forwriter.com
การเขียนนวนิยายวิืทยาศาสตร์ี ( Science Fiction )

 

Science fiction : นวนิยายวิทยาศาสตร์

เป็นเรื่องการผจญภัยไปในอนาคต หรือดาวเคราะห์อื่น หรือต่างมิติ หรืออยู่ภายใต้กฎที่ไม่เหมือนกันของวิทยาศาสตร์

นวนิยายอื่นจะให้จินตนาการที่เป็นจริงจากเหตุการณ์ที่เป็นไปได้ในกรอบของประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาหรือเหตุการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบัน แต่นวนิยายวิทยาศาสตร์จะให้ความจริงที่เป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยการประเมินจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน หรือแนวโน้มของสังคมวัฒนธรรมที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และทุกอย่างก็จะยึดติดอยู่กับกฎธรรมดาของ เหตุ และ ผล

ประเภทของนวนิยายวิทยาศาสตร์

ประเภทที่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างเข้มข้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริงและแน่นอน โดยมากจะเป็นการเรื่องเกี่ยวกับการค้นคว้า ของนักวิทยาศาสตร์ เพื่อเตรียมการณ์ไว้สำหรับวิทยาศาสตร์ในอนาคต โดยยึดมั่นอยู่บนพื้นฐานของความรู้ในปัจจุบัน ศูนย์กลางของเรื่องจะอยู่ที่ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

 

ประเภทที่เป็นวิทยาศาสตร์อ่อน ๆ ศูนย์กลางของเรื่องจะเน้นในเรื่องของปรัชญา จิตวิทยา สังคม ในขณะที่จะลดทอนรายละเอียดเทคโนโลยีหรือหลักของฟิสิกส์ลง แต่ในตอนท้ายก็หนีไม่พ้น

 

ประเภทอื่น ๆ ที่ผสมกันไป ( เหมือนเป็นThemeของเรื่อง )เช่น

cyberpunk : เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมที่ถูกครอบงำโดยเทคโนโลยีเช่นคอมพิวเตอร์ และมีพฤติกรรมที่น่ากลัว หรือเป็นการรวมตัวกันของคนและเครื่องจักร

military science : การสู้รบระหว่างกองทัพอวกาศ เช่น Star war

parallel/alternate universe : จักรวาลคู่ขนานหรือการสลับกันของเหตุการณ์ ทุกการตัดสินใจ หรือการเกิดเหตุการณ์หนึ่ง จะมีความตรงข้ามในอีกที่หนึ่ง เช่นเรื่อง Father's land ของ Robert Harris ที่ให้ฮิตเล่อร์คือผู้ชนะ หรือการเปลี่ยนในทางตรงข้ามกับประวัติศาสตร์

space opera : การผจญภัยในอวกาศ มักจะเป็นตอน ๆ เหมือนในหนังทีวี เช่นเรื่อง Fash Gordon หรือ Star trek

Time travel การก้าวข้ามไปยังกาลเวลา โดยมีเทคโนโลยีเข้าช่วยหรือ เป็นการเดินทางที่เร็วกว่าแสง

( การแบ่งประเภทอาจมีมากว่านี้แล้วแต่จะแบ่งแยกกันไปตามรายละเอียดของแต่ละคน )

 

จะเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร ?
( ตอนเรียนก็สอบเกือบตกในวิชาวิทยาศาสตร์ แต่ชอบอ่านนวนิยายประเภทนี้มาก )

แม้ว่านวนิยายวิทยาศาสตร์ จะมีนักวิทยาศาสตร์เป็นผู้แต่งเสียเป็นส่วนมาก ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่เกือบตกในวิชานี้จะไม่มีสิทธิ์เขียนเสียเลย ในเมื่อเคยกล่าวมาแล้วมา การเลือกเรื่องที่จะเขียน อาจจะมาจากสิ่งที่เรารู้ หรือเราไม่รู้ก็ได้ ขอให้คุณมีใจรัก และอยากเขียนนวนิยายประเภทนี้จริง ๆ เท่านั้น

เราจะเริ่มที่ ไอเดียค่ะ นวนิยายวิทยาศาสตร์ เป็นนวนิยายที่ต้องอาศัยไอเดียมาก ๆ ส่วนจะหามาจากไหนบ้างนั้น มันไม่ต่างจากการหาไอเดียสำหรับเขียนนวนิยายทั่วไป ที่เราผ่านมาแล้ว ซึ่งจะไม่กล่าวซ้ำอีก

จากนั้นก็เอาไอเดียวิทยาศาสตร์ที่คิดขึ้นมา หรือหาได้ ไปทำการค้นคว้าถึงความถูกต้องตามกฎของวิทยาศาสตร์เสียก่อน และความรู้ที่ได้มานั้นคุณจะต้องประเมินความน่าเชื่อถือและความเป็นไปได้ของมันด้วยว่า น่าจะพัฒนาเป็นอะไรไปได้อีก เมื่อได้ไอเดียและผ่านการประเมินแล้ว ก็นำสิ่งที่ได้มาใส่ลงในเรื่อง ในตอนนี้การสร้างพล็อต และตัวละครจะช่วยเราได้มาก และวิธีการก็ไม่ต่างไปจากนวนิยายทั่ว ๆ ไป เพียงแต่เรื่องที่เล่า อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และวัตถุดิบที่นำมาเสนอจะเน้นความเป็นวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี่ที่ก้าวหน้าเท่านั้น

องค์ประกอบในการเขียนเรื่อง

Theme มีได้หลากหลายมากเช่น

- โลกตกอยู่ในอันตราย ความวุ่นวายของโลกในวาระสุดท้าย

- การผจญภัยในอวกาศ การติดตามค้นหายานอวกาศที่หายไป
- สงครามระหว่างดวงดาว กองทัพของฝ่ายป้องกันและฝ่ายถูกรุกราน

- ความขัดแย้งอันเกิดจากการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในสิ่งที่บางกลุ่มเห็นว่าเป็นบาปหรือเป็นความหายนะของมนุษยชาติ

- การเดินทางข้ามมิติ

- คนตกอยู่ภายใต้อำนาจของหุ่นยนตร์

- การมีพลังจิต หรือการสื่อสารทางโทรจิต

- การอพยพไปสร้างเมืองใหม่

- การถูกโจมตีจากโลกอื่น
- มนุษย์โคลนดี โคลนเลว ต่อสู้กับมนุษย์หรือต่อสู้กันเอง
- การถูกโจมตีจากมนุษย์นอกโลก
- การต่อสู้กับโรคร้าย คนป่วย ที่ไม่รู้สาเหตุ
- การพยายามควบคุมหรือเข้าใจปรากฏการธรรมชาิติ
- มนุษย์กลายพันธุ์ การเปลี่ยนร่าง
- ความผิดพลาดจากการทดลองที่สร้างความเสียหายให้กับโลกมนุษย์
- การพยายามเอาตัวรอดหลังจากโลกถูกทำลายด้วยนิวเคลียร์
- สงครามทางเทคโนโลยีที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นและลักลอบขโมยกัน
- การค้นหาโลกที่สาปสูญ หรือการตกไปอยู้โลกล้านปี
- การเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์แต่ให้ผลลัพธ์ออกมาตรงข้ามกับทีี่เป็นจริง
- ฯลฯ

 

Plot


พล็อตหลักมักจะไม่ซับซ้อน เพราะจะสอดคล้องกับ ศูนย์กลางความสำคัญของเรื่อง ( theme ) การดำเนินเรื่องก็ใช้รูปแบบพื้นฐานของการวางโครงเรื่องได้คือ

ตัวละคร (ซึ่งมีบุคลิกที่เหมาะสมกับเรื่องของคุณ ) ต้องเผชิญกับ

ปัญหาที่แก้ไม่ตก

ความพยายามในการแก้ปัญหาของเขายิ่งทำให้เรื่องเลวร้ายสับสนไปอีก ซึ่งนำไปสู่

วิกฤตการ อันสูงสุด จากนั้น

ตัวละครก็รวบรวมความกล้า ความฉลาด ไหวพริบ ทุกอย่างที่ค้นพบ ฯลฯ แก้ปัญหานั้น

ตอนจบของเรื่อง ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณว่า ประสพความสำเร็จในการแก้ปัญหานั้นหรือไม่ หรือต้องสูญเสียอะไรเป็นข้อแลกเปลี่ยนบ้าง

การเขียน นวนิยายวิทยาศาสตร์ จะแตกต่างจากคนอื่น ๆ อยู่ที่พล็อตย่อยที่นำมาสนับสนุนเรื่อง และความน่าเชื่อถือหรือความเป็นไปได้ของข้อมูลที่คุณนำลงมาไว้ในเรื่อง

Character

ตัวละครสร้างได้หลากหลาย อาจเป็นคนปกติบนโลก หรือพวกมนุษย์ต่างดาว หรือมนุษยชาติอื่นที่ไม่ใช่พวกโฮโมเซเปียน สัตว์แปลก ๆ ที่มีตามสภาพแวดล้อมหรือถูกสร้างขึ้นมาจากการค้นคว้า ( อย่างแฟรงเก้นสไตล์ ) แต่ที่เห็นขาดไม่ได้ก็คือ หุ่นยนตร์กระป๋อง หรือ หุ่นยนตร์ที่คล้ายกับคน

เพิ่มเติมที่นี่


Setting


ศูนย์กลางของเรื่องเกิดขึ้นได้ทั้งในสถานที่ใหญ่กว้างขวาง เช่นบนโลก ใต้โลก ใต้มหาสมุทร หรือเกิดบนดาวเคราะห์อื่น ๆ ทีอยู่ต่างกาแลกซี่ หรือจะอยู่ที่ ๆ เสมือนโลกที่คุณสร้างมันขึ้นมาเอง ( อย่าลืมข้อแนะนำในการสร้างโลก )

และศูนย์กลางของเรื่องอาจจะเกิดขึ้นในส่วนเล็กย่อยลงไปอีก เช่น บนยานอวกาศ ในห้องทดลอง ในเมืองใหญ่ ในหมู่บ้านตามชนบท

การตัดสินใจที่จะเลือกสถานที่ใดเป็นที่ตั้งของเรื่อง จะมีผลต่อเนื่องไปสู่การค้นคว้า หาข้อมูล สถานที่เล็กและอยู่ในบนโลกจะทำให้คุณใช้สิ่งที่คุณรู้และเห็นอยู่แล้วมาช่วยได้มาก แต่หากเป็นที่กว้างใหญ่ หรือเป็นที่ ๆ สร้างขึ้นเอง คุณอาจจะต้องใช้เวลาในการค้นข้อมูล และเติมจินตนาการเข้าไปมากกว่า แต่ก็นั่นแหละ ...

นวนิยายที่ดีต้องนำเราไปยังสถานที่เราไม่เคยไป ทำให้เราพบกับผู้คนที่ไม่เคยเห็น และแสดงถึงสิ่งที่เราไม่เคยแม้แต่จะฝันถึง


ควรจะรู้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องใดบ้างในการเขียน นวนิยายวิทยาศาสตร์

ก่อนอื่นคุณต้องรู้ว่าทุกวันนี้มีวิทยาศาสตร์หลายอย่าง คุณต้องเลือกเอาว่าจะเอาวิทยาศาสตร์แขนงไหนมาเล่าในเรื่องของคุณ หรือจะเลือกเอามาปะปนกันก็ได้ ( ดาราศาสตร์ , ชีววิทยา , พฤกษาศาสตร์ , เคมี , ธรณีวิทยา , คณิตศาสตร์ , เวชศาสตร์ หรือแพทยศาสตร์ , ฟิสิกส์ และสัตววิทยา )อย่างน้อยคุณควรจะมีความรู้เบื้องต้นในแขนงที่คุณเลือก และก็ติดตามความก้าวหน้าในเรื่องนั้นจากนิตยสารทางวิทยาศาสตร์ บทความหรือประเด็นขัดแย้งในเรื่องนั้น ๆ เพื่อมาเป็นไอเดียของเรื่อง ( เสียดายที่นิตยสารทางวิทยาศาสตร์ของไทยแทบจะไม่มีเลย แหล่งค้นคว้าอื่น ๆ ก็มีน้อย คงต้องอาศัย internet แต่ก็เป็น ภาษาอังกฤษอีกแหละ )

 

คุณควรอ่านหนังสือนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่เขียนโดยคนอื่น ๆ ให้มาก แต่อย่านำไปสู่การลอกเลียนแบบ และเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะนำไปสู่การเลียนแบบคุณควรจะอ่านหนังสือให้หลากหลายต่างประเภทกันเช่น หนังสือประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ นิเวศวิทยา มานุษยวิทยา ศาสนา วัฒนธรรม โบราณคดี ฯลฯ ( ระวังอย่าตกลงในกับดักของการค้นข้อมูลจนไม่ได้เริ่มเขียน นวนิยายเลย ดูข้อแนะนำในเรื่องการค้นข้อมูลในหนังสือ ๑๐๐ คำถามสร้างนักเขียนฯ อีกครั้ง )

จะใส่ข้อมูลนั้นลงไปในเรื่องได้อย่างไร ?

 

เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการแล้ว ให้คุณจดรายการลงไป คิดถึงรายละเอียด และความเป็นไปได้ที่จะสร้างเรื่องให้ล้อมรอบมัน แล้วก็เลือกเอามาไว้ในเหนังสือที่จะเขียน และนี่เป็นวิธีการที่จะทำให้คุณได้ความคิดในการเอาข้อมูลใส่ลงไปในเรื่อง

การใส่ข้อมูลที่คุณค้นพบและคาดการณ์ถึงการพัฒนาความเป็นไปได้ของมันลงในเรื่อง ขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการให้เป็นเพียงข้อมูลทั่ว ๆ ไป หรือจะให้เป็นข้อมูลหลักสำคัญในเรื่อง และคุณอาจจะใส่มันลงไปโดย


วิธีบอกเล่าตรง ๆ โดยการบรรยายถึงที่ไปที่มาของมันประกอบ หรือจะให้อยู่ในการสนทนาของตัวละคร


ทำให้เป็นจุดหนึ่งในเรื่อง โดยให้ตัวละครเป็นผู้ค้นพบในห้องทดลองเป็นครั้งแรก( ตัวละครเอก หรือกลุ่มนักวิทยาศาสตร์กำลัง-- - ค้นคว้าอยู่ และพบมันในที่สุด )หรือเกิดการผิดพลาดในการทดลอง ซึ่งทำให้เกิดเรื่องขึ้นด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์


ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของพล็อตเรื่อง เช่น เป็นการค้นพบด้วยความบังเอิญจากตัวละครเช่นพวกแฮคเกอร์( เป็นข้อมูลลับ) หรือจงใจที่จะสืบหาว่าฝ่ายตรงข้ามกำลังทำในสิ่งที่เป็นอันตราย( ใช้สายลับ) หรือพบจากหนังสือที่เคยตีพิมพ์มาก่อน แต่ในเวลานั้นไม่ได้รับความสนใจ หรือผู้เขียนในเรื่องนั้นหายสาบสูญไป หรือถูกจับโดยฝ่ายตรงข้าม

 

TOP

 


โดย ฟีลิปดา
๒๙ มีนาคม ๒๕๔๘

 

 


การเขียนนวนิยายต่าง ๆ
Idea bank
ฝึกเขียนเรื่อง
 


 

 
 



 

  http://www.forwriter.com . © 2005 All rights reserved.