุจูงใจ ที่เป็นไปได้ว่าผู้ต้องสงสัยอาจจะเป็นฆาตกรที่แท้จริงได้ทุกคน จะทำให้เรื่องรักษาความน่าสงสัย และชวนติดตามอยู่ได้ตลอดทั้งเรื่อง
- ตัวละครนี้ต้องมีความสำคัญ และมีบุคลิกที่สร้างความเร้าใจสะดุดตาเป็นพิเศษ และมีความสำเร็จในการที่จะปกป้องตัวเองจนถึงตอนจบของเรื่อง
พยาน
- พยานผู้เห็นเหตุการณ์ อาจจะเปิดเผยตัวเอง อย่างเต็มใจ หรือไม่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการสืบสวนก็ได้
- เพราะอะไรเขาจึงเต็มใจ หรือไม่เต็มใจ ในการเป็นพยาน
- พยานที่เป็นตัวละครไม่สำคัญมากนัก มักจะถูกฆ่าปิดปากได้ง่าย ๆ
- พยานที่สำคัญ อาจจะถูกปกป้อง คุ้มครองจากตัวนักสืบเอง ( หากเป็นหญิงสาวสวยจะมีเรื่องโรแมนติคเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ได้ )
ผู้ช่วยนักสืบ
- อาจจะเป็นหัวหน้าหน่วย หรือ นักข่าว หรือทนายความ ที่อยากเป็นนักสืบ การช่วยเหลือนักสืบเป็นสิ่งที่เขาภาคภูมิใจ
- เขาอาจจะทำผิดและเป็นที่เย้ยหยัน แต่ความผิดพลาดของเขาจะทำให้คนอื่นพบทางที่ถูก
- เขาอาจจะเป็นคนที่ฉลาดแต่เงียบขรึม มีแง่คิดที่จะแยกแยะประเด็นให้นักสืบได้เห็นชัดขึ้น ในเวลาที่นักสืบเข้าตาจน แต่บางครั้งเขาก็ทำมันอ้อม ๆ เพื่อคอยดูความจนแต้มของนักสืบ
ตัวละครอื่น ๆ ที่ทำให้เรื่องสมจริงยิ่งขึ้น
เช่น ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา นักข่าว คนรับใช้ คนขายของ ฯลฯ
สถานที่ และเวลา
- สามารถใช้ทุกที่เป็นสถานที่เกิดเหตุได้ ( สถานที่เหยื่อชอบไป หรือใช้เป็นที่นั่งเล่น ทำงานอดิเรกจะน่าสนใจกว่า สถานที่ทั่ว ๆ ไป )
- ควรใช้สถานที่คนอ่านรู้จัก หรืออยากไป หรือเคยขับรถผ่าน
- สถานที่นักเขียนรู้จักดี จะทำให้เกิดความเชื่อถือได้มากกว่าสถานที่ที่ไม่รู้จัก
- สถานที่กว้างใหญ่ จะมีความแตกต่าง และใช้ในการสร้างความสงสัย ได้ยาว มีผลต่อการสืบสวนแตกต่างจากสถานที่เล็ก หรืออยู่ในวงจำกัด ( เช่นบนเรือสำราญ หรือบ้านพักที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยว ) ศูนย์กลางของเรื่องจะมุ่งความสนใจไปที่ตัวละครมากกว่า
- ตระเตรียมจุดที่ พบศพ และจุดที่ค้นพบร่องรอย จะให้ดีควรจะวาดแผนที่ประกอบเอาไว้
- ควรใช้สถานที่เสริมการสร้างบรรยากาศในเรื่อง
- ผลกระทบของภาวะดินฟ้าอากาศ ฤดูกาล ( ฝนตกร่องรอยหาย หรือฝนตกเหยื่อออกไปข้างนอกทำไม )
- วันเวลาที่เกิดเหตุ
พล็อตเรื่อง
โดยมากจะเป็นสูตรสำเร็จดังนี้ ( นักเขียนที่ฉลาดก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามความคิดของตัวเอง แต่ที่เป็นอยู่ก็ใช้ได้แล้ว )
๑.กล่าวถึงอาชญากรรมหรือความลึกลับที่เกิดขึ้น ให้รายละเอียดของเหยื่อ รวมทั้งแนะนำตัวนักสืบ
๒. ชี้นำการสืบสวนตรงไปยังข้อสรุปที่ในตอนท้ายพบว่า ผิดพลาด
๓.เปลี่ยนจุดศูนย์กลางและขอบเขตในการสืบสวน นี่เป็นประเด็นสำคัญในเรื่องที่กลายเป็นว่านักสืบ อยู่ในทางที่ผิด และมีบางสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่นมีศพที่สองเกิดขึ้น หรือการตายของผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่ง หรือการค้นพบที่สำคัญยิ่งที่ทำให้ข้อสงสัยชัดเจนยิ่งขึ้น เรื่องได้ไปสู่แนวทางสืบสวนใหม่
๔. ปัญหาถูกแก้ไขได้สำเร็จ
พล็อตง่าย ๆ เอาไว้ฝึกเขียน
- วางปัญหาลงไป การก่ออาชญากรรมควรจะเกิดกับบุคคลมากกว่าทรัพย์สิน เช่นการฆาตกรรม
- สร้างข้อมูลเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา เช่นพวกร่องรอย เงื่อนงำ ผู้ต้องสงสัย พยาน
- วิธีการค้นพบหลักฐาน ที่นำไปสู่ตอนจบ
- การพิสูจน์หลักฐาน อันเป็นไคลแมกซ์ของเรื่อง และไขข้อข้องใจต่าง ๆ ทั้งหมดในเรื่องที่วางปมเอาไว้
ความแตกต่าง ๔อย่างที่สร้างเรื่องได้เป็นร้อย
- ความแตกต่างในวิธีการที่คนร้ายใช้กับเหยื่อ
- ความแตกต่างของสิ่งของที่คนร้ายค้นหา
- ความแตกต่างของสถานที่เกิดเรื่อง
- ความแตกต่างของห้วงอันตรายที่นักสืบจะต้องได้รับ
( จาก Lester dent's Master Plot )
เรื่องนักสืบตามแนวนิยม
The straight Mystery ตัวละครขับเคลื่อนเรื่องที่พฤติกรรมเกิดขึ้นมีศูนย์กลางที่การเกิดอาชญากรรม โดยมากจะเป็นการฆาตกร
The puzzle Mystery เป็นเรื่องเกี่ยวกับนักสืบและปัญหาที่เขาต้องคลี่คลาย ด้วยความฉลาดและมีไหวพริบ( ตัวอย่าวนวนิยายของ อกาธา คริสติ้ )
The hard-boiled Mystery เป็นเรื่องราวการผจญภัย เสี่ยงภัย อาจจะเกี่ยวกับปริศนาลึกลับ หรือเรื่องนักสืบ แต่มักจะมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่การกระทำอันห้าวหาญของตัวละครเอก ซึ่งโดยมากก็จะเป็นนักสืบเอกชน ที่เป็นเสมือนซุบเปอร์ฮีโร่ และออกจะไปในแนวบู๊ด้วย
The novel of Pursuit เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจารกรรม หรือพฤติกรรมอื่น ๆ ที่จะทำให้คนอ่านสนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป การค้นหาว่าตัวละครเอกจะหนีพ้นจากสถานการณ์นี้อย่างไรเป็นเสน่ห์ของเรือง บทบู๊ และ ความน่าหวาดเสียวและบ่อยครั้งจะมีการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในการไล่ล่า กับดัก และการถูกจับได้ จะมีความสำคัญมากกว่าแรงจูงใจภายใน ของตัวละคร เรื่องจะเป็นลักษณะของการใช้พล็อตขับเคลื่อนมากกว่าใช้ตัวละครขับเคลื่อน ตัวอย่างเรื่องก็เช่น
-จะเป็นนวนิยายพวกสายลับ
-เรื่องเกี่ยวกับตัวละครเอกจะหนีให้พ้นจากการบีบบังคับของความชั่วร้าย ของระบอบการปกครองที่ชั่วร้าย
-เกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติ เช่นมนตร์ดำ ผี หรือแม่มดวูดู
-บางทีก็จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวาระสุดท้ายของโลก เช่นการหยุดยั้ง ระเบิดนิวเคลียร์ สงครามเคมี หรือการ
เปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ( เรื่องเจมส์บอนด์ จะออกแนวนี้)
The Whodunit เป็นนวนิยายนักสืบ ที่มีตัวละครเป็นตัวเดินเรื่องในการแก้ปัญหาอาชญากรรมที่ผลออกมามักจะสร้างความประหลาดใจให้กับคนอ่าน อันเกิดจากบุคลิกภาพ บทบาท และคุณสมบัติ ของนักสืบที่มีลักษณะเด่นเฉพาะตัว ในการเปิดเผยถึงวิธีการสืบสวนค้นหาความจริง แตกต่างไปจากวิธีทั่ว ๆ ไป เรื่องแนวนี้มีการเขียนออกไปมากมายหลายชนิด เช่น
-คนอ่านจะถูกแสดงให้เห็นถึงความลับในการก่ออาชญากรรมที่ละขั้น ๆ
-การก่ออาชญากรรมในแบบที่ให้เหยื่ออยู่ในความสบายไม่มีความเจ็บปวดหรือโหดร้ายแสดงให้เห็น (ถูกฆ่าในขณะนอนหลับ หรือจิบน้ำชา โดยมากมักจะมีแมวน่ารักประกอบในเรื่องด้วย)
-เรื่องเกี่ยวกับ สตรีที่ตกอยู่ในอันตราย อันเป็นเรื่องโรแมนติค เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพระเอก ( นักสืบ หรือ บอดีการ์ด )กับสตรีที่เขารักเป็นศูนย์กลางของเรื่อง
-เรื่องลึกลับที่เกิดในสังคมย้อนยุค
-เรื่องที่พระเอกต้องต่อสู้กับการเมือง ความหายนะของเทคโนโลยี หรือกลียุคของสังคม
-เรื่องตำรวจนักสืบที่ต้องไขปัญหาอาชญากรรมโดยใช้เทคนิคและขบวนการทางกฏหมาย
-เรื่องการสืบสวนอาชญากรรมโดยที่ผู้ก่ออาจจะเป็นองค์การที่ถูกกฏหมาย หรือเป็นสำงานประกันภัย หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เอง หรือคนในวงการนักสืบเอง
-เรื่องเกี่ยวกับฆาตกรโรคจิต หรือการลักพาตัว
-เรื่องเกี่ยวกับฆาตกรที่รู้ตัว และต้องค้นหานำเขากลับมารับโทษ
-เรื่องเกี่ยวกับการทุจริต คอร์รับชั่นในองค์การ หรือสถาบันต่าง ๆ หรืออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
สิ่งที่ควรรู้และเตรียมไว้ในการเขียน นวนิยายสืบสวนสอบสวน
เกี่ยวกับการก่ออาชญากรรม
๑.ลักษณะการก่ออาชญากรรม
- การฆาตกรรม
- การปล้น
- การลักพาตัว
- ฯลฯ
๒.วิธีการฆาตกรรม และเครื่องมือ
- การยิงด้วยปืน
- การแทง ด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น มีด เหล็กแหลม ดาบ
- การใช้ยาพิษ กลิ่น รส ลักษณะ จำนวนที่ใช้ วิธีใช้
- ระเบิด
- เทคโนโลยีใหม่ ๆ
- ลักษณะพิเศษอื่น ๆ เช่น ฆ่ารัดคอด้วยริบบิ้น วางดอกกุหลาบไว้ที่ศพ การตัดสายเบรครถ เลือกฆ่าเฉพาะผู้หญิงหรือผู้ชายเท่านั้น สถานที่ฆาตกรรมเป็นในโรงเรียน ห้องน้ำ เสมอ
- ฯลฯ
๓. แรงจูงใจในการก่ออาชญากรรม
- การรู้ภูมิหลังของฆาตกร จะช่วยในเรื่องของแรงจูงใจมาก
- โดยมากก็จะมาจาก เรื่อง เงิน ความรัก และการแก้แค้น
ซึ่งเชื่อมโยงมาจาก การถูกทารุณกรรม ความเกลียด ความโกรธ ความอิจฉา ความละโมบ ความปลอดภัย ความทะเยอทะยานอัน เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่มีของมนุษย์
- อย่างไรก็ตามแรงจูงใจ ควรจะเป็นสาเหตุในเรื่องปัจจุบัน มันน่ารำคาญที่มันจะเกิดจากความผิดพลาดและแรงแค้นเมื่อ ๓๐ ปีก่อน
วิธีการสืบสวนสอบสวน
๑. การตั้งสมมุติฐานในการเสียชีวิต
- เป็นอุบัติเหตุ
- เป็นการฆ่าตัวตาย
- เป็นการถูกฆาตกรรม
- ควรจะเขียนเหตุผลกำกับไว้ด้วยว่า ใช่ หรือไม่ เพราะเหตุใด
๒. รวบรวมร่องรอยหรือเงื่อนงำในที่เกิดเหตุ
ประเภทของร่องรอย
- ร่องรอยที่ทิ้งไว้ มีเบาะแสสืบค้นได้ เช่น หมาไม่เหาะเมื่อบ้านถูกบุกรุก แสดงว่าฆาตกรต้องเป็นคนคุ้นเคย
- ร่องรอยที่หาไม่พบ หรือไม่มีเบาะแสควรจะเป็นร่องรอยเกี่ยวกับการฆาตกรรมได้ เช่นเหยื่อถูกแทงด้วยมีดน้ำแข็ง ไม่ปรากฏอาวุธใดให้เห็น มีเพียงน้ำที่เจิ่งอยู่ปลักหนึ่ง
- ร่องรอยที่เห็นได้ชัด เช่นจดหมายขู่
ลักษณะของร่องรอย หรือเงื่อนงำ
- อะไรที่นักสืบจะต้องค้นหา และร่องรอยบ่งบอกถึงอะไร
- รอยนิ้วมือ ตำหนิ และแผลเป็นต่าง ๆ
- อาวุธ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ
- กองเลือด วิถีกระสุน ร่องรอยจากบาดแผล
- ความไร้ระเบียบ หรือรกรุงรังของสถานที่เกิดเหตุ
- จดหมายขู่ ร่องรอยการฉีกขาดของกระดาษสื่อสารข้อความ สมุดบันทึกที่หายไป ตู้เซฟที่เปิดอยู่ หรืออะไรต่าง ๆ ที่เป็นของเหยื่อ
- ร่องรอยซ้ำซาก เช่น นาฬิกาที่หยุดเดิน เมื่อการฆาตกรรมได้เกิดขึ้น
- การปลอมตัวหรือเลียนแบบบุคคลอื่น
- คำพูด หรือกิริยาท่าทาง ของผู้ต้องสงสัย หรือพยาน
การจัดการกับร่องรอย
- นักเขียนควรจะจดเตรียมเอาไว้ ทั้งร่องรอย หลักฐาน ผู้ถูกสงสัย เงื่อนไข การปลุกความสงสัย อยากรู้อยากเห็น และความหมายของร่องรอยต่าง ๆ รวมถึงผลที่ตามมา หากว่าร่องรอยนั้นนำไปผิดทาง ก็ไม่เป็นไรถ้ามันมีเหตุมีผลอันสมควร และเป็นส่วนหนึ่งของพล็อตเรื่อง
- นักเขียนควรจะมีแผนภาพประกอบสถานที่เกิดเหตุฆาตกรรมไว้ด้วย ( โดยเฉพาะนักเขียนใหม่ )
ทำรายการผู้ต้องสงสัย
- เริ่มด้วยผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นฆาตกรได้ เช่น คู่แข่ง ศัตรู คนที่แสดงความไม่พอใจเหยื่อ
- รายชื่อผู้ต้องสงสัยที่เคยเป็นนักโทษหรือทำผิดในกรณีเช่นเดียวกันนี้ ( พวกมือปืน )
- คนแปลกหน้า หรือผู้ที่เพิ่งมาอยู่ใหม่ หรือเพิ่งมาแวะเยี่ยมเยียน ฯลฯ
- ในรายการควรจะบอกถึง แรงจูงใจ และโอกาสในความเป็นไปได้ว่าผู้ต้องสงสัยเป็นผู้กระทำหากเขาไม่ใช่ ก็ให้เหตุผลไว้ด้วยเพราะอะไร ( เช่นเขามีพยานบุคคล หรือเวลาที่เกิดเหตุเขาอยู่ที่อื่น )
- การมีรายการผู้ต้องสงสัย เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อนักเขียน ในการปรับเปลี่ยน และคัดเลือกตัดทิ้ง
- ผู้ต้องสงสัยจากคนร้ายที่แท้จริง จะเพิ่มความอยากรู้อยากเห็นให้กับคนอ่านที่เดาเอาไว้จนจบ
ข้อแนะนำ คุณควรหากระดาษมา แบ่งออกเป็นตารางสามช่อง ช่องแรกเขียนชื่อผู้ต้องสงสัย ช่องที่สองแรงจูงใจหรือแนวโน้มที่เป็นไปได้ ช่องที่สามข้อแก้ต่างของผู้ต้องสงสัยที่บริสุทธิ์ ควรจะเรียงลำดับผู้ต้องสงสัยสูงสุดลงมาตามลำดับ
เตรียมสาเหตุการสืบสวนที่หลงทางได้ง่าย
- จากร่องรอยที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ( คืออะไร ให้เตรียมไว้อย่างมีเหตุผล เป็นความจงใจของฆาตกรหรือเปล่า หรือเข้าใจผิดไปเอง )
- หลักฐานที่ถูกทำลายไปแล้ว ( เช่นเผา ทิ้งแม่น้ำ ) ทำให้ไม่มีเงื่อนงำ
- การตั้งข้อสมมุติฐานผิด (ตายเพราะถูกฆ่าชิงทรัพย์ แต่ความจริงไม่ใช่ )
- ความผิดพลาดในข้อเท็จจริง หรือการวินิจฉัยที่ผิด ( วินิจฉัยว่าเขาถูกฆาตกรรมโดยการรัดคอ แต่ความจริงถูกเข็มยาพิษก่อน แล้วเชือกรัดอำพราง )
- ฆาตกรรมที่เกิดในห้องที่ปิดกุญแจ หรือปิดกั้นจากด้านใน ไม่มีทางเข้าออกอีก มักจะสรุปว่า ฆ่าตัวตาย
- ฯลฯ
เตรียมการคลี่คลายคดีหรือข้อสงสัย ปมปัญหาแต่ละอย่าง
การคลายปมปริศนาแต่ละเรื่องต้องมีเหตุและผล สามารถอธิบายให้คนอ่านเข้าใจได้
- วิธีที่ใช้ในการแก้ปัญหาจะใช้วิธีตามแนวนวนิยายนักสืบดั้งเดิม ที่มักจะเชิญผู้ต้องสงสัยมารวมกลุ่มกัน ฟังการคลี่คลายคดี โดยย้อนรอยการฆาตกรรม ตัดบุคคลหรือข้อสงสัยที่ไม่ถูกต้องทิ้งไป มีแนวโน้มจะใช้หลักจิตวิทยากระตุ้นให้คนร้ายเผยพิรุธออกมา และเผลอสารภาพเองโดยไม่รู้ตัว
- ใช้วิธีตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ หรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์หลักฐาน บ่งบอกถึงคนร้ายอย่างดิ้นไม่หลุด
๑๒ ยอดนักสืบที่ควรรู้จัก
๑. ลอร์ดปีเตอร์ วิมเซย์ โดย โดโรธี แอล เซเยอร์ ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่อง Whose Body ( 1923 ) และอีกครั้งในเรื่อง Strange Poison ( 1930 ) และในเรื่อง The nine Tailors (1934) เป็นคนผอม ดูดี กล้าได้กล้าเสีย และใส่แว่นตาข้างเดียว วิมเซย์เป็นนักสืบที่สมบรูณ์แบบ เป็นผู้ดี และเก่งมาก เขาเป็นนักสืบคนเดียวในบรรดานักสืบทั้งปวง ที่พบกับเวลาแต่งงาน
๒. ฟิลลิป มาร์โลว์ โดย เรย์มอนด์ แชนเดลอร์ เป็นนักสืบแนวบู๊ ปรากฎตัวครั้งแรกในเรื่อง The big Sleep ( 1939 ) เรย์มอนด์ ได้พยายามสร้าง มาร์โลว์ ขึ้นมาด้วยการพูดถึงว่า เป็นผู้ชายที่สมบรูณ์แบบและดูธรรมดา แต่เหนืออื่นใด เขาเป็นผู้ชายที่มีเกียรติ
๓. แซม สเปรด โดย แดสฮิลล์ แฮมเลตท์ การผจญภัยที่มีชื่อเสียงของ สเปรด อยู่ในนวนิยายนักสืบแนวบู๊ ซึ่งจัดว่าเป็นเป็นนวนิยายนักสืบคลาสสิคเล่มหนึ่ง ชื่อ The Maltese Falcon ( 1928 ) ในสภาพแวดล้อมที่มีผสมทั้งความรุนแรง และคนร้ายที่ทรยศหักหลังที่เกิดขึ้นในสังคม แซม สเปรด จะต้องนำตัวเข้าไปแทรกเสมอ
๔.เปอร์วี เมสัน โดย เอิร์ล สแตนเลย์ การ์ดเนอร์ เป็นนักสืบที่ให้คำปรึกษาด้านการป้องกันตัวเอง ที่ได้รับความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ ถูกแนะนำตัวเมื่อปี 1932 จากเรื่อง The Case of the Velvet claws เรื่องของเมสันมีความน่าสนใจจากการเอาใจใส่ในรายละเอียดประเด็นของกฏหมาย การใช้นิติวิทยาศาสตร์ เวชศาสตร์ และอาชญากรรมวิทยา เข้ามาอยู่ในเรื่อง
๕. เนโร วูฟล์ โดย เรกซ์ สเตราท์ ปรากฏครั้งแรกในเรื่อง Fer de-Lance (1934 ) เนโร เป็นอัจฉริยะที่อยู่ในรูปร่างผิดธรรมดา เขาไม่ใช่คนที่เข้าใจในตัวเองมากนัก แต่เขาก็เป็นคนที่มีเสน่ห์ ผู้ช่วยของเขาคือ อาร์ชี่ กูดวิน
๖. ซี ออกุส ดูแป็ง โดย เอ้ดการ์ แอแลน โป ปรากฏในหนังสือเรื่อง The Murder of the Rue Margue ถือว่าเขาเป็นนักสืบคนแรกในโลกนวนิยายนักสืบ ดูแป็งเป็นคนยากจนแต่มีเชื้อสายขุนนาง มีความรู้ สูบบุหรี่จัด เขาแก้ปัญหาอาชญากรรม ด้วยวิธีที่น่าทึ่ง คือ ใช้เพียงการวิเคราะห์หาเหตุผล
๗. เอลเลอรี่ ควีน โดย เอลเลอรี่ ควีน ( นามแฝงของ มันเฟร็ด ลี วาย และ เฟรเดอริค แดนเน่ย์ ) ปารกฏตัวครั้งแรกในเรื่อง The Roman Hat Mystery ( 1929 ) เรื่องราวของเขาสร้างความบันเทิงให้กับคนอ่านด้วยวิธีการสืบสวนแบบคาดคะเนตามหลักเหตุผล และเต็มไปด้วยบทสนทนาที่มีสี สรรและความสนุกสนาน
๘.เอล พาเดอร์ บราวน์ โดย กิลเบริต์ เคียต เชสเตอตัน ปรากฏในชุดเรื่องสั้นนักสืบชื่อ The Innocence of Father Brown ( 1911 ) เป็นนักสืบที่ต่างไปจากคนอื่น เขาใช้ประสาทสัมผัสที่หก ช่วยในการสืบสวน
๙. ชาร์ลี ชาน โดย เอริ์ล เดอร์ บิกเกอร์ ชานเป็นนักสืบลูกครึ่งระหว่า จีนและฮาวายอเมริกัน ออกโรงครั้งแรกในเรื่อง
The House without Key ( 1925 )
๑๐. เอล ไมเกรต โดย จอร์จ ไชน์นอน ไมเกรต เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่มีมนุษยสัมพันธ์ และดูเหมือนนักปรัชญามากกว่าการเป็นตัวแทนผู้รักษากฎหมาย เขาปรากฏตัวในหนังสือชุดนักสืบ Inspector Maigret (1931 )
๑๑. แอร์คูล์ ปัวโรต์ โดย อกาธา คริสตี้ เป็นนักสืบชายเบลเยี่ยม ที่มีรูปร่างเหมือนไข่ ปราฏกตัวครั้งแรกในเรื่อง The Mysterious Affair at Styles ( 1920 ) เป็นนักสืบที่ นักอ่านนวนิยายสืบสวนต้องรู้จัก ไม่แพ้ เชอร์ลอคโฮล์มล์
๑๒. เชอร์ลอค โฮล์มล์ โดย เซอร์ ดาเธอร์ โคแนน ดอยล์ ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่อง A Study in Scarlet (1887 ) เป็นนักสืบที่โด่งดังและเป็นอมตะจนถึงทุกวันนี้
TOP
โดย ฟีลิปดา
เขียนนวนิยายสืบสวนแนว Cozy