ฟีลิปดา
11 ก.ค. 59
เวลา 10:01:00
พิมพ์
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน |
สวัสดีวันจันทร์ที่ ๑๑ กรกฏาคม ๒๕๕๙ ค่ะ ผ่านสัปดาห์ที่แล้วมาอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ได้ทำก็คือ ออกแบบปก สำหรับนามปากกา ม่านราตรี แล้ว ไปเปลี่ยนปกอีบุ๊กสองเรื่องที่ mebmarket เจอเฟซบุ๊กเตือนมาถึงลิงค์เด็กดี ที่พี่ฟีเอาเรื่องคืนรักพิศวาศแค้น ไปลงเอาไว้ เลยเอาเรื่อง คลื่นทรายใต้แสงดาว ไปลงประชาสัมพันธ์เพิ่ม แต่คลื่นทรายอาคินระรินดาวนี้ เป็นเล่มหมดไปแล้ว จะมีก็แต่อีบุ๊ก ^--^ งานรีไรต์เรื่อง คืนรักพิศวาสลวงก็ได้ไปเกินครึ่งแล้ว เมื่อวานก็ไปซื้อสมุดปกอ่อนมา 13 เล่ม จะเอามาทำไรไม่รู้ ฮ่าๆๆๆ แต่อยากได้ อยากซื้อ ก็คงจะเอามาจดพล็อต ทำเรื่อง หาไอเดีย นวนิยายที่จะเขียน แต่ละเรื่องนั่นแหละ ฮ่าๆๆๆ ต้องได้ใช้มันเนอะ ^--^
เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ผ่านไปในสัปดาห์ที่แล้ว ก็เหมือนหนึ่งเป็นการบันทึกชีวิตตัวเองไปด้วย ^--^
คิดไปถึงคำถามที่เคยได้รับจากนักอ่านอยากเขียนใหม่ๆ มักจะมีปัญหาเรื่อง การเขียนบรรยาย คิดถึงตัวเองตอนเขียนเหมือนกันค่ะ มันเหมือนจะเป็นปัญหาตอนลงมือเขียนจังเลย แต่พอได้ลงมือเขียนแบบ ช่างเถอะเขียนไปก่อน เรื่องของบรรยาย ก็เลยพอง่ายไปเลย ^--^
มาดูการเขียนลงไป 2 รูปแบบ การเขียนบรรยาย... เป็นการเขียนถึงสิ่งที่อยู่กับที่ เช่นบรรยายสภาพห้องสมุดเก่าๆ ในบ้าน มีชั้นหนังสือที่อัดแน่น มีฝุ่นหนา พรมชื้นส่งกลิ่นเหม็น ไฟตรงเพดานก็ฝุ่นจับ มีโซฟาเก่าๆ อยู่หน้าชั้นหนังสือ มีเก้าอี้ใกล้กับม่านสีเขียว ฯลฯ วิธีบรรยายก็จะเอาจากไกลสายตา มาใกล้ หรือจากใกล้มาไกล หรือจากซ้ายไปขวา กลับกัน เวลาเขียนก็ให้อรรถรสครบสัมผัสทั้งห้า (ไปหารูปมาประกอบแล้วบรรยายตามนั้น) การเขียนเล่าเรื่อง เป็นการเขียนถึงสิ่งที่เคลื่อนไหว มีบางอย่างเกิดขึ้น ผู้หญิงในชุดขาว เปิดประตูเข้าไปในห้องสมุด เดินตรงไปที่ชั้นทางขวามือ เขย่งตัวหยิบหนังสือ หนังสือตกใส่หน้า ร้องโอ๊ย คลำใบหน้า มองหนังสือที่ตกพื้น ปกหนังสือหลุดไปอยู่ใต้เก้าอี้ เธอคุกเข่ายื่นมือเข้าไป แล้วบางอย่างก็ดึงมือเธอเอาไว้!!!
เราจะเห็นการเขียนบรรยาย ซึ่งทำให้เห็นภาพ สิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่ถ้าหากมันไม่มีอะไรเคลื่อนไหว บอกเล่าเรื่องราว มันก็จะขาดความน่าสนใจ แต่ถ้าเขียนเล่าเรื่องอย่างเดียว มันก็ขาดเวทีให้ตัวละครอยู่
การเขียนจึงควรจะเอาสองอย่างนี้มารวมกัน ให้ผู้หญิงเดินเข้าไปในห้อง ให้เธอบอกเล่าสิ่งที่เธอได้เห็น ได้ยิน ได้จับ ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ผ่านการกระทำ และความคิดของเธอเอง ซึ่งถ้าทำด้วยวิธีการนี้ มันก็ง่ายในการบรรยาย เพราะมันจะกลับไปกลับมาก็ได้ตามที่เธอเห็น เธอจะเห็นอะไรก่อนหลังก็ได้ แล้วแต่ความช่างสังเกตของเธอ
การเริ่มต้นเขียน ควรคิดถึงสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ก่อน หากจะเริ่มโดยสิ่งที่เคลื่อนไหวไม่ได้ ก็อย่าให้มากหรือนานเกินไป เหมือนคนจะไปดูหนังรัก แต่พอเริ่มก็ไปถ่ายภาพทิวทัศน์อยู่ กลายเป็นสารคดีแทนซะครึ่งเรื่องอย่างนั้น
ก็ไปลองฝึกเขียนดูนะคะ พี่ฟีไม่ได้ทำตัวอย่างให้ เวลาอ่านหนังสือก็ลองสังเกตดูนะคะว่า สไตล์ของนักเขียนของแต่ละคนเขียนแบบไหน
มีความสุขในการอ่านการเขียนค่ะ ฟีลิปดา ^--^
|