นักเขียนหนุ่ม...ความบันดาลใจอันหลากหลาย
วันนี้ไม่อยากเล่าเรื่องเรื่อยเปื่อยไร้สาระครับ เพราะง่วงแล้วหัวตัน คิดอะไรไม่ออก เลยตั้งใจว่าจะเขียนถึงหนังสืออย่างเดียว
และหนังสือที่ผมจะเขียนถึงวันนี้คือหนังสือนักเขียนหนุ่มครับ คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นคัดเลือกและแปล
โดยหนังสือเล่มนี้จะแบ่งออกเป็นบทๆ ตามหัวข้อต่างๆกันไป ซึ่งผมยังอ่านไม่จบครับ ขอสารภาพไว้ตรงนี้ก่อน แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็ยืนยันได้ว่าหนังสือเล่มนี้นั้นดีจริงๆ เพราะหนึ่ง เป็นหนังสือที่ว่าด้วยอุดมการณ์ของนักเขียน ที่มีต่องานวรรณกรรมและการเมือง สังคม ผมว่า ถ้าอ่านเล่มนี้แล้วจะได้อะไรๆมากกว่านิยายรักกุ๊กกิ๊กตั้งเยอะ
อย่างสุนทรกถาของคุณไอแซค บาเชวิส ซิงเกอร์ ที่ผมจะลองยกมาให้คุณๆได้อ่านกันนี้ เป็นหนึ่งข้อความที่ผมเห็นว่าดีมาก ถ้าจะเก็บเอาไปเห็นเป็นจริงเป็นจังก็ได้ หรือจะเห็นว่าเป็นคำเหน็บแนมก็เจ็บแสบเหลือใจจริงๆ
ลองอ่านดูนะครับ
ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีทั้งหลาย ถ้าจะกล่าวกันไปแล้ว ผมมีเหตุผลตั้งห้าร้อยข้อที่จะชี้แจงว่า ทำไมผมจึงเริ่มเขียนหนังสือให้เด็กอ่าน แต่เพื่อประหยัดเวลา ผมอยากจะขอบอกท่านเพียงสิบข้อเท่านั้น
ข้อ 1.เด็กๆอ่านหนังสือ ไม่ใช่อ่านการวิจารณ์ พวกเขาไม่สนใจเสียงถากถางจากนักวิจารณ์
ข้อ 2. เด็กๆไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อค้นหาตัวเอง
ข้อ 3. เด็กๆไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อปลดปล่อยตัวเองจากความรู้สึกผิดหรือเพื่อระงับความกระหายที่จะขบถ หรือเพื่อต้องการขจัดความรู้สึกแปลกแยก
ข้อ 4. เด็กๆไม่สนใจเกี่ยวกับเรื่องจิตวิทยา
ข้อ 5. เด็กๆชิงชังเรื่องทางสังคมวิทยา
ข้อ 6. เด็กๆไม่พยายามเข้าใจค้าฟก้า หรือนวนิยายเรื่อง Finnegans Wake
ข้อ 7. เด็กๆยังคงเชื่อในความดี ครอบครัว นางฟ้า ปีศาจ แม่มด ผี ความมีเหตุมีผล ความแจ่มชัด ความตรงไปตรงมา และเรื่องราวที่ถูกกล่าวหาว่าล้าสมัยต่างๆ
ข้อ 8. เด็กๆรักจะฟังเรื่องราวที่น่าสนใจมากว่าเรื่องการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ การชี้นำหรือเชิงอรรถในหนังสือ
ข้อ 9. เมื่อหนังสือน่าเบื่อ เด็กๆจะหาวออกมาอย่างเปิดเผย โดยไม่มีความรู้สึกลังเลที่จะละอาย หรือหวาดกลัวต่อผู้มีอำนาจ หน้าที่
ข้อ 10. เด็กๆไม่เคยคาดหวังว่า นักเขียนที่เขารักจะเข้ามาปลดปล่อยมนุษยชาติ พวกเขาเป็นเช่นคนหนุ่มสาวที่บริสุทธิ์ และรู้ว่ามันไม่อยู่ในอำนาจที่พวกเขาจะทำได้...เรื่องนี้จะมีก็เพียงแต่พวกผู้ใหญ่เท่านั้นที่ชอบแสดงมายาแบบเด็กๆ
จบแล้วครับ พอผมอ่านจบปุ๊บ ผมก็มานั่งนึกถึงตัวเองปั๊บ และก็เห็นว่า นิสัยการอ่านของผมก็เข้ากับสิบข้อนี้ไม่น้อยเลย
อย่างข้อ1. ผมให้ไปเลยสามดาว เพราะเวลาผมอ่านหนังสือเล่มไหนก็ตาม ผมไม่ค่อยจะสนใจคำโปรยมากหรอกครับ ถ้าหนังสือเล่มนนั้นดีจริง ก็แหม พวกคำนิยมนั่นน่ะ หลอกลวงกันชัดๆ บางเรื่องก็ยกอ้างคนที่มีชื่อเสียงขึ้นเพื่อจูงใจให้คนอ่านซื้อ ซื้อมาแล้วก็ต้องมานั่งปวดหัวผิดหวัง แต่กับบางเรื่องที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์(จากนักวิจารณ์)ว่าไม่ดี ผมไปลองเอามาอ่านแล้ว บางเรื่องก็ให้ความสนุกสนานซะอย่างที่หนังสือที่เขาว่าดีนั้นให้ไม่ได้เลยล่ะครับ
ข้อ 2. ผมไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ แต่ผมให้ 3 ดาว เพราะผมก็ไม่ได้อ่านหนังสือด้วยว่าต้องการค้นหาตัวเองเหมือนกัน ผมอ่านเพราะอยากอ่านครับ
ข้อ 3. ผมให้สามดาวเหมือนข้อสอง เหตุผลเดียวกันกับข้อสองแหละครับ
ข้อ 4. ข้อนี้ผมให้สามดาวเหมือนกัน เพราะผมสนใจเรื่องจิตวิทยาในเวลาเขียน(ถือเป็นหน้าที่ของนักเขียนครับ ไม่ใช่หน้าที่ของนักอ่าน) แต่ในเวลาอ่าน ผมไม่ได้ดูเลยด้วยซ้ำว่ามีจิตวิทยาข้อใดซุกซ่อนเอาไว้ในนิยายที่อ่านหรือเปล่า
ข้อ 5. ผมไม่ถึงกับชิงชังครับ แต่น้อยเล่มมากที่ผมจะอ่านถ้าเป็นเรื่องที่เป็นอะไรเกี่ยวกับสังคมเยอะๆน่ะ ดังนั้นเอาไปเลย สี่ดาว
ข้อ 6. ผมไม่ให้สักดาวครับ เพราะผมไม่รู้จักทั้งสองอย่าง ผมไม่ใช่คนประเทศเขานะ จะได้รู้จักน่ะ
ข้อ 7.ข้อนนี้ให้ห้าดาวพลัสไปเลย เพราะผมเชื่ออย่างเต็มเปี่ยม น่าแปลกไหมครับ ทุกวันนี้ผมยังเชื่อนิทานและชอบที่จะอ่านนิทานอยู่เป็นประจำ เหอ เหอ
ข้อ 8. เอาไปห้าดาวครับพลัสครับ ผมเป็นอย่างนั้นจริงๆแหละ ไม่มีผิดหรอก
ข้อ 9. เอาไปห้าดาวเฉยๆ ผมเป็นอย่างนั้นจริงๆ หาวปากกว้างมากๆเลยด้วย จะมียกเว้นก็แต่ ไม่มีอะไรจะให้อ่านแล้ว ถึงจะอ่านหรอก
ข้อ 10. ข้อนี้ผมไม่ค่อยเข้าใจครับ แต่ผมก็ไม่เคยคาดหวังอะไรแบบนั้น ดังนั้น ผมให้สามดาว
ตกลงว่าผมนี่เข้าข่ายนักอ่านที่มีสมองระดับเด็กอยู่ว่างั้นเถอะครับ ฮ่า ฮ่า