forwriter.com
เขียนเรื่องท่องเที่ยว ห้องมือใหม่

 

อยากเป็นนักเขียนเรื่องท่องเที่ยวไหม?

หากเราได้ไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ จดบันทึก ถ่ายรูปประทับใจ กลับมาเขียนเรื่องหรือบทความขายได้เงินพอเป็นต้นทุนในการเที่ยวของเราครั้งต่อไป หรือฝันไปกันใหญ่ว่า มีสปอนเซอร์จ่ายค่าเดินทางพร้อมพอคเก็ตมันนี่ให้เราตลอดการเดินทางที่เขียนไปด้วยเที่ยวไปด้วย ว้าวววว ฟังดูดีไหม?

แล้วจะเป็นนักเขียนเรื่องท่องเที่ยวได้ยังไงล่ะ?

กฎที่วางเอาไว้เล่นๆ หากอยากเป็นนักเขียนเรื่องท่องเที่ยว

1. ต้องเป็นคนชอบเดินทาง ท่องเที่ยวบ่อยๆ

2. ต้องเป็นคนชอบอ่าน อ่านมากๆ เฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเรื่องท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ

3. ต้องเป็นคนชอบเขียนๆๆๆๆ เขียนจดบันทึกเก่ง เขียนทุกวัน ไม่มีเบื่อ จดมันลงไป เห็นอะไรน่าสนใจก็ต้องจด กันลืม

4. ทักษะในการเขียน การเล่าเรื่อง ก็ควรมีบ้าง ฝึกให้บ่อยๆ ก็จะเก่ง

5. อารมณ์ขำ และความอดทน เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ต้องทำตัวให้สนุก หากคุณเบื่อ ใครอยากจะอ่านของคุณกันล่ะ

6.สนใจมองหาสิ่งที่ไม่คาดหมาย ความลึกลับที่อยู่กลางแจ้ง

7. การเดินทางทุกครั้ง ควรจะสร้างให้คุณเป็นคนใหม่ ได้เรียนรู้อะไรภายใจจิตใจตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่แค่เห็นอะไรมากขึ้น เท่านั้น

8.การเดินทาง ไม่เพียงเป็นการเปลี่ยนสถานที่ แต่ต้องเปิดใจของคุณให้กว้างด้วย มองทุกอย่างในสายตาที่แตกต่าง ทำเหมือนว่ามันเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับคุณในครั้งแรกเสมอ

9. อย่าลืมอ่านศึกษาวิธีเขียนหนังสือ หรือบทความแนวท่องเที่ยวนีมากๆ ด้วย มันเป็นครูของเราได้ค่ะ

ทำได้อย่างน้อยเก้าข้อข้างต้น ก็ถือได้ว่า มีแนวโน้มจะเป็นนักเขียนนักท่องเที่ยวได้แล้วล่ะ ^--^

จะเริ่มต้นอย่างไร?

การเขียนเรื่องท่องเที่ยว ไม่ใช่เริ่มต้นที่ เมื่อคุณขึ้นเครื่องบิน หรือ รถไฟ อยู่ในรถแล้ว แต่มันเริ่มตั้งแต่ คุณตัดสินใจได้แล้วว่า จุดหมายปลายทางของคุณอยู่ที่ไหน เริ่มเขียนมันได้ตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นความฝันของคุณแรงจูงใจให้คุณได้ไปสถานที่แห่งนี้ วิธีการเก็บเงินของคุณเพื่อที่จะไปสถานที่แห่งนี้ (ถ้าคุณไม่มีปัญหาเรื่องนี้ก็โชคดี ผ่านไปได้เลย ) อุปสรรคของคุณกว่าจะได้มาจุดนี้ จนสรุปได้ว่า คือที่นี่ จากนั้นก็ ...

ก่อนเดินทางควรจะวางแผนสักหน่อย

ค้นหาข้อมูล เมื่อรู้จะไปไหน หาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่นั้น หากคุณไปเที่ยวเพื่อความสนุกสนานก็อาจจะละทิ้งตรงนี้ได้ แต่ถ้าไปแล้วจะกลับเอาอะไรมาเขียนละก็ ตรงนี้สำคัญ

อ่านเกี่ยวกับประวัติสถานที่ วัฒนธรรม และภาพ ในตอนเริ่มต้น หาแผนที่และทำตัวให้คุ้นเคยกับผังภูมิประเทศที่คุณจะไป

เลือกอ่านหนังสือเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพื่อดูว่าบทความที่เขาเขียนไปแล้วเกี่ยวกับจุดหมายปลายทางของคุณหรือข่าวคราวใหม่ๆ เกี่ยวกับสถานที่นั้น อากาศเหตุการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ

หาดูในอินเตอร์เน็ท ก็ได้ เกี่ยวกับปฏิทินงานประจำปีต่างๆ ในที่ที่คุณจะไป กากบาทเอาไว้ว่าอันไหนน่าสนใจ

ดูว่ามันมีนิทรรศการอะไรเกี่ยวกับศิลปะหรืออะไรๆ น่าสนใจหรือเปล่า

การค้นคว้าของคุณอาจจะรวมไปถึง โบราณสถาน งานฉลอง ประเพณี ศิลปะพื้นบ้านยังมีอะไรหลงเหลืออยู่ไหม หรือตายไปหมดแล้ว

ยิ่งรู้เกี่ยวกับจุดหมายที่คุณจะไปมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งสนุกกับสถานที่ไป และมีเรื่องเขียนได้มากเท่านั้น จดหรือก็อบปี้หรือพิมพ์หน้าที่คุณสนใจออกมาเป็นกุญแจข้อมูลที่คุณต้องการในการเดินทางครั้งนี้ด้วยเลย

เขียนรายการสั้นๆในสิ่งที่คุณต้องไปเห็น อย่างน้อยให้มันอยู่ในลิสต์ของคุณ เพราะเมื่อไปถึงจริงๆ ข้อจำกัดในเรื่องของเวลา อาจจะทำให้คุณว้าวุ่นว่าควรจะไปดูอะไรบ้าง เมื่อคุณมีรายการไว้ในใจแล้ว จะทำให้คุณประหยัดเวลาได้มาก ๆๆๆๆ

คิดไอเดียคร่าวๆ เกี่ยวกับสิ่งที่คุณจะเขียนถึง

ในตอนนี้ หากคุณพอจะมีไอเดียคร่าวๆ ในหัวว่า คุณอยากจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องอะไร แนวไหน ก็ให้ลิสต์มันออกมา เป็นต้นว่า จะเน้นเรื่องการกิน การช้อปปิ้ง ชมสถานที่ กิจกรรมของตัวคุณเอง อาหาร ศิลปะ กีฬา ซื้อของ ผู้คนฯลฯ

หรือเน้นเน้นรูปแบบการเดินทางเป็นหลักด้วยฉากของการการขับรถ ขึ้นรถไฟ ขี่ม้า เดินเท้า ฯลฯ

หรือเขียนเกี่ยวกับธีมวันอะไรสักอย่างเช่น วันหยุดพักร้อน วันหยุดหรือเทศกาล วันสงกรานต์ วันปีใหม่ ฯลฯ

การเดินทางนอกเส้นทางที่ยังมีคนรู้จักน้อย การเดินทางเพื่อพักผ่อนหย่อนใจของตัวเอง แนะนำการเดินทาง (เก็บเงิน) ฯลฯ

ถ้ายังคิดไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร ไปหาเอาข้างหน้า (ก็มือใหม่หัดเขียนนี่นา ^--^ )

สิ่งที่ขาดไม่ได้และควรมีติดตัวอย่างน้อยก็

1. สมุดบันทึกเอาไปหลายๆ เล่ม ดินสอ ปากกา หลายๆ แท่งหลายๆ ด้าม

2. กล้องคู่มือ คู่ใจ แบบไม่เกี่ยงราคา นำไปได้แม้กระทั่งกล้องกระดาษถ่ายแล้วทิ้ง

3. เทปบันทึก เล็กได้เท่าไหร่ยิ่งดี ซ่อนง่าย พกง่าย

ระหว่างเดินทาง เปิดตาเปิดหูเปิดใจของคุณให้กว้าง

การเดินทางทุกครั้งมันมีสิ่งดึงดูดทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกคือสิ่งที่คุณมองเห็น ภายในก็คือความรู้สึก ความคิดของคุณ นักเขียนที่ดีต้องรวมทั้งสองอย่างนี้เข้าด้วยกันได้

ดังนั้นจงเปิดหูเปิดตาให้กว้าง สังเกตโลกรอบตัวคุณเพื่อเห็น สิ่งที่คนทั่วๆไปอาจจะลืม หรือมองไม่เห็น อย่าลืมว่าคุณไปได้เที่ยวเฉพาะตัวคุณเองนะ คุณต้องเที่ยวเผื่อคนอ่านด้วย อะไรบ้างที่พวกเขาต้องการรู้ สิ่งแปลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สิ่งที่แอบมองในร้านขายของ หยุดตัวคุณที่ร้านกาแฟสักร้าน แล้วมองดูผู้คนผ่านไปมา

มองหาคนในพื้นที่ ที่ๆ คนอยู่จริงๆ ที่เขาทำงาน เล่น ชีวิตประจำวันของพวกเขา เป็นยังไง หาสิ่งที่มีเสน่ห์บางอย่างที่คุณได้เห็นเพียงแว่บหนึ่งในชีวิตประจำวันของประเทศอื่นๆ แล้วนำมาเล่าให้ฟัง

เวลาอาจมีจำกัดในการท่องเที่ยวของคุณ ดังนั้น มันสำคัญในการหาเวลาที่ไปเยี่ยมชมสถานที่ที่คุณสนใจมากที่สุด จากที่คุณจดรายการเอาไว้ก่อนที่คุณจะออกจากบ้าน ( ทำไว้แล้วใช่ไหม?)

ระหว่างทางก็ รวบรวมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตั๋วรถ แผนที่ใต้ดิน โบรชัวร์ ตารางเวลา กระดาษเช็ดปาก ฯลฯ หรือแม้กระทั่งใบโฆษณา อันไหนเก็บมาได้ ก็เก็บเสียให้ทั้งหมด ยิ่งอันไหนแจกฟรีสำหรับนักท่องเที่ยว ก็ยิ่งเก็บมา มันจะช่วยในการเขียนของเราทีหลัง เชื่อเถอะ ^--^ แต่อย่า ...เด็ดขาด สิ่งของต้องห้าม หรือ การทำลายธรรมชาติ อย่าเอามานะ น่าอาย ขอตำหนิ

อ้อ ... ขอเสริม ประเภทสลักชื่อตัวเองเอาไว้ ในที่ที่เขาไม่ได้จัดไว้ให้ นี่ก็ไม่สมควรนะ ม่ายชอบ ( ... นึกสงสัยในใจด้วยถ้าเจอ ไม่ต้องเปิดเผยตัวถึงขนาดนั้นหรอก ทำตัวให้ลึกลับหน่อยไม่ได้รึไงพวก ! ^--^ )

ขณะที่คุณสอดแนมไปรอบๆ ก็คุยกับคนเสียบ้าง ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเทียวด้วยกัน บ๋อย คนเสริฟ เจ้าหน้าที่โรงแรม คนขายของ คนที่นั่งข้างรถเมล์รถไฟ ฯลฯ ถามคำถาม คุณอาจจะโชคดีเจอคนคุยจ้อ เล่าเรื่องเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ ให้คุณฟัง อย่าลืมว่า คนอ่านก็สนใจเรื่องคนเหมือนกันนะ ไม่ใช่แต่จะสนใจเรื่องวัด พิพิธภัณฑ์เท่านั้น

ภาพถ่าย หากคุณเชี่ยวชาญเกี่ยวกับถ่ายภาพกับกล้องเยี่ยมก็ดีไป แต่หากต้นทุนน้อย ประเภทกล้องสำเร็จรูป ก็ช่วยได้เยอะ เวลาถ่ายภาพ อย่าถ่ายเพียงภาพใกล้ ให้มองในมุมกว้างบ้าง รายละเอียด ของผู้คนที่กำลังเคลื่อนที่ ยกของ ภาพธรรมชาติ หากคิดจะเอาภาพนั้นมาลงในหนังสือด้วย ก็ถ่ายเผื่อขาดเผื่อเหลือเอาไว้ด้วยล่ะ

สำหรับคนที่ลืมเอากล้องติดตัวไป (ซึ่งไม่น่าลืม) ก็ใช้โปสการ์ดที่เขามีขายให้เป็นประโยชน์ เขียนส่งถึงตัวคุณเองกลับไปที่บ้านเลยก็ได้ แต่ถ้าหากมีทักษะการวาดรูปพอประมาณก็ได้ ก็วาดมันด้วยฝีมือคุณเองก็ได้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยระลึกความทรงจาของคุณขึ้นมาได้ จะได้มีวัตถุดิบเขียนได้เยอะ

เทปบันทึก บางครั้งนักเขียนก็มักจะลืม และมุ่งที่จะถ่ายทอด สิ่งที่ตนเองเห็นในเรื่องของรูปร่างภายภาพภายนอกของสิ่งที่เห็น จนลืมนึกถึง ประสาทสัมผัสอย่างอื่นที่มักจะลืมได้ง่ายก็คือ เสียง กลิ่น อันนี้จะช่วยทำให้งานเขียนของคุณมีชีวิตชีวาขึ้นเยอะ เอามันใส่ในกระเป๋า ไม่ว่าคุณจะเดินไปในตลาด อยู่สถานีรถใต้ดิน หรือที่ไหนๆ ให้ลองบันทึกเสียงเหล่านี้ลงไป (แต่อย่าเอาเข้าไปในที่เขาห้ามล่ะ) และมันดีอีกอย่าง เวลาที่คุณคิดอะไรขึ้นได้ ไม่อยากเขียน ก็พูดในสิ่งที่คุณเห็น คุณรู้สึกลงไปในเทปบันทึกนั้นได้ และถ้าหาก คุณไปกับเพื่อน ๆ ก็ลองเปลี่ยนให้เขาเล่าสิ่งที่เขาพบเห็นหรือแสดงความรู้สึกออกมาก็ได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นความทรงจำที่ดี ไม่ว่าคุณจะนำเอามาเขียนหรือไม่

บันทึกประจำวัน

คุณคงจำไม่ได้หมดหรอกว่า วันหนึ่งๆ คุณไปพบไปเห็นอะไรบ้าง ดังนั้น เมื่อไปในสถานที่ใหม่ ๆ ความรู้สึกต่างๆ มันอาจจะถาโถมเข้ามาหาคุณจนล้นไปหมดจนคุณอาจจะลืมนั่นลืมนี่ นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่คุณจะต้อง บันทึกประจำวัน เอาไว้ มีติดตัวเอาไว้หลายเล่มก็ได้ คุณอาจจะแยก เล่มนี้ เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับตารางเวลา ค่าอาหาร ค่าตั๋ว ชื่อร้านอาหาร ชื่ออาหาร เหล้าท้องถิ่น ชื่อโรงแรม ข้อความพูดคุยเล็กน้อยกับคนท้องถิ่น ฯลฯ สมุดอีกเล่มอาจจะบันทึกความรู้สึกประทับใจ อารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับการเดินทางของจิตใจคุณก็ได้ ( จะเอาใส่เล่มเดียวกันก็ได้ตามใจคุณ)

การเดินทางเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น น่าผิดหวัง และ น่าเบื่อหน่าย ฯลฯ แต่ไม่ว่าอย่างไร คุณต้องจดมันลงไป

บันทึกการเดินทางจะจับประสบการณ์คุณได้ในหลายทางเท่าที่เป็นไปได้ ต้องฝึกฝน และมีความประทับใจ นี่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการที่จะเอามาเขียน ยิ่งคุณจดลงไปมากเท่าไหร่ในการเดินทาง ยิ่งทำให้คุณมีวัตถุดิบในการเขียนมากขึ้นเมื่อกลับมาบ้าน

คำแนะนำนิดหน่อยในการเขียนบันทึก ^--^

1.ใช้เวลาสักเล็กน้อยในทุกๆ วัน เพื่อเพ่งไปที่ประสาทสัมผัสของคุณ อย่ามุ่งไปแค่สิ่งที่คุณเห็น แต่รู้สึกถึงสิ่งที่คุณได้ยิน ได้กลิ่น ความรู้สึกของคุณต่อสถานที่นี้ เวลานี้ มองไปรอบกาย มองหาสิ่งเล็กๆ น้อยๆ และทำให้มันเหมือนกับเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับคุณ (ก็ถ้าเห็นอะไรก็เหมือนเดิมพื้นๆไปหมด จะเอาอะไรมาเขียนให้คนอ่านตื่นตาตื่นใจไปกับคุณล่ะจริงไหม?) ต้องเขียนถึงอย่างน้อย ห้าประสาทสัมผัสใช้มันให้เป็นประโยชน์ เพราะโดยมากเรามักคิดถึงแต่สิ่งที่เห็นในการเดินทาง แต่ความจริงแล้วมันมีสิ่งที่ต้องรู้สึกอีกตั้งเยอะ โดยธรรมชาติ เมื่อคุณเห็น มันก็เป็นกุญแจของทุกอย่างที่คุณจะเขียนถึงมันภายหลัง แต่ สิ่งที่คุณได้ยิน ได้กลิ่น ได้สัมผัส และได้ลิ้มลอง จะช่วยให้การเขียนของคุณนั้นหลากหลาย แตกต่าง และมีชีวิตชีวาสำหรับคนอ่าน

ดังนั้นเมื่อจดโน้ต อย่าเขียนเฉพาะรูปร่างหน้าตา เอาเสียง สี แสง กลิ่น ความรู้สึก ของคุณในตอนนั้นลงไปด้วย ครอบคลุมทุกสัมผัสประสาท รู้จักสร้างตัวละคร ขึ้นมา ก็คนหรือสัตว์สิ่งของรอบข้างเรานั่นแหละ เขียนถึงเขา บรรยายถึงเขาเอาไว้ด้วย

2.. ต้องซื่อสัตย์ กับความคิด ความรู้สึกของตัวเอง เมื่อเห็นสิ่งแปลกใหม่ แม้ว่ามันจะไม่ทำให้คุณสะดวกสบาย ยุ่งยาก ก็ต้องมองให้ออกว่า เป็นเพราะอะไร ถึงได้ทำให้คุณรู้สึกอย่างนั้น ตรงนี้ จะสร้างให้คุณเป็นนักเดินทาง ทางจิตใจที่จะทำให้เข้าใจตัวเองได้มากขึ้น รู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร เขียนลงไปด้วย แม้ว่าจะเป็นคำสั้นๆ ก็ตาม หากไม่เขียน ประเดี๋ยวหายโมโห หายดื่มด่ำ หายอัศจรรย์ใจ ก็ลืมหรอก ^--^

3.การเขียนของคุณไม่จำเป็นต้องใส่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในแต่ละวันลงไป เลือกประเด็นที่ประทับใจ กระทบใจ น่าสนใจ หาหัวข้อที่น่าสนใจในแต่ละวันหมุนเวียนไป มันจะเป็นอะไรก็ได้ เช่น เรื่องอาหาร เรื่องสถานที่ เรื่องผู้คน เรื่องเสื้อผ้า เรื่องห้องน้ำ ห้องอาหาร สระว่ายน้ำ ฯลฯ เขียนทุกวันที่คุณเห็นในหัวข้อพวกนี้

4.เขียนเกี่ยวกับคน ที่คุณเห็นทุกวัน ไม่ว่าคนที่ยืนรอรถเหมือนคุณ คนในห้องอาหาร คนที่คุณคุยด้วยในลิฟท์ คนที่พยายามตื้อให้คุณซื้อของที่ระลึก บรรยายทุกอย่างเกี่ยวกับเขา รูปร่างเป็นอย่างไร พูดแบบไหน เขาทำให้คุณรู้สึกอย่างไร คุณรู้สึกอย่างไรที่ได้ติดต่อกับคนเหล่านี้ ทำไมคุณถึงรู้สึกหรือคิดอย่างนี้

5.หาเวลาเขียนทุกวัน

และไม่ว่าคุณจะมีแผนการไปไหน และคิดว่าจะจดมันทีหลังละก็ ... อย่า หาเวลาส่วนตัวสักเล็กน้อย ก่อนที่จะไปทำอย่างอื่น คุณอาจอยากไปดื่มให้เมาทิ่มบ่อ แต่ก่อนจะไป เขียนเสียก่อน เมาแล้วตื่นขึ้นมาเขียน มันไม่สดเหมือนเขียนก่อนเมาหรอก ^--^

6.เขียนให้ได้วันละห้าประโยค เอาเข้าจริงแล้ว การเขียนบางครั้งมันก็ยากเหมือนกันนา บางวันมันไม่มีอารมณ์เสียดื้อๆ หรือเกิดอาการทื่อๆ ขึ้นมา ก็เอานา ... อย่างน้อยเขียนให้ได้อย่างน้อย 5 ประโยค ไม่จำเป็นจะต้องต่อเนื่องกันหรอก เป็นสิ่งที่คุณเห็นรู้สึก และคิด เท่านั้นก็ได้ หากไม่บังคับตัวเองเสียเลย กลับถึงบ้าน มีแต่สมุดเปล่าๆ จะหาวัตถุดิบอะไรไปเขียนกันละ ว่าไหม?

จะเขียนลงไปยังไงดี

การเขียนเรื่องท่องเที่ยวมันท้าทายตรงที่ว่า
เขียนเรื่องจริงให้อ่านสนุกเหมือนเรื่องแต่ง


แม้กระทั่งนักเขียนที่มีประสบการณ์บางคน ก็ยังยากที่จะเริ่มต้น มันก็ต้องมีให้เห็นบ้างล่ะ ประเภทหน้ากระดาษเปล่า จอคอมพิวเตอร์ที่เคอร์เซอร์กระพริบท้าทายแว่บๆ คิดไม่ออกว่าจะเริ่มต้นยังไง จะเขียนอะไร? ( ขนาดเอาตั๋วเก่าๆมากำขยำในมือ เพื่ื่อฟื้นฟูความทรงจำแล้วนะเนี่ย ยังคิดไม่ออกเลย )

การงัดเอารูปภาพ และบันทึกการเดินทางขึ้นมาอาจจะช่วยให้คุณรำลึกความรู้สึกเหมือนอยู่ที่สถานที่นั้นสำหรับคุณก็ได้ แต่เป็นบางทีมันก็อาจจะยังไม่ได้ผล แม้คุณรู้ว่าต้องการจะเขียนเกี่ยวกับอะไร แต่คิดไม่ออกว่าจะเริ่มอย่างไร คุณอาจหงุดหงิดเพราะขาดจุดศูนย์รวมของเรื่อง เป็นเพราะคุณมีแต่ไอเดียเท่านั้น ทำไงล่ะ?

วางแนวที่จะเขียน

การเขียนจะง่ายขึ้น ถ้าคุณรู้แนวเรืองที่คุณต้องการเล่า

คิดสิว่าคนอ่านต้องการรู้อะไร
คิดสิว่า อะไรมันทำให้คุณสนใจได้นะ ตอนคุณอ่านหนังสือ หรือบทความเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของคนอื่นน่ะ

คิดหัวข้อของคุณออกมา มองมันในแง่มุมใหม่ ไม่ใช่แค่สิ่งที่คุณเห็นเป็นพื้นฐานความทรงจำเท่านั้น ฝันถึงคุณจะพาดหัว เกี่ยวกับการเดินทางของคุณอย่างไร มันเป็นเรื่องอะไรคุณอยากเขียนให้มันน่าสนใจออกมา ระดมสมองคิดหาสักสิบหรือสิบห้าหัวข้อ นี่อาจจะเป็นสิ่งที่คุณต้องการในการเริ่มเขียนก็ได้

คิดสิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษ เช่น การเดินทางที่เกี่ยวกับ อาหาร ศิลปะ กีฬา ซื้อของฯลฯ

การเดินทาง (เน้นรูปแบบการเดินทางเป็นหลักด้วยฉากของการการขับรถ ขึ้นรถไฟ ขี่ม้า เดินเท้า ฯลฯ) เอาทุกอย่างมารวมกัน (การเดินทางที่มาพร้อมกันธีมสักอย่างเช่น วันหยุดนรกแตก) วันหยุดหรือเทศกาล การเดินทางนอกเส้นทาง การเดินทางเพื่อพักผ่อนหย่อนใจของตัวเอง แนะนำการเดินทาง ฯลฯ

เรื่องเล่าการเดินทางมันเป็นมากกว่าการเก็บความประทับใจ มันต้องมีธีมที่ชัดเจน จะเอาอะไรเป็นจุดศูนย์กลางในการเล่าเรื่องได้บ้าง ตัดสินใจเลือกประเด็นที่คุณต้องการกล่าวถึง จับประเด็นในแต่ละหัวข้อให้แคบเข้ามา แล้วจดรายการลงไป จากนั้นก็สร้างความประทับใจของคุณเกี่ยวกับมันขึ้นมา หาเรื่องมาเขียนล้อมมันขึ้นมา

1.คุณอาจจะเล่า แบบ วันต่อวัน ประเภทที่ขึ้นต้นว่า วันแรกที่เรามาถึง ...

2. เล่าตามสถานที่ สิ่งละอันพันละน้อย ประเภทว่า โรงแรมนี้ ไม่ได้โอ่อ่า เหมือนที่เห็นจากภายในนอก... ไวน์ของที่นี่เป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้าน ...

3.เล่าตามชื่อเมือง ถึงมิลานเมื่อ....

4.เล่าตามเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น อย่างเช่น ตกรถอีกจนได้ ...

จากนั้นก็จัดโครงสร้างการเขียนโดยทั่วไป ก็คือเกริ่นนำ เข้าไปสู่เรื่องที่ต้องการเล่า อันเป็นเนื้อหาที่แท้จริง แล้วก็บทสรุปในตอนนั้น (เหมือนง่ายนะเนี่ย แต่เวลาเขียนจริง ก็เป็นเรื่องเหมือนกัน) ดึงข้อมูล ความทรงจำทุกอย่างที่คุณมี ออกมาเรียงลำดับเลย จะใส่อะไรไว้ตรงไหน

เขียนอะไรลงไป และ เขียนยังไงจึงจะมีชีวิตชีวา

1. สร้างโลกที่คุณผ่านมาและทำให้เราเห็นมันผ่านสายตาคุณมากกว่า สิ่งที่คุณจะเล่าให้เราฟัง นั่นคือ Show don't tell หากคุณบอกว่า อาหารที่นี่สกปรกมาก ... น่าจะเปลี่ยนไปเป็น ...

อาหารที่นำมาเสริฟ อยู่ในจานกระเบื้องกระดำกระด่าง เป็นสีดำมอๆ ผมใช้ส้อมเขี่ยเพื่อความแน่ใจว่า ไอ้ก้อนกลมๆ ที่เห็นจะเป็น ทอทุม อาหารขึ้นชื่อตามคำแนะนำของเจ้าของร้าน ...

(คำว่าทอทุม ดิฉันแว่บขึ้นมาเองไม่รู้ไปจำมาจากไหน ชื่ออาหารหรือเปล่าก็ไม่รู้ ^--^ ฟีลิปดา )

2. มี Dialogue นั่นคือ เขียนถึงบทสนทนา อาจจะเป็นที่คุณได้ยิน หรือ เป็นตัวคุณพูดคุยกับใคร หรือกับเพื่อนร่วมทางของคุณเอง อย่างเช่น (ต่อจากข้อหนึ่ง)

“ เนื้อหมาเหรอพ่อ ” ไอ้ตัวเล็กถามเสียงดัง

“ น่าจะเป็นไก่ ”

ผมตอบแบบไม่มั่นใจนัก แต่มันก็เป็นจานเดียวที่ไม่มีใครแตะเลย ....

3 . หาประเด็นเล็กๆ น่าสนใจ น่าประหลาดใจ ให้ต่างไปจากปกติ บางอย่างที่มีบางคนในที่นี่รู้ จะทำอย่างนี้ได้ก็คือ พบกับผู้คน พูดคุยนำเขาเข้ามาอยู่ในซีน เหมือนเขาเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวของคุณ ( นี่ล่ะ วิธีนี้ จะทำให้คุณมีตัวละครอยู่ในเรื่องเล่า)

4 . รายละเอียดของฉากสถานที่ มันเหมือนอะไร กลิ่นเป็นอย่างไร รสชาติแบบไหน ขอเน้นว่า แม้คุณจะตกทุกข์ได้ยากแค่ไหน จะนอนในเล้าไก่อย่างไร อย่าลืมที่จะให้รายละเอียดบอกเราด้วยว่า เล้าไก้นั่นมันเป็นอย่างไร เอาให้ครบทั้งประสาทสัมผัสทั้งห้าเลย เตือนเอาไว้น่ะ กลัวคุณจะอยู่กับความคิดทุกข์ยากลำบากเสียจนลืมบรรยายภาพให้เราเห็น ^--^

5 . บันทึกประจำวันของคุณ ใช้ให้เป็นเพียงการเตือนความทรงจำ เวลาจะเขียนลงไปก็ขัดเกลาเจาะจงลงไปในไอเดียของคุณที่คุณต้องการให้เป็นเรื่องน่าสนใจ อย่าเอาแต่ชื่อถนนชื่อเมืองชื่อๆๆๆๆ ฯลฯ บอกความลับในการเดินทางที่คุณเห็นค้นพบด้วยนะ

6 . เขียนด้วยน้ำเสียงของคุณเอง ยิ่งที่ๆ คุณไปนั้น มีคนอื่นไปแล้ว ความท้าทายของคุณก็คือหาสิ่งที่ใหม่และเป็นจริงในการจะกล่าวถึงมันในมุมมองของคุณเอง แต่โดยมาก การเขียนเรื่องท่องเที่ยวมันจะเขียนออกมา ในแนวสนุก มีอารมณ์ขัน หรือเสียดสี เล็กๆ น้อยๆ แต่หากคุณไม่ใช่แบบนี้ ก็เอาแบบเป็นการเป็นงาน ให้มันเข้ากับคุณที่สุดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องฝืน คนชอบอย่างคุณต้องมีอยู่หรอกในโลกนี้ ( หมายถึงว่า คุณไม่ได้หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักเขียนท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวนะ ไม่งั้นความเสี่ยงสูงมาก ^--^ )

7. ไม่จำเป็นที่จะต้องเล่าละเอียดถึงทุกเมืองที่คุณก้าวย่างผ่านไป เลือกเอาเฉพาะจุดที่น่าสนใจ มันสร้างความรู้สึกกระชากใจคุณ คุณเห็นเป็นประเด็นอยากให้คนอ่านได้รับรู้

8. หากสถานที่ ที่คุณไปนั้นมันพิเศษมากๆ ( เอ ...หรือไม่พิเศษก็ได้ )คุณอาจจะมีรายการแนะนำว่า ควรจะเอาอะไรติดตัวไปบ้างไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า ของใช้ ฯลฯ อย่าคิดว่าคุณรู้ แล้วคนอื่นจะรู้ด้วย เลยละเว้นที่จะบอก ยิ่งเป็นสถานที่แปลกใหม่ต่างประเทศด้วยแล้ว คิดดูสิว่า หากคนอยากจะเดินทางตามรอยคุณ เขาจะได้อะไรบ้างจากการอ่านหนังสือของคุณ

9. ตบท้ายการเล่าเรื่องด้วยข้อคิดสักอย่าง ก็ดีนะ อะไรที่มันให้แง่มุมงามๆ ในชีวิตน่ะ

10. เขียนเสร็จ ก็ต้องขัดเกลา อ่านทบทวนดูว่า คุณได้เขียนในสิ่งที่ต้องการเขียนลงเอาไว้หมดแล้วยัง ครอบคลุมทุกอย่างแน่แล้วนะ สะกดตัวหนังสือถูกต้องไหม? ซ้ำซาก เพ้อเจ้อ หรือเปล่า? ภาพวาด ภาพประกอบ ถูกต้องดีแล้วใช่ไหม? ฯลฯ ข้อนี้ไม่พูดมาก เพราะมันก็เหมือนกับการทบทวนขัดเกลาในการเขียนหนังสือทั่วไป ^--^

แบบฝึกหัดเบื้องต้น

ไม่ต้องไปไกล แค่ลองนั่งรถเมล์ไปไหนสักแห่งนี่แหละ จดทุกสิ่งที่คุณพบเห็นลงไป เอารายละเอียดให้มากที่สุด คุยกับคนข้างๆ หากไม่กล้าคุยก็เงี่ยหูฟังว่า มีเสียงอะไรบ้างในตอนนี้ เขียนให้ได้สักหนึ่งหน้ากระดาษ

:+:+:+:+:+:

ความจริงแล้ว ดิฉันเป็นคนมีโอกาสน้อย ในการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง

เพราะมักจะมีความวิตกกังวล กลัวโน่นกลัวนี่ และก็เรื่องเงินด้วย ^--^

การอ่านหนังสือท่องเที่ยวอยู่บ้าน จึงเป็นการเดินทางอย่างหนึ่งที่ดิฉันชอบ

และยิ่งได้มาเขียนนวนิยาย ดิฉันจึงต้องอ่านมากไปกว่าเดิม

ดิฉันชอบดูภาพทิวทัศน์ เป็นพิเศษ เพราะสิ่งเหล่านี้

ทำให้เกิดจินตนาการในเรื่องของสถานที่ ดิฉันจะชอบมากหาก

ผู้เขียนได้เล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ เอาไว้ด้วย

และชอบมากขึ้นไปอีก ถ้าคนเขียนจะวาดภาพด้วยคำ

จากสิ่งที่เขาเห็น เขาได้สัมผัส ให้ดิฉันได้รับรู้

แม้จะเป็นคำพูดเดียว ประโยคเดียว

บางทีก็เอามาเป็นข้อมูลในนวนิยายของตัวเองได้

ดิฉันจึงอยากจะสนับสนุน ให้มีคนเขียนเรื่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากๆ

เขียนออกมาในทุกแง่ทุกมุม ทำให้ เหมือนกับว่า

คนอ่านอย่างดิฉันไปอยู่ที่นั่นกับคนเขียนเลยทีเดียว

และฝันเอาไว้ว่า (อีกแล้ว)

ดิฉันเองจะต้องมีหนังสือเขียนเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยว

ของตัวเองสักเล่มเหมือนกัน ^--^

ตอนนี้ก็ปล่อยให้คุณๆเขียนล่วงหน้าไปก่อนค่ะ

ขอให้มีความสุขกับการเขียนค่ะ

๑ ธันวาคม ๒๕๔๙

 

 

 

ทักทาย

 

 

ดั่งไฟรัก
 
 

2009 free writing

 
 
 
 

 

  http://www.forwriter.com © 2005 All rights reserved.