forwriter.com
Book in My life By Nightingale
 

                                                          

 

กาลครั้งหนึ่งเมื่อวัยเยาว์กับเส้นทางนักประพันธ์

 

ครั้งหนึ่ง เมื่อผมยังเด็ก ผมได้เข้าเรียนอนุบาลที่โรงเรียนวัดไก่เตี้ย ที่จ.ปทุมธานี

ภาพของโรงเรียนวัดไก่เตี้ยนั้นยังคงฝังติดในใจผมไม่เคยคลาย มันเป็นบรรยากาศเก่าๆที่สามารถหวนกลับไปได้ในสำนึก และได้เรียนรู้ว่านั่นคือรากอ่อน ก่อนที่รากจะยาวเหยียดออกมาเพื่อค้ำชูผมในวันนี้

โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนวัด สิ่งสำคัญสองอย่างที่โรงเรียนนี้มีคือ วัด และแม่น้ำ โดยถ้าเราหันหน้าเข้าไปทางอาคารเรียน ถัดหลังอาคารเรียนจะเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนด้านขวา จะมีเนินสูงๆเนินหนึ่งเป็นที่ตั้งของวัดไก่เตี้ย

จากประตูโรงเรียนมาถึงอาคารเรียนไม่ไกลนัก เดินแค่ไม่กี่ก้าวก็ถึง แต่ทว่า สมัยก่อนนู้น สมัยที่ผมยังเป็นเด็ก ผมกลับรู้สึกว่ามันช่างไกลแสนไกล และเส้นทางที่ทอดออกไปนั้นก็ยาวไม่รู้จบ สองข้างทางนั้น เป็นหมู่ไม้ที่แผ่เงาครึ้ม จนเมื่อมาถึงสนามโล่งๆหน้าอาคารเรียน ก็จะเห็นเสาธงต้นเตี้ยปักอยู่หน้าอาคารเรียน จุดนี้เองที่เป็นที่ที่เหล่านักเรียนประมาณร้อยคนต้องมาเข้าแถวทุกเช้าและเย็น แต่เด็กอนุบาลจะได้รับสิทธิพิเศษให้เข้าแถวตอนกลางวันด้วย ส่วนผม เนื่องจากเป็นคนตื่นสาย ไม่เคยมาโรงเรียนทัน และชอบกลับบ้านก่อน จึงเข้าแถวแค่ครั้งเดียวคือตอนกลางวันเท่านั้น

อาคารเรียนโรงเรียนวัดไก่เตี้ยในสมัยผมนั้น เป็นอาคารไม้สองชั้น ยกพื้น มีห้องเรียนทั้งหมดประมาณยี่สิบห้อง ทางขวาของอาคารเรียนนั้นจะมีสนามเด็กเล่น เครื่องเล่นจำพวกชิงช้า ม้าหมุน ก็จะตั้งอยู่ตรงนั้นให้เด็กๆได้เล่นด้วยกัน ซึ่งบ่อยครั้งก็กลายเป็นแย่งกันไป

และหากเดินเลยสนามเด็กเล่นเข้าไปอีก ก็จะถึงโรงอาหารที่สร้างอยู่ริมแม่น้ำ โรงอาหารนั้นค่อนข้างใหญ่ สร้างจากไม้ทั้งหลังอีกเช่นกัน โดยครึ่งหนึ่งนั้นอยู่บนฝั่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของโรงอาหารก็จะทอดตัวออกไปอยู่เหนือแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนที่อยู่เหนือแม่น้ำนั้น ถูกจำกัดสิทธิไว้ให้เด็กประถม ส่วนเด็กอนุบาลอย่างผม ต้องแอบย่องขึ้นไปตอนที่พวกรุ่นพี่ไม่อยู่ เวลาที่ได้อยู่บนนั้น ช่างดีแสนดี ได้เกาะราวระเบียง (เพราะลงไปที่ท่าไม่ได้ เดี๋ยวครูตี) เห็นสายน้ำไหลจากซ้ายมือไปขวามือ เห็นเรือหางยาว เรืออะไรอีกเยอะแยะที่ผมไม่รู้จักชื่อ กำลังสัญจรไปมา และบางครั้งก็แอบหยอดขนมลงตรงร่องแยกของแผ่นพื้นกระดาน ก็จะเห็นปลามาตอดกินกันจุ๊บจั๊บ จุ๊บจั๊บ

นั่นคือส่วนของโรงอาหาร เมื่อย้อนกลับมาตั้งต้นที่หน้าอาคารเรียนใหม่ ก็จะเห็นว่ามีถนนสายหนึ่งแยกตัวออกไปทางขวาของโรงเรียน ถนนสายนั้นจะลัดหายไปตรงเนินเตี้ยๆลูกหนึ่ง และบนเนินนั้นก็คือที่ตั้งของวัดไก่เตี้ย

ผมเคยขึ้นไปบนวัดนั้นสองสามครั้งครับ ไปกับเพื่อนเพราะจะไปดูสิ่งมหัศจรรย์ของโลกสิ่งหนึ่ง

นั่นคือหนอนผีเสื้อ!

หนอนผีเสื้อที่เพื่อนผมพาไปดูนั้น มันตัวป้อมๆสีเขียวๆ วันๆหนึ่งมันไม่เคยสนใจใครนอกจากกินใบไม้ กินเอา กินเอา โดยไม่สนว่าใครจะมองมันอยู่รึเปล่า

ที่รอบวัดมีหนอนผีเสื้อเยอะแยะไปหมด เพราะรอบวัดนั้นมีแปลงต้นไม้ปลูกไว้ล้อมรอบเป็นชั้นๆ เป็นต้นไม้อะไรสักอย่าง ผมจำชื่อไม่ได้แล้ว รู้แต่ว่ามันเป็นไม้พุ่มเล็กๆ ใบก็เล็ก แถมขอบใบยังเป็นหยัก เวลาเด็ดใบออกมา จะมีน้ำเหนียวๆติดตรงแผล หากเอามาแตะที่นิ้ว ใบไม้นั้นก็จะติดนิ้วเรา ห้อยต่องแต่งเลยทีเดียว

และใบไม้ชนิดนี้เองที่หนอนผีเสื้อแทะกันยกใหญ่ ใบหลายใบจึงไม่มีโอกาสได้ชูสีเขียวๆของมันให้ใครชม แต่อย่างนี้แหละดีแล้ว เพราะระหว่างแค่ให้ความเพลินตากับให้ชีวิตหนึ่งชีวิต การให้ชีวิตย่อมดีกว่าเสมอ แม้ว่าสิ่งมีชีวิตนั้นจะเป็นเพียงหนอนก็ตาม

และพอพวกผมเห็นหนอนผีเสื้อ ก็เลยจับมันเอาไปใส่กล่องเลี้ยง(วัดนะนั่น ไม่กลัวบาปกรรมกันเล้ย!) แต่ผมไม่ได้จับมาด้วยหรอกนะ เพราะไม่มีกล่อง และกลัวว่าตัวเองจะเลี้ยงไม่รอดด้วย

หลังจากวันที่ไปจับหนอนผีเสื้อกัน ผมก็ลืมสนใจความเป็นไปของหนอนผีเสื้อที่เพื่อนๆผมเอาไปเลี้ยงเสียสนิท และถ้าจะบอกว่า เพื่อนผมมันกลับมาเล่าให้ผมฟังว่าหนอนเหล่านั้นเป็นอย่างไรก็คงจะไม่ใช่เรื่องจริง เพราะพวกมันก็ลืมไปแล้วเหมือนกัน

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครลืม และถึงจะลืมแต่ผู้ใหญ่ก็ไม่ยอมลืมนั่นก็คือ พาพวกเรามาส่งที่โรงเรียนวัดไก่เตี้ยทุกๆวัน เว้นวันเสาร์-อาทิตย์ ที่สามารถนอนดูการ์ตูน ดรากอนบอลล์ อยู่บ้านได้

ผมเรียนโรงเรียนวัดไก่เตี้ยในชั้นอนุบาล(และซ้ำชั้นอนุบาลเพราะเข้าก่อนเกณฑ์) ก่อนที่จะริอ่านไปเป็นหงส์ที่โรงเรียนวัดหงส์ปทุมมาวาส ในชั้นประถมศึกษา

จากไก่ ไปเป็น หงส์ และจากหงส์ก็ร่อนลงสู่ทุ่ง

ยังไม่เล่าวันนี้หรอกครับ ขืนเล่าหมดเดี๋ยวไม่มีอะไรเล่าพอดี

วันนี้มาถึงหนังสือที่ผมเพิ่งอ่านจบดีกว่า หนังสือเล่มนั้นคือ เส้นทางนักประพันธ์ ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ผมอ่านแล้วชอบมากๆเล่มหนึ่ง เพราะเป็นการรวบรวมบทความที่คุณเสกสรรค์เขียนถึงนักเขียนชั้นครูชาวต่างชาติ และรวมบทสัมภาษณ์ ทั้งงานวิจารณ์ของคุณเสกสรรค์มาให้อ่านอย่างจุใจ

อ่านแล้วนอกจากจะได้แรงใจในการเขียน ยังได้อุดมการณ์ในการเขียนหนังสือด้วย

นักเขียนที่คุณเสกสรรค์เขียนถึงก็มี เซอร์วานเตส, ดอสโตเยฟสกี้
อันโตน เชคอฟ, เฮมิ่งเวย์ และ จอห์น สไตเบ็ค

โดยนักเขียนคนแรกนั้น เป็นนักประพันธ์ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของการเขียนนิยาย ส่วนคนที่สอง เป็นนักเขียนชั้นนำของรัสเซีย คนที่สามนั้น เป็นนักเขียนเรื่องสั้นที่มีเรื่องสั้นถึง 800 เรื่องตอนเสียชีวิตเมื่ออายุประมาณ 40 ปี ส่วนเฮมิ่งเวย์นั้นก็เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่อง The Old Man and The Sea เช่นเดียวกับคนสุดท้าย ซึ่งได้รับรางวัลโนเบล

คุณเสกสรรค์ได้กล่าวถึงบุคคลต่างๆเหล่านี้ โดยเน้นไปที่งานเขียน และได้ศึกษาประวัติส่วนตัวเพื่ออธิบายบางสิ่งบางอย่างที่เป็นตัวตนของนักเขียนออกมาให้คนอ่านได้รู้ เทคนิคในการเขียน แรงบันดาลใจ อุดมคติ ล้วนแล้วแต่ถูกชำแหละออกมาเป็นส่วนๆอย่างเห็นภาพและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

หนังสือเล่มนนี้จึงมีประโยชน์อย่างมาก ในด้านแรงใจและแรงไฟที่ทำให้เราคิดที่จะสร้างสรรค์ผลงานให้ดีขึ้น

คุณเสกสรรค์กล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า อยากให้เมืองไทยมีนักเขียนมากๆ เขียนหลายๆแนว และทำวรรณคดีให้มีคุณค่าเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆของโลก ผมเองก็อยากจะให้มีเช่นนั้น แต่เวลานี้เหลียวมองดูนิยายในตลาด ก็หาได้ยากที่จะบอกว่าหนังสือเล่มใดควรจัดไว้ว่าเป็นวรรณคดี

:ไนติงเกล:

http://forwriter.com/mysite/forwriter.com/webboard/question.asp?QID=1516

 

ก่อนหน้า                  ต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                                                             

อ่านหนังสือต่างประเทศ
Free E-book
โดยฟีลิปดา
หนังสือของฟีลิปดา

 

๑๐๐ คำถามสร้างนักเขียน
นวนิยายคุณเขียนได้ด้วยตัวเอง

 

ดั่งไฟพิศวาส
นวนิยายรักเร้าอารมณ์
 

 
ดั่งไฟรัก
 


๕๐๕ แคนโต้แห่งความรัก