ถนนนักเขียนของเออร์สกิน คอลด์เวลล์
มีคนมากมายใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักเขียน
แต่ในจำนวนคนมากมายนั้น มีคนที่พยายยามฝึกฝนตนเองให้เป็นนักเขียนได้แค่ครึ่ง
และในจำนวนที่มาฝึกฝนการเขียนนั้น ก็ได้บรรลุจุดมุ่งหมายที่แท้จริงเพียงไม่กี่คน
งานเขียนจึงเป็นงานที่ง่ายและยากไปพร้อมๆกัน
ผมเพิ่งอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ของเออร์สกิน เพรสตัน คอลด์เวลล์ จบเมื่อประมาณยี่สิบนาทีก่อน และพอหน้าหนังสือปิดลง ข้อคิดบางอย่างก็ยังวนเวียนอยู่ในสมองผมไม่ยอมหยุด และผมจะต้องหาทางระบายออกมาให้ได้
ถนนนักเขียนนี้ ได้บอกเล่าถึงเส้นทางการเป็นนักเขียนของคอลด์เวลล์ จากจุดต่ำขึ้นมาสู่จุดสูง ภายในเรื่องนี้มีเคล็ดเยอะแยะมากมายที่หากจะลองจับจุดให้ดีแล้ว ก็จะรู้ว่าเอาไปใช้ได้เลย แต่ เคล็ดลับนักเขียนใดๆก็ไม่สำคัญเท่าแก่นเรื่องที่ ถนนนักเขียน ได้นำเสนอ แก่นนั้นคือ ความเพียงพยายาม
คอลด์เวลล์เริ่มต้นการเขียนตั้งแต่เด็ก แต่เส้นทางการเขียนของเขาไม่ได้ง่ายดายอย่างที่ใครๆจะคิด หากเป็นไปในทางตรงกันข้าม คอลด์เวลล์ต้องเริ่มต้นจากการไม่เป็นที่รู้จักของใครๆ แล้วเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ด้วยการเขียนข่าวเล็กๆ และพัฒนาขึ้นจนเขียนข่าวใหญ่ๆพร้อมกับเขียนวิจารณ์หนังสือไปด้วย การทำงานของเขานั้นก็เริ่มต้นจากไม่ได้เงินเลยสักบาทจนกระทั่งได้ค่าเรื่องบ้าง และเมื่อวันที่สมองกับสองมือพร้อม เขาก็ละทิ้งจากอาชีพนักเขียนและหันหน้าเข้าสู่ดินแดนแห่งการประพันธ์อย่างเต็มตัว
คอลด์เวลล์ตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าเขาจะต้องเป็นนักประพันธ์ที่มีผลงานตีพิมพ์ออกมาให้ได้ภายในสิบปี จากนั้นเขาก็ทุ่มเทเขียนเรื่องสั้นอย่างไม่หยุดหย่อน แล้วลองส่งไปตามสำนักพิมพ์ต่างๆ แต่ก็ไม่มีใครยินดีต้อนรับงานเขียนของเขาเลย เรื่องสั้นหลายสิบเรื่องถูกปฎิเสธจนน่าท้อ แต่เขาไม่เคยท้อ เขายังคงเพียรเขียนต่อไปไม่หยุดยั้ง และเมื่อวันเวลาและโอกาสของเขามาถึง เรื่องสั้นเรื่องแรกของเขาก็ถูกค้นพบ
พอเรื่องสั้นเรื่องแรกออกไปได้ เรื่องต่อๆไปก็ไม่ยากที่จะมีคนซื้อ ในที่สุด เรื่องสั้นมากมายที่เคยขายไม่ออกก็ขายออก สำนักพิมพ์ที่เคยดูถูกเขาก็ต้องยอมรับงานเขียนเขาให้ได้รับการตีพิมพ์
และเมื่อคอลด์เวลล์ประสพความสำเร็จจากเรื่องสั้น เขาก็เบนเข็มเข้าสู่การเขียนนิยายอย่างจริงจัง ด้วยประสบการการเขียนที่สั่งสมมานานตั้งแต่เด็กและการแก้ไขดราฟสองครั้ง ทำให้งานเขียนของเขาได้ลงตีพิมพ์โดยไม่ต้องแก้ไขแต่อย่างใดเลย
และเมื่อนิยายของเขาลงตีพิมพ์แล้ว เสียงวิจารณ์ทั้งหลายแหล่ก็เทเข้ามาไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็นด้านดีด้านร้าย ซึ่งเขาไม่เคยเตรียมใจรับมาก่อนก็ต้องรับ และก็คิดได้ในที่สุดว่า ไม่จำเป็นต้องใส่ใจ นักเขียนมีหน้าที่เขียนก็ต้องเขียนต่อไป
คอลด์เวลล์บ่ยเสียดายว่า ครั้งหนึ่งเขาปล่อยเวลาไปกับการละคร ทั้งที่ขายเรื่องให้ผู้จัดการละครไปแล้ว แต่เขาก็ยังถูกร้องขอให้เข้าไปช่วยเหลือดูแลและให้คำแนะนำ ซึ่งนั่นทำให้เขาไม่มีเวลากลับไปเขียนเรื่องต่างๆของเขาอย่างที่ควรจะเป็น
คอลด์เวลล์เป็นพวกไม่ติดที่ เขาชอบท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ เพื่อเรียนรู้ชีวิตผู้คน คอลด์เวลล์นิยมเขียนงานแบบที่ใส่จิตวิญญาณและความเป็นตัวตนของตัวละครมากกว่าเทคนิคพิศดารใหม่ๆ วิธีเขียนของเขาจึงโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และด้วยลักษณะพิเศษนี้เอง ในที่สุด เขาก็ได้รับผลสำเร็จตามที่เขาต้องการ คือการเป็นนักประพันธ์
เคยมีคนถามคอลด์เวลล์ว่า เขาจะให้คำแนะนำนักเขียนใหม่อย่างไร เขาตอบว่า
"เตรียมตัวเตรียมใจสำหรับงานเขียน โดยถือว่าใครก็ตามที่ปรารถนาความสำเร็จในวิชาชีพนี้ ย่อมจะต้องมีความอดทนต่อการฝึกฝนสักระยะหนึ่ง... พวกหมอ ทนายความ คนทำขนมปัง ช่างเครื่องยนต์ วิศวกร และช่างพิมพ์ ต้องเรียนรู้เรื่องงานของเขาโดยการฝึกฝนหาความชำนาญก่อนเสมอ... ก็แล้วทำไมนักเขียนจะอยู่ในข่ายยกเว้นเล่า"
เออร์สกิน เพรสตัน คอลด์เวลล์ เกิดเมื่อ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1903 และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อ 11 เมษายน ค.ศ. 1987
:ไนติงเกล:
ก่อนหน้า ต่อไป