ช่วงนี้ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเลยครับ หัวไม่แล่น จินตนาการไม่เปิด อ่านไปก็ยากจะรู้เรื่อง
วันนี้เลยฝืนตัวเอง อ่านหนังสือให้จบสองเล่มโดยใช้เวลาตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงค่ำ กว่าจะกู้อารมณืคืนมาได้ ต้องขอบคุรหนังสือทั้งสองเล่มนั้นจริงๆ
วันนี้เข้าเรื่องเข้าราวถึงหนังสือกันเลยดีกว่านะครับ จะได้ไม่ชักช้าเสียเวลา เพราะตอนนี้จะตีสามแล้ว เข้าสู่ปัจฉิมยามแล้วเนี่ยะ (ออ ปัจฉิมยามนะครับ ไม่ใช่ปัจฉิมวัย อย่าเข้าใจผิด)
หนังสือที่จะเล่าถึงในวันนี้ไม่ใช่หนังสือใน "10หนังสือในดวงใจ" นะครับ พอดี หาหนังสือที่จะเอามาเขียนต่อไม่เจอ เลยเขียนถึงหนังสือเล่มอื่นไปก่อน
แม้หนังสือเล่มนี้จะไม่เข้าหิ้งหนังสือในดวงใจสิบเล่มแรก แต่ก็เป็นหนังสือที่ผมชอบอีกเล่มหนึ่ง(เล่มไหนไม่ชอบ ผมไม่ค่อยจะเขียนถึงหรอกครับ) เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลชมเชยประเภทบันเทิงคดีสำหรับเยาวชนก่อนวัยรุ่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ และได้รับคัดเลือกให้เป็น หนึ่งในร้อยเล่มโครงการวิจัยหนังสือดี 100 เล่มที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน หนังสือเล่มที่ผมกำลังกล่าวถึงนี้คือเรื่อง มหกรรมในท้องทุ่ง โดยคุณอัศศิริ ธรรมโชติ
มหกรรมในท้องทุ่ง เป็นนวนิยายที่เล่าเป็นตอนๆ แต่ละตอนนั้นถ้าจะอ่านให้เป็นเรื่องเดียวกัน เชื่อมต่อกันก็ได้ แต่ถ้าจะอ่านแยกเดี่ยวๆ ไม่เป็นเรื่องต่อเนื่องกันก็ได้อีกเหมือนกัน เพราะคงสภาพของนิยายกึ่งเรื่องสั้นเอาไว้อย่างครบถ้วน เรียกว่า จบในตอน
การเขียนเรื่องราวให้ จบในตอน แล้วคนอ่านอยากอ่านต่อนั้น ผมมีความเห็นว่า ทำได้ยากกว่าการเขียนนวนิยายอย่างให้ความต่อเนื่องกัน เพราะถ้าหากว่าฝีมือไม่ถึง เรื่องราวไม่น่าสนใจจริงๆ คนอ่านก็จะอ่านแค่ตอนแรกแล้วก็ปิดหนังสือ ไม่อ่านต่ออีกเลย แต่กับมหกรรมในท้องทุ่งนี้ คุณอัศศิริได้แสดงฝีมือไว้ถึงที่ เพราะเมื่ออ่านตอนแรก "ทองแดงต้นฤดูฝน" คนอ่านอย่างผมก็ติดหนับและอยากอ่านตอนต่อไปเรื่อยๆจนจบ
เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็นทั้งหมดสิบเอ็ดตอนด้วยกัน แต่ละตอนนั้นก็จะเกี่ยวพันกับการละเล่นพื้นบ้านของเด็กๆบ้านไร่ทั้งสิ้น(เว้นตอนที่สิบเอ็ด ซึ่งเป็นบทส่งท้าย "ลาก่อน-บ้านไร่")โดยคนอ่านจะเห็นสิ่งต่างๆได้โดยมองผ่านการกระทำและความรู้สึกนึกคิดของเด็กๆอย่างเพชร หย่องคู้ และตัวละครผู้ใหญ่อย่างพ่อ ครูใหญ่ เฒ่าเฟิ้ม
คุณอัศศิริได้นำคนอ่านให้เข้าสู่ความเรียบง่ายของวิถีชีวิตเด็กบ้านไร่ก่อน จากนั้นจึงค่อยสอดแทรกปัญหาทางสังคมเล็กๆน้อยๆ เช่น การตัดไม้ การสร้างเขื่อน ให้ผู้อ่านได้คิด โดยใช้วิธีการ "ซึม" มากกว่าการ "ยัดเยียด" ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่ให้ผล เพราะคนเรานั้น เมื่อมีปัญหาก็ต้องการคำตอบ เมื่อผู้เขียนไม่ยอมให้คำตอบปรากฏบนหนังสือแล้ว ผู้อ่านก็ต้องหาคำตอบเองเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับตัวเอง นี่เป็นกลทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งซึ่งใช้ได้ดีกับงานเขียน
ผมจะลองหยิบตัวอย่างเรื่องการตัดไม้ก็แล้วกัน
ในตอน "ลูกข่าง" เพชรได้เล่นลูกข่างซึ่งแกะมาจากไม้เล่นกับเพื่อนๆ แล้วลูกข่างนั้นก็แตก เลยไปขอให้พ่อช่วยทำลูกข่างใหม่ให้ โดยพ่อจะใช้ไม้ตะโก ซึ่งเป็นไม้เนื้อดี ลูกข่างแตกยาก แต่ไม่ตะโกนี้เป็นไม้ต้องห้าม พ่อเลยไปขออนุญาตผู้ใหญ่บ้าน-เฒ่าเฟิ้มว่าจะตัดกิ่งไม้ตะโกสักกิ่งหนึ่ง และเมื่อพ่อไปขออนุญาต เฒ่าเฟิ้มก็ได้ให้คำตอบที่ทั้งสะใจและสะเทือนใจมาว่า
"พัดธ่อ!...เรื่องแค่นี้เสียเวลาเดินมาบอก เชิญตามสบายเถิดถ้าไม่ไปเผาไปโค่นมัน แต่ไอ้พวกนั้นน่ะ" เฒ่าเฟิ้มชี้มือ "มันบอกใครมั่งรึเปล่า"
และเพียงแค่ประโยคสั้นๆ ก็มีเรื่องให้เก็บมาคิด(และน่านำไปเขียนนิยายต่อ)อีกเรื่องหนึ่ง
มหกรรมในท้องทุ่ง เป็นเรื่องราวที่มีความงดงามอยู่ในตัวเอง ถ้อยคำที่ใช้นั้นล้วนชัดเจน (แม้บางครั้งจะต้องอ่านหลายครั้งถึงจะเข้าใจก็ตาม) และตรงเป้าเป็นที่สุด เหมาะสำหรับที่จะหยิบขึ้นมาอ่านเล่นในวันที่อากาศดีๆสักวัน
http://forwriter.com/mysite/forwriter.com/webboard/question.asp?QID=1689
:ไนติงเกล:
ต่อไป