forwriter.com
การเขียนเรื่องสั้นอย่างสั้น (Flash fiction ) ห้องมือใหม่

 

Flash fiction คืออะไร
 เป็นการเขียนเรื่องแต่งในรูปแบบหนึ่งซึ่งสมบูรณ์ในตัวมันเอง อย่างสั้นมาก ๆ เพราะมีความยาว ๑๐ - ๑,๐๐๐ คำ ( อย่างมากที่สุดก็ไม่เกิน ๑,๕๐๐ คำ )          
Flash fiction อาจจะยังใหม่สำหรับบางคน แต่มันมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมในศตวรรษที่ ๒๑ และเป็นที่นิยมมากใน อินเตอร์เน็ต บางทีก็ถูกเรียกว่า short-short stories, sudden, postcard, minute, furious, fast, quick, skinny, micro fiction เป็นต้น
 
ทำไมจึงเขียน flash fiction
 คุณเคยมีช่วงเวลาที่แรงบันดาลใจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนคุณอยากจะเขียนมันขึ้นมา ทันทีหรือไม่  
คุณมีเรื่องสั้น ๆ ที่อยากจะเล่า แต่คุณไม่ต้องการที่จะขยายเรื่องให้มันยาวไปกว่านี้ เพราะคุณเห็นมันเพียงแค่นี้ไหม?
 นี่เป็นโอกาสที่คุณจะได้เขียนมัน รู้สักกับมัน โตไปกับมัน เขียนมันขึ้นมาอย่างสั้น ๆ เพื่อให้คนอ่านคิด และรับรู้ถึงความประหลาดใจในตอนจบ หรือแม้กระทั่งทิ้งความ ไม่แน่นอนเอาไว้ให้คิด flash fiction ที่ดีจะสร้างเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
 การเขียน flash fiction จุดประกายความคิดของคนเขียนได้อย่างดี เหมาะสำหรับ คนที่มีไอเดียกระฉูด แต่ไม่มีเวลาเขียนมาก ๆ ก็ได้ เหมาะสำหรับคนอ่านที่ชอบอะไรสั้น ๆ และเหมาะมากสำหรับคนที่ชอบเขียนส่งข้อความทางมือถือ แถมยังเหมาะกับคนที่อยาก ฝึกเขียนเป็นประจำทุกวัน และมันยังสามารถขยายใหญ่เป็นเรื่องเป็นราว ได้มากขึ้น ถ้าหากคุณอยากจะขยายมันให้เป็นเล่มใหญ่ ๆ
การเขียน flash fiction ทำให้คุณต้องตัดทิ้งสิ่งขยายความต่าง ๆ ออกไป เป็นช่องว่างที่คุณต้องจินตนาการเติมเต็มเรื่องเอาเอง เมื่อคุณขัดเกลางานเขียนของคุณ คุณจะรู้ว่ามันมีพลังมากกว่าเดิม

 การอ่านและเขียนflashfictionช่วยกระตุ้นไหวพริบในการจินตนาการเรื่องของคุณ

 

องค์ประกอบของ Flash fiction        
  ต้องเน้นอีกครั้งว่า flash fiction เป็นเรื่องที่สมบูรณ์ในตัวมันเอง มันไม่ใช่ส่วนใด ส่วนหนึ่งที่ตัดมาจากเรื่องใหญ่ ๆ มันไม่ใช่บทกลอนที่พรรณนาอารมณ์ความรู้สึก หรือเป็นภาพร่างของไอเดียที่คุณอยากเขียนเรื่อง เนื่องจากการเขียนต้องมี โครงสร้าง ตอนต้นตอนกลางและตอนจบ เช่นเดียวกับการเขียนนวนิยายทั่วไป มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ฉากสถานที่และเวลา ตัวละคร ความขัดแย้ง การแก้ปัญหา เพียงแต่มันสั้นกว่า เล็กกว่า และต้องเฉียบคมกว่า
 ฉากสถานที่ ( setting ) อาจจะเอาไปไว้ที่หัวชื่อเรื่อง ตั้งชื่อเรื่องที่ทำให้รู้สึก ได้ถังสถานที่และเวลา ซึ่งจะทำให้คนอ่านเปิดอ่านเรื่องโดยมีข้อมูลเกี่ยวกับ ฉากและสถานที่อยู่แล้ว เป็นการประหยัดการใช้คำ ซึ่งสำคัญมากในการเขียน ตัวอย่างชื่อก็เช่น ฟ้าสางที่ทะเลหมอก ผจญภัยวันหยุด
ความขัดแย้ง ( conflict ) เป็นความเห็นที่แตกต่าง สร้างแรงดึงดูดให้คนอ่านอยาก อ่าน อาจจะเป็นคำกริยาที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกของคนได้เลย เช่น รัก เกลียด กลัว อิจฉา ฯลฯ ความขัดแย้งอันเกิดจาก สภาพร่างกาย หรือจิตใจ มันไม่จำเป็นที่จะต้อง มีผู้ร้ายคอยขัดขวางพระเอกเสียทุกเรื่องหรอก จะให้ความขัดแย้งเป็นไป ในรูปแบบ ไหนก็เลือกเอาเอง
 ตัวละคร ( character ) มีให้น้อยที่สุด เกินสองถือว่ามากแล้ว และไม่จำเป็นว่า ตัวละครจะต้องเป็นคนเสมอไป หรือไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นสิ่งมีชีวิต อาจจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ
 การคลี่คลายหรือทำให้หมดไป ( resolution ) ใน flash Fiction มักจะมีเหมือนกัน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเสมอไป อาจจะปล่อยทิ้งเอาให้ให้คนอ่านคิดเอาเอง หรือเป็นการหักมุม ในตอนจบที่สร้างความไม่คาดคิดให้กับคนอ่านก็ได้
 การเขียนเรื่องจะให้ดีควรจะทำให้คนอ่านเหมือนเอาตัวเองเข้าไปอยู่เรื่อง เขาต้อง เห็นตอนเริ่ม รับรู้ความขัดแย้ง และรู้สึกพอใจในบทสรุป

 

ก่อนที่จะเขียนให้คำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้
ความยาวเป็นเรื่องสำคัญ อย่าลืมว่ารูปแบบของมันถูกจำกัดด้วยความยาว ของการใช้คำ ๑๐- ๑๐๐๐ คำ

การเลือกใช้คำ

•  ควรจะเป็นที่สามารถสร้างภาพในใจคนอ่านได้เลย โดยไม่ต้องพรรณนา    ให้เปลืองคำ

•  ใช้คำกระชับ สั้น ตัดพวกคำขยายต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นออก

•  ใช้คำที่เป็นนัย หรืออ้างอิง

 เหลือช่องว่างให้คนอ่านเติมเองได้ ไม่จำเป็นต้องเขียนทุกอย่างอธิบาย ลงไปให้คนอ่านรู้ ปล่อยให้คนอ่าน จินตนาการเอาเองบ้าง

 เรื่องที่เขียนควรเป็นเหตุการณ์เดียว สั้น ๆ

 
เคล็ดลับในการเขียน        
 จะใช้โดยตัวมันเดี่ยว ๆ หรือร่วมกับข้ออื่น ๆ ก็ได้ นักเขียนต้องมุ่งไปที่เรื่องที่ สั้นกระชับ และเหตุการณ์ที่น่าสนใจ
๑. ไอเดียเล็ก ๆ มองหาไอเดียเล็ก ๆ ในสิ่งที่คุณคิดได้ใหญ่ ๆ เพื่อถกเถียงหรือ แสดงความคิดเห็นออก เช่นความวุ่นวายในความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก อาจจะใช้เป็น เรื่องได้ หาประเด็นเล็ก ๆ เช่นเด็กรู้สึกอย่างไรที่เขาไม่สามารถเข้าร่วมในการพูดคุย เขาทำอย่างไรเมื่อต้องอยู่ในรถอย่างน่าเบื่อหน่าย เรื่องแย่ ๆ ที่เกิดขึ้น พยายามมอง หาประเด็นเล็ก ๆ แล้วเขียนมันขึ้นมา
๒.. อย่าอารัมภบทในตอนเริ่มเรื่อง ไม่ต้องอธิบายอะไร นำเข้าสู่เรื่องที่จะเขียนเลย
๓. เหมือนกับข้อสองให้เริ่มเรื่องตรงกลางของเหตุการณ์เลย ไม่จำเป็นต้อง บอกที่ไปที่มา เข้าเรื่องได้เลย เช่น ผู้ชายวิ่งหนี ระเบิดสนั่น ตัวประหลาดอยู่ในบ้าน อย่าพรรณนาให้มากไปกว่าที่คุณต้องทำ เพราะคนอ่านสามารถเติมเต็ม ส่วนที่คุณเว้นเอาไว้ได้เอง

๔. มุ่งใช้คำที่สร้างพลังในการจินตนาการภาพในใจใช้คำที่สามารถให้คนเห็นภาพได้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องพรรณนาเช่น ถนนแห่งสงคราม วาดภาพด้วยถ้อยคำ แทนที่จะเขียนบอกว่าเขาเลวร้ายแค่ไหน คำว่า สัตว์มนุษย์ คำเดียวก็เกินพรรณนาแล้ว

๕. ทำให้คนอ่านคาดคะเน หรือเดาเรื่องตลอดเวลาจนจบ ด้วยความน่าสงสัย ลึกลับตลอดเวลา ซึ่งคนอ่านอาจไม่มีไอเดียว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป นี่จะทำให้ คนอ่านต้องอ่านจนจบ และเมื่ออ่านจบพวกเขาก็ควรจะได้รับสิ่งที่เหมาะสมตอบแทน
๖. ใช้การอ้างถึงเป็นนัย ๆ โดยอ้างอิงถึงเรื่องธรรมดาที่รู้กันอยู่ เพื่อคุณจะได้ ประหยัดคำในการเขียน อ้างอิงถึงประวัติศาสตร์ หรือใช้เหตุการณ์ที่มีชื่อเสียง ในวรรณกรรม ถ้าเรื่องเกิดขึ้นบนเรือไททานิค คุณไม่จำเป็นที่จะต้องบอกว่า อะไรเกิดขึ้นต่อไป อ้างอิงถึงตัวละครเช่น เจมส์บอนด์ เชอร์ลอคโฮล์ม ซุปเปอร์แมน คนเหล่านี้เหมือนเป็นสัญลักษณ์ที่ใคร ๆ ก็รู้จักและสื่อความหมายในตัว

๗. หักมุม เป็นผลต่อเนื่องจากข้อที่ ๕ การหักมุมในตอนจบเป็นเหมือน หมัดเด็ดของการเขียน flash fiction เพราะนักเขียนไม่มีเวลาที่จะสร้างตัวละคร ให้คนอ่านเข้าใจหรือเห็นอกเห็นใจ หรือแสดงพล็อตให้เขาตกพบกับความ พินาศฉิบหายที่มีผลกระทบกับตัวละครมากเพียงพอ การหักมุมในตอนจบ จึงเป็นมีผลกระทบต่อความรู้สึก หรือความคิดของคนอ่านได้คนอ่านคาดไม่ถึง

 

 

 จริง ๆ แล้ว มันก็ไม่มีสูตรสำเร็จในการเขียนที่ตายตัว หรอก มันก็ขึ้นอยู่กับสไตล์ของแต่ละคน สิ่งที่แน่นอนตายตัวในการเขียน ก็คือจำนวนคำนั่นเอง

 


โดย ฟีลิปดา
๒๙ มีนาคม ๒๕๔๘

 

t

 

 

ทักทาย

 

 

ดั่งไฟรัก
 
 

2009 free writing

 
 
 
 

 

  http://www.forwriter.com © 2005 All rights reserved.