ต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะว่า นักเขียนแต่ละคนมีวิธีทำงานของตัวเอง
แตกต่างกันไป มันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวว่าวิธีไหนจะดีที่สุด เพราะคนเรามีความ
แตกต่างกัน ประสบการณ์หรือวิธีการเขียนของนักเขียนชื่อดังขายหนังสือได้เป็น
ล้าน ๆ เล่ม ก็อาจจะใช้ไม่ได้ผลสำหรับคุณ พอ ๆ กับวิธีของนักเขียนที่ไม่เคยขาย
ได้เกินสองพันเล่มต่อหัว อาจจะใช้ได้ผลสำหรับคุณ
เคล็ดลับของการเขียนนวนิยายข้อหนึ่งคือ จงอย่าให้ใครมาชี้นิ้วบอกคุณว่า
จงทำตามวิธี ... นี้เท่านั้น
เพราะ มีเพียงแต่ตัวคุณเท่านั้นที่จะสร้างวิธีทำงานของตัวเองขึ้นมาได้
ก็พอ ๆ กับ ๒๐ ขั้นตอนที่จะแนะนำต่อไปนี้ ก็เป็นเพียงแนวทางหนึ่ง
เท่านั้น
๑.ตัดสินใจว่าคุณจะเขียนอะไร และแนวไหน
บางคนอาจจะเลือกที่ตัวเองชอบ บ้างก็จากสิ่งที่ตนเองรู้ บ้างก็จากสิ่งที่ตนเอง
รัก หากคุณคิดจะเขียนเพื่อความสุขของคุณก็จงเลือกเรื่องที่คุณอยากเขียนเถอะ
แต่หากคิดจะเขียนเพื่อการตลาดแล้วให้เพิ่มไปอีกเล็กน้อยในการพิจารณา คือเขียน
ในเรื่องที่แม้อีกสองปีข้างหน้า คุณเองก็ยังอยากจะอ่านด้วย
๒. จากการเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ
นวนิยายที่โด่งดังในอนาคต มันอาจจะมาจากจุดเริ่มเล็ก ๆ ในใจคุณ ในหัว
ของคุณ ในสิ่งที่คุณคิดได้ และจงจินตนาการให้มันกว้างไกลออกไปจากจุดเริ่มต้น.
และขอให้มันมีแรงดึงดูดอย่างมหาศาลที่ทำให้คุณอดไม่ได้ที่จะเรียงร้อยเรื่องราวของ
มันออกมาสู่ภายนอก
๓.ใส่ตัวละครลงไป อย่างน้อยก็ตัวเอก และตัวร้ายในเรื่อง
เมื่อได้ความคิดจากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ นั้นแล้ว ก็ลองใสตัวละครลงไป วาด
เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับตัวละคร สิ่งที่ตัวละครจะต้องทำ จะต้องแสดงออก
จะต้องพบกับอุปสรรค หรือจะต้องแก้ปัญหาอะไรอย่างไร แล้วคิดดูสิว่าคุณพึงพอ
ใจที่จะอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจของคนเหล่านี้หรือเปล่า ? และคุณจะทำอย่างไรจึงจะ
ให้พวกเขาเป็นที่ประทับใจต่อคนอ่าน ดึงดูดให้คนอ่านติดตามเรื่องราวอย่างจดจ่อ
ได้อย่างไร ?
๔. เลือกสถานที่และเวลา
คุณจะให้ตัวละครปรากฏตัวขึ้นที่ไหน พบกับใคร เผชิญหน้ากับอะไร
ตอนไหน จงเลือกสถานที่และเวลา ที่ดึงดูดใจและเข้ากันได้กับตัวละครและ
เหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจงเลือกให้มันส่งเสริมตัวละครเปิดเผยตัวตนและเรื่องราว
ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่เต็มบทบาท ที่เขาควรจะแสดงออกมาได้อย่างเหมาะสม
๕.เขียนเค้าโครงเรื่องขึ้นมา
เมื่อคิดพอที่จะได้เป็นเรื่องเป็นราวมาบ้างแล้ว จงเลือกสร้างเหตุการณ์สำคัญ ๆ
ที่คุณต้องการให้เกิดขึ้นในเรื่อง ให้ได้อย่างน้อยสัก ๔-๕ เหตุการณ์ แล้วเขียนมัน
ออกมาเพื่อจะได้รู้คร่าวๆถึงต้นเรื่องตอนกลางและตอนจบของเรื่อง
(แน่ละ ระหว่างทางที่เขียนจริงคุณอาจจะเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็ได้ )
๖.พิจารณาความเข้ากันได้ของสิ่งที่คุณได้เลือก
สิ่งต่าง ๆที่จะเกิดขึ้นในเรื่องของคุณไม่ว่าจะเป็นตัวละคร สถานที่ เวลาและ
เหตุการณ์ ตรวจดูให้แน่อีกครั้งว่า มันมีสิ่งดึงดูดใจเพียงพอที่จะทำให้คุณเขียนถึง
มันต่อไปหรือเปล่า และหากคุณเขียนเพื่อเงินแล้ว ก็อย่าลืมพิจารณาว่าแนวเรื่องที่คุณ
จะเขียน มันสดใหม่ เข้ากันได้กับ ตลาด หรือไม่ อย่าลืมว่าจุดนี้คุณต้องพิจารณาให้
ดี เพราะคุณจะต้องอยู่ติดกับมันอยู่ชั่วระยะหนึ่งของชีวิตทีเดียว มีนะที่นักเขียนบาง
คนเขียนได้เป็นครึ่งค่อนเรื่องแล้วเกิดเบื่อเรื่องที่ตัวเองเขียนเอาดื้อๆ แล้วก็ทิ้งไปอย่าง
น่าเสียดายเวลาจริง ๆ แต่จะว่าไป ก็ไม่รู้จะเสียดายทำไมขนาดคนเขียนยังเบื่อ
แล้วคนอ่านละ ?
๗.จงเขียนมันลงกระดาษ และค้นคว้าเพิ่มเติม
เมื่อคุณตัดสินใจเลือกแล้วให้เขียนทุกอย่างที่อยู่ในหัวของคุณลงไปอย่างที่คุณคิดเอาไว้ ไม่ต้องกังวลหรือสนใจกับความสวยงามของภาษาเพราะตอนนี้ คุณเขียนเพื่อที่
จะ ให้เข้าใจอย่างชัดแจ้งในสิ่งที่คุณต้องการให้มีใน นวนิยายของคุณ
เขียนเพื่อที่จะดึงเอาทุกอย่างที่คุณคิดออกมาให้หมด จะได้ไม่ต้องห่วง
ว่าคุณจะลืมอะไรยังมีจุดไหนที่คุณยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ แต่อยากจะให้
มีอยู่ในเรื่องของคุณก็ค้นคว้าเพิ่มเติมเสีย อย่างน้อย คุณควรจะมีสัก๓๐หน้า
ของเรื่องจริงในอีก๒๐๐หน้าที่คุณจะเขียน (ไม่ต้องกำหนดตายตัวหรอกแต่ละคนไม่ เหมือนกัน )
๘.วางพล็อตเรื่อง
เมื่อแน่ใจว่าได้เขียนในสิ่งที่มีอยู่ในหัวออกไปหมดแล้ว ให้เรียบเรียงเหตุการณ์
ในเรื่องเป็นลำดับ ตามเหตุและผล เพิ่มเติมเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่จะทำให้เรื่องเข้ม
ข้น น่าติดตามมากขึ้น ตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป
๙.เก็บสิ่งที่คุณเขียนเอาไว้
สักอาทิตย์แล้วกลับมาอ่านทบทวนแล้วถามตัวเองว่า คุณยังมีความสนใจในสิ่งที่คุณเขียนหรือเปล่า เรื่องนี้ยังคงสร้างความดึงดูดใจให้กับคุณไหม ? ถ้าคุณตอบตัวเองว่า ใช่ ก็จง ต่อข้อสิบ
๑๐. ลงมือเขียนจริง เขียน และก็เขียน เขียน เขียนไปเรื่อย ๆ
จนกว่าจะจบ
นี่คือต้นฉบับแรกของคุณมีข้อแนะนำว่า คุณควรจะเขียนให้จบรวดเดียวไป
เลยตามที่คุณวางพล็อตเรื่องเอาไว้ ในระหว่างทางที่เขียนคุณอาจจะคิดถึงพล็อตย่อยได้เพิ่มมากขึ้น จะเขียนเพิ่มไปก็ได้ถ้ามันไม่ทำให้พล็อตหลักคุณเสียไป แต่อย่าไปเสีย
เวลาตรวจแก้ ทบทวนเรื่องกลับไปกลับมา ระหว่างทางที่เขียน เพราะมันจะทำให้คุณ
เขียนเรื่องไม่จบ เวลาในการตรวจแก้มีมากมาย แต่ไม่ใช่ตอนนี้ ( แต่ก็อีกนั่นแหละ
มืออาชีพบางคนอาจจะเขียนไป แก้ไป )
๑๑.เมื่อคุณเขียนจบแล้ว
ทิ้งมันเอาไว้ในลิ้นชักเลย ไปพักผ่อน ไปคลายสมอง ลืมเรื่องที่เขียนไปซะ
บางคนบอกว่าควรจะทิ้งไว้สักสองอาทิตย์ บางคนก็เป็นเดือน มันก็ขึ้นอยู่กับเวลา
คุณมีนั่นแหละ แต่อย่างน้อยก็น่าจะเป็นสักสองอาทิตย์นะ
๑๒. ตรวจแก้ไขเพิ่มเติม
กลับจากพักผ่อนเป็นคนใหม่ หยิบต้นฉบับที่คุณเขียนขึ้นมา
ถ้าคุณเก็บมันไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ แนะนำให้พิมพ์ออกใส่กระดาษ เว้นพื้นที่
สีขาวของย่อหน้ากระดาษเอาไว้อย่างน้อยหนึ่งในสี่ส่วน ปรับระยะห่างของแต่ละ
บรรทัดให้มากพอที่คุณจะเขียนแทรกได้ และ อย่างน้อยคุณควรจะมีปากกาสักสองสี
เตรียมพร้อมไว้ อ่านดัง ๆ ให้จบตลอดทั้งเรื่อง ( กว่าจะจบเรื่องคอแห้งตายพอดี
ดังนั้นคุณมีสิทธิ์อ่านตรวจทานไปทีละบท กำหนดตารางเอาไว้เอง )ขณะที่อ่านคุณ
อาจจะพบฉากเหตุการณ์บางตอนที่คิดว่า ไม่ตรงกับเรื่อง หรือมันดูอ่อน ๆ ชอบกล
ก็ให้ทำเครื่องหมายไว้ แต่อย่างเพิ่งแก้ไขอะไรลงไป ( ถ้าอดไม่ได้ก็อนุญาตให้แก้
ตัวสะกดผิดได้ เอ้า ... )
๑๓.อ่านอีกครั้ง
พร้อมกับ ตัดสินใจเลือก ฉากเหตุการณ์ที่ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดอะไรในเรื่อง
เลยทิ้งไปซะ ไม่ต้องเสียดาย ( ทิ้งออกจากเรื่องนี้ ถ้าเสียดายมากคุณจะเก็บเอาไว้
เพื่อพิจารณาใส่ในเรื่องใหม่ก็ได้ ) บางฉากที่คุณคิดว่าเพียงแค่ขัดเกลาได้ก็เขียน
ไอเดียเอาไว้ที่ด้านข้างของกระดาษว่าง ๆ หรือเมื่อเกิดความคิดใหม่เข้ามาว่าน่า
จะเพิ่มบางตอนเข้าไป ก็เขียนไอเดียคร่าว ๆ เอาไว้ที่ส่วนว่างเช่นกัน
๑๔. เขียนในส่วนที่ต้องการขัดเกลา หรือเพิ่มเติมเข้าไป
๑๕. อ่านอีกครั้ง
ครั้งนี้คุณจะหาคนที่ไว้ใจช่วยอ่านก็ได้นะ รับฟังความคิดเห็นของเขาด้วยละ
๑๖. แก้ไข ขัดเกลาอีกครั้ง
๑๗. เขียนใหม่
อ่านใหม่ แก้ใหม่ เขียนแล้วเขียนอีก จนกว่าจะพอใจไม่มีอะไรที่จะต้องตัด
หรือเพิ่มมันอีกแล้ว
๑๘. เขียนคำว่า จบ เป็นบรรทัดสุดท้ายของเรื่อง เฮ้อ ...
๑๙. พักเสียหน่อย
แล้วค่อยส่งต้นฉบับไปตามสำนักพิมพ์ ทำเป็นหนังสือทำมือส่งให้เพื่อนเป็น
ของขวัญวันเกิด เก็บเอาไว้ในหิ้งหนังสือแต่งเอง( คุยได้เลยว่า ของสะสมส่วนตัวของ
คุณ คือหนังสือฉันแต่งเองยะ )หากมีเงินก็พิมพ์ขายเองเสียเลย หรือจะเผยแพร่ไป
ตาม website ต่าง ๆ ก็ได้จะให้ดี ทำเป็น E-book มาขายใน website นี้ได้เลย ฯลฯ
๒๐. เริ่มต้นเขียนเล่มใหม่อีกครั้ง ... ถ้ายังไม่เข็ดนะ
คำแนะนำทุกขั้นตอนในการเขียนนวนิยายนี้ คุณสามารถอ่านเพิ่มเติมได้
จากหนังสือ ๑๐๐ คำถามสร้างนักเขียน : นวนิยายคุณเขียนได้ด้วยตัวเอง
(เป็นหนังสือที่แนะนำเคล็ดลับและวิธีเขียนนวนิยายครบทุกด้าน แม้คนไม่อยากเขียน นวนิยายก็ควรต้องซื้อให้ใครสักคนเขียนให้เขาอ่าน )