หนึ่งวันที่นอนตื่นสายกับนิยาย"สู้ชีวิต"
"... กับผู้ที่เรารัก ให้แสนรักอย่างไรก็ต้องลา"
(ทมยันตี, กว่าจะถึงวันนี้ของทมยันตี, สนพ.ณ บ้านวรรณกรรม, 2548.)
วันนี้ผมนอนตื่นสาย
สายขนาดที่ว่าห้องนอนร้อนจนทนนอนไม่ได้ นั่นแหละผมถึงได้ลุกมานั่งสะลึมสะลือในห้องน้ำต่อ ผมนั่งเฉยๆครับ ไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะห้องน้ำมันเย็นดีแค่นั้น
แล้วระหว่างที่ผมนั่งคิดอะไรสะระตะนั้น ผมก็มีความคิดบางอย่างพุ่งแวบเข้ามาในหัวสมอง และก่อนที่ผมจะทันคว้ามันไว้ในกำมือ ความคิดนั้นก็แตกโพล๊ะไปอย่างน่าเสียดาย รู้งี้ผมน่าจะพกสมุดบันทึกไปด้วยก็ดี
การมีสมุดบันทึกที่ติดตัวไว้ตลอดนี่ดีนะครับ ตำราที่แนะแนวทางการเขียนหนังสือส่วนใหญ่เขาก็แนะนำให้เรามีสมุดพกติดตัวไว้เล่มหนึ่งเสมอ เพื่อที่ว่าเวลามีความคิดอะไรโผล่เข้ามา หรือได้พบเห็นอะไรที่ประทับใจ เราจะได้บันทึกมันลงไป
เหมือนอย่างวันนั้นผมไปกินปลาเผา บรรยากาศในร้านตกแต่งไว้อย่างเป็นธรรมชาติ ผมก็นั่งคุยกับเพื่อนไปเรื่อยเปื่อยตามประสาคนไม่มีสาระ สักพักหนึ่ง ผมก็คิดถึงหนังสือที่ฮอร์คกิ้งเขียน ซึ่งมันโยงเข้ากับเรื่องที่เพื่อนผมพูด มันก็เลยโน๊ตไว้ที่กระดาษทิชชู่ว่า ลูกศร ซึ่งผมสามารถนำมาขยายความต่อได้ว่า
ลูกศรแห่งกาลเวลาชี้จากอดีตไปสู่อนาคต ไม่เคยชี้จากอนาคตคืนสู่อดีต
นี่คือข้อเท็จจริงครับ และมันมีอะไรที่เป็นความจริงมากกว่านี้ ซึ่งต้องไปหาอ่านกันเอาเองในหนังสือ บทสรุปย่อของกาลเวลา
และอีกหนึ่งคำที่ผมจดลงไปในกระดาษทิชชู่คือ คำว่ารังนก
ระหว่างที่ผมกับเพื่อนคุยกัน จู่ๆเพื่อนผมก็สังเกตเห็นรังนกกระจาบที่เขาแขวนห้อยอยู่ เพื่อนผมก็ถามว่านั่นคือรังนกกระจาบใช่ไหม ทุกคนก็ตอบว่าใช่ เพื่อนผมก็เลยพูดอีกว่า นกนี่เก่งจังเลย มันเอาหญ้ามาสานทีละเส้น ทีละเส้นจนสำเร็จเป็นรัง ทีแรกผมไม่คิดอะไรหรอกครับ ผมก็นึกในใจว่า เออ...รู้แล้ว ทำเป็นตื่นเต้นไม่เคยเห็นไปได้ แต่ด้วยวิสัยนักอยากเขียนทำให้ผมต้องกลายเป็นนักคิดไปด้วย ผมเลยคิดไปต่อว่า ที่เพื่อนผมพูดนั้นก็ถูก ผมเคยอ่านจากที่ไหนสักที่ว่านกสร้างรังด้วยการสานสอดเส้นหญ้าทีละเส้น มันสร้างรังได้พอให้มันนอนโดยที่มันใช้เวลาในการทำแค่วันเดียวเท่านั้น
หนึ่งวันต่อรังหนึ่งรัง คุณคิดว่าวันนั้นมันต้องบินกี่รอบครับ กว่าจะเสร็จงาน
ผมเลยบันทึกคำว่ารังนกลงไป เพื่อจะได้จดจำได้ว่า ผมมีทัศนคติอย่างไรเกี่ยวกับนก และเผื่อว่าวันหนึ่ง ผมจะคิดคำดีๆ ประโยคหรูๆเกี่ยวกับมันออก แล้วผมจะได้ใส่ลงไปในนิยาย
นี่แหละครับ วิธีการไปสู่การเขียนของผม ผมว่ามันไม่แปลกเลยนะ แต่เพื่อนผมกลับมองผมแปลกๆ และหาว่าผมแปลก ที่จู่ๆ ผมก็ขอกระดาษทิชชู่เพื่อมาจดอะไรยิกๆ
เอ...หรือผมจะเป็นคนแปลกจริงๆครับเนี่ยะ
มาเข้าเรื่องที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ดีกว่า
เมื่อวานผมละเลยการบันทึกการอ่านมาวันหนึ่ง ผมไม่ได้รู้สึกว่าบาปกรรมอะไรหรอกครับ แค่ว่าไม่ได้ฝึกปรือฝีมือไปวันหนึ่งก็กลัวว่าฝีมือจะตก สตีเฟ่น คิงส์ แบ่งนักเขียนออกเป็นห้าระดับ(ถ้าจำไม่ผิด) คือระดับเลว พอใช้ ดี ยอดเยี่ยม และระดับเทพ เขาบอกว่านักเขียนระดับเทพนั้นคือคนที่พระเจ้าสร้างมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ส่วนระดับเลวนั้น คือคนที่ไร้พรสวรรค์โดยสิ้นเชิง นักเขียนชั้นเทพไม่อาจจะลดลงมาได้ ในขณะที่นักเขียนระดับเลวก็ไม่อาจจะทะยานตัวขึ้นไปได้ จะมีก็แต่นักเขียนระดับพอใช้ ดี และดีมากเท่านั้น ที่สามารถแลกอันดับกันได้ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการฝึกฝน ผมเองไม่ใช่ระดับเลวและระดับเทพอย่างแน่นอนครับ แต่ผมก็มีความหวังว่าผมจะได้เป็นระดับดีมาก ซึ่งนั่นหมายความว่า ผมจะต้องฝึกฝนตัวเองอย่างหนัก เพื่อไม่ให้ความหวังเป็นแค่ความหวังลมๆ
เพ้อเจ้อไปไกลอีกแล้ว กลับมาถึงหนังสือที่จะเล่าจริงๆแล้ว คือผมอ่านหนังสือจบไปก็ประมาณสามเล่มแหละครับ แต่ผมอยากจะเล่าถึงหนังสือ สู้ชีวิต (The true story of Lilli Stubed) ของ เจมส์ อัลดริดจ์ คุณสาลินี คำฉันท์เป็นผู้แปล สนพ.ผีเสื้อ ราคา 119 บาท ได้มาจากธาร่าบุ๊คส์เซ็นเตอร์อีกเช่นเคยครับ
ผมเป็นคนชอบวรรณกรรมเยาวชนอยู่แล้ว เรื่องไหนที่เขียนไว้ให้เด็กอ่านผมก็อ่านเรียบไม่มีเหลือ ดังนั้นเมื่อหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือผม แม้ผมจะไม่ได้เลือกหยิบมาอ่านเป็นเล่มแรกๆ แต่ผมก็ตั้งใจไว้แล้วว่าจะต้องอ่านให้จงได้
และเมื่อได้อ่านแล้ว ผมก็หลงใหลไปกับเรื่องนี้เมื่อเรื่องผ่านไปได้แค่ครึ่งบทแรกเท่านั้น น่าทึ่งไหมล่ะครับ
นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของเด็กหญิงคนหนึ่งชื่อลิลลี่ ลิลลี่เป็นเด็กยากจน เป็นพวกเร่ร่อน เธออยู่กับครอบครัวที่ไม่เคยเอาใจใส่ลูกๆเลย จนกระทั่งวันหนึ่ง เธอได้เจอเพื่อนที่ดีและได้เศรษฐีนีชรามาอุปถัมภ์ค้ำชู แต่ทุกอย่างคือการแลกเปลี่ยน ผมไม่ค่อยเข้าใจหรอกนะครับว่าทำไมเรื่องนี้ถึงตั้งชื่อเป็นไทยว่าสู้ชีวิต จนกระทั่งผมอ่านจบ ผมจึงได้รู้ว่า สู้ชีวิตนั้น คือการสู้กับอะไร
ลิลลี่สู้กับจิตใจของตัวเธอเองมาตลอดทั้งเรื่อง มีจุดวิกฤตมากมายเกิดขึ้นกับเธอ ที่สามารถทำให้เธอเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ อย่างเมื่อครั้งที่เธอแปรสภาพจากเด็กร่อนเร่มาเป็นคนของมิสดัลกลิช หรือเมื่อครั้งที่แม่ของเธอตาย จนกระทั่งวิกฤตสุดท้ายคือการตายของมิสดัลกลิชเอง แต่ลิลลี่คือลิลลี่ที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ผมอ่านไป ผมทั้งเศร้าและมีความสุข ในขณะเดียวกันผมก็เกลียดลิลลี่พร้อมๆกับที่รักเธอ ลิลลี่เหมือนคนน่าสงสาร แต่ผมว่าเธอมีความกล้าแกร่งมากกว่าใครหลายๆคน เธอมั่นใจ และเธอคือตัวเธอเอง ไม่ได้แปลกเปลี่ยนไปเลยตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบ
ผมติดใจอีกเรื่องหนึ่งคือการตายของมิสดัลกลิชและแม่ของลิลลี่ ลิลลี่มีปฏิกิริยาต่อการตายทั้งสองครั้งนี้อย่างเฉยชา แต่ภายใต้ความเฉยชานั้นเธอแสดงออกมาให้เราได้เห็นแล้วว่าเธอมีความปวดใจ
อย่างเมื่อคราวที่แม่เธอตาย เธอก็รื้อสิ่งของทั้งหมดออกมาเผา
หรืออย่างคราวที่มิสดัลกลิชตาย เธอก็ปฏิเสธที่จะรับมรดกมหาศาลและหนีไปในที่สุด
ในความเห็นของผมอันเกิดมาจากประสบการณ์ของผมเอง ผมว่า ลิลลี่ทำอย่างนี้ก็เพื่อจะได้ไม่มีอะไรให้รำลึกถึงความหลังอันน่าเจ็บปวด ความรักความห่วงใยที่มาพร้อมโซ่พันธนาแสนร้อน ความรวดร้าวที่มาพร้อมกับความปรารถนาดีนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครยากจดจำ แต่ผมเชื่อว่า ถ้าลิลลี่เป็นคนจริงๆ ถ้าเธอคือคนที่ยังคงต้องดำรงชีวิตต่อไป เธอจะไม่มีวันลืมแม่และมิสดัลกลิชได้เลย
ผมมั่นใจอย่างนั้นได้ยังไงไม่รู้ครับ
http://forwriter.com/mysite/forwriter.com/webboard/question.asp?QID=1089
:ไนติงเกล:
ก่อนหน้า ต่อไป
|
|