forwriter.com

 
ห้องแรลลีน้องพี่

 

สัมภาษณ์นักเขียนแรลลี โดย ฟีลิปดา

 

 

คุณรัชนีกานต์

เจ้าของผลงาน " เคราะห์ร้ายของชายหนุ่ม"

 

1.   ตอนเด็กๆ คุณสนใจการอ่านและการเขียนไหม? แล้วคุณชอบอ่านอะไร?

จำได้ว่าช่วงเรียนมัธยมต้นค่ะ อ่านหนังสือบางกอกของแม่ ชอบเสนีย์ บุษปะเกศ อรชร ตรี อภิรุม  ถ้าเป็นหนังสือพ๊อกเก็ตบุ๊ค ก็ชอบนราวดี วลัย นวาระ ค่ะ แล้วถ้าเป็นหนังสือจีนกำลังภายใน จะรออ่านของพ่อค่ะ ท่านจะซื้อมาคราวเดียวเป็นลัง ๆ เรื่องหนึ่งก็ตกประมาณสิบถึงสิบสองเล่มจบ ปกหนา ๆ หน่อย สำหรับแนวนี้ อ่านได้หมด ไม่เจาะจงว่าใครเป็นคนแต่งหรือคนแปล เคยอ่านเรื่องฮุ้นปวยเอี๊ยง ก่อนช่อง 3 จะนำมาฉายทางทีวีในยุคนั้น สนุกมากค่ะ หรือแม้แต่เพ็กฮวยเกี่ยม ลี้คิมฮวง ก็ได้อ่านก่อนจะดูทางทีวีเหมือนกัน
บางทีตัวเองอาจจะชอบการเขียนก็ได้ค่ะ เพียงแต่ช่วงเวลานั้นเราอาจยังไม่รู้ตัว สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ การเขียนเรียงความได้ดี บรรยายได้คล่อง ได้คะแนนดีในวิชาภาษาไทยเสมอค่ะ หมายถึงเฉพาะเรียงความนะคะ จากนั้น ก็น่าจะเป็นการเขียนบันทึกประจำวันค่ะ เขียนได้ทุกวัน แต่จุดประสงค์ที่เขียนในเวลานั้น กลับไม่ใช่อยู่ที่การชอบเขียน แต่กลับไปตกอยู่ที่การคัดลายมือค่ะ เพราะอยากลายมือสวย เลยต้องเขียนให้เยอะ ๆ เข้าไว้

 

2.   เมื่อไหร่ที่คุณรู้ตัวว่าสนใจงานเขียน?

ยังอยู่ในช่วงมัธยมต้นเหมือนเดิมค่ะ.. ในคืนหนึ่งของเดือนธันวาคม.. นอนไม่หลับค่ะ ก็เลยหยิบสมุดบันทึกขึ้นมาเขียนบทละครสำหรับแสดงปีใหม่ให้เพื่อน ๆ ค่ะ ก็เดาว่าตัวเองเขียนอย่างอื่นได้ ไม่ใช่เฉพาะเรียงความหรือบันทึกประจำวัน เลยเริ่มหันมาสนใจความแปลกใหม่ของตัวเอง แต่ยังไม่เขียนอะไรจริงจังค่ะ เพราะพอเขียนบทการแสดงสั้น ๆ ครั้งนั้นแล้ว ก็ทิ้งไปเลย ไม่เคยเขียนอีกเลยค่ะ

 

3.   ครอบครัวของคุณมีอิทธิพลต่อการเขียนของคุณไหม? อย่างไร?

ไม่มีเลยค่ะ..

 

4.    อะไรที่คุณเขียนเป็นครั้งแรก เคยให้เพื่อนๆ หรือครอบครัวอ่านไหม พวกเขาคิดว่าอย่างไร?

เหลือเพียงฝัน.. เป็นงานเขียนครั้งแรกค่ะ เขียนด้วยลายมือลงในกระดาษฟุลสแก๊ปประมาณสี่หน้า ให้เพื่อนอ่านค่ะ เพื่อนคนนี้ไม่ชอบอ่านงานเขียนที่ไม่มีภาพ แต่ก็ยอมอ่าน แล้วชมว่าบรรยายดี เห็นภาพ
ความรักของเพชรา.. เป็นงานเขียนด้วยการพิมพ์เครื่องพิมพ์ดีดค่ะ พิมพ์ลงกระดาษฟุลสแก๊ป ได้ประมาณยี่สิบหกหน้าค่ะ ให้เพื่อนอีกคนอ่าน ผ่านไปสองวันเธอนำกลับมาคืน แล้วบอกว่า.. " เขียนอะไร อ่านไม่รู้เรื่อง "
ก็เลยนำไปให้เพื่อนอีกคนอ่านค่ะ เธอคนนั้นก็บอกว่า " อ่านแล้ว อิจฉาเพชรา อยากมีความรักอย่างเพชราบ้าง " ก็เลยได้คิดค่ะ คนอ่านมีมุมมองในการอ่านที่แตกต่างกัน เราคงตามไปเครียดกับความรู้สึกคนอ่านทุกคนไม่ได้ ก็เลยถามไปคำเดียวค่ะว่า " อ่านแล้วเหมือนนิยายหรือเปล่า " ทั้งสองคนตอบว่า " เหมือน " เท่านั้นก็พอใจค่ะ

5.    มีใครที่คอยกระตุ้นหรือคุณคิดว่ามีส่วนช่วยเหลือในการไล่ล่าความฝันของการเป็นนักเขียนไหม?

ไม่มีค่ะ.. งานเขียนทุกชิ้น มักจะพุ่งเป้าสั้น ๆ แค่ว่าเขียนจบแล้ว จะให้เพื่อนอ่านเท่านั้นค่ะ

 

6.     ทางบ้านของคุณได้อ่านหนังสือที่คุณเขียนบ้างไหม และเคยมีส่วนร่วมในการออกความเห็นเกี่ยวกับโครงเรื่องไหม?
ไม่เคยเลยค่ะ..

 

7.    คุณมีวิธีเขียนนวนิยายเรื่องเคราะห์ร้ายของชายหนุ่ม อย่างไร? การคิดโครงเรื่อง ตัวละคร เหตุการณ์ ฯลฯ

เริ่มคิดว่า.. มันจะเป็นไปได้ไหม หากสักวันหนึ่งคนที่เราเคยพบเคยรู้จักในช่วงเวลาสั้น ๆ จะกลับมาพบกันอีก แล้วจำกันไม่ได้ แต่ในความทรงจำลึก ๆ นั้น กลับจดจำเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกันได้ แล้วนำกลับมาเล่าสู่กันฟัง
หากมันเป็นไปได้.. มันคงเป็นเรื่องที่น่าทึ่งและน่าขำไม่น้อย แล้วยิ่งหากการพบกันใหม่อีกครั้ง เป็นการพบเพื่อรักกัน แต่งงานกัน แล้ววันดีคืนดี ก็นำเรื่องราวหรือเหตุการณ์เก่า ๆ มาเล่าสู่กันฟัง แล้วพบว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน คล้ายกัน แถมอาจจะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีหลักฐานเช่น ภาพเก่า ๆ วิดีโอเก่า ๆ ..
ก็แค่นี้ค่ะ.. พอคิดแค่นี้.. ก็เริ่มต้นเขียนปาหนันก่อนเลย เพราะตั้งใจให้ปาหนันเป็นคนเก็บความทรงจำที่ไม่ดีเกี่ยวกับครูพละคนนั้น เธอไม่ชอบครูพละตามประสาเด็ก ไม่ชอบเพราะตัวเองถูกตัดสิทธิ์การแข่งขันเท่านั้น ก็เคือง ๆ ตามประสาเด็ก และเด็กก็จดจำเฉพาะเหตุการณ์ที่ทำให้ตนเองผิดหวัง แต่ไม่ค่อยจำคน พอนาน ๆ ไป ปาหนันก็ลืมคน แต่ไม่ลืมเหตุการณ์ เพราะถ้าเธอไม่ลืมคน เธอก็ต้องจำอาจารย์นารถได้ และถ้าเธอจำได้ เรื่องราวของนิยายก็คงดำเนินต่อไปไม่ได้ เพราะคนเขียนคงคิดไม่ออก..
ส่วนเหตุผลที่ตั้งชื่อว่า " เคราะห์ร้ายของชายหนุ่ม " น่าจะหยิบมาจากการสาปแช่งของปาหนัน ซึ่งผูกโยงไปให้ตรงกับเหตุการณ์ในอนาคตของอาจารย์นารถโดยบังเอิญ แล้วอีกแง่มุมหนึ่งก็คือ การได้พบและรักกับปาหนัน ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีนัก เพราะอุปนิสัยตัวละครปาหนัน ไม่ค่อยน่ารัก เธอไม่เรียบร้อย ปากเสีย หุนหันวู่วาม เธอมักชมตัวเองว่าฉลาด แต่ความจริงแล้วก็ชอบคิดอะไรง่าย ๆ ตื้น ๆ ข้อดีของปาหนันมีอย่างเดียวคือ ซื่อและจริงใจ..
ดังนั้น.. จึงอาจสรุปว่าอาจารย์นารถเคราะห์ร้ายที่โดนลูกศิษย์สาปแช่งจนเกือบพิการ เกือบมีลูกไม่ได้ เขาเคราะห์ร้ายที่ต้องมาเจอและมารักกับปาหนันที่ไม่ได้ความ หรือเขาเคราะห์ร้าย ที่ไป ๆ มา ๆ กลับจับพลัดจับผลูมารักและแต่งงานกับอดีตลูกศิษย์ที่ห่างหายกันไปนาน จนต่างฝ่ายต่างก็ลืมกันไปแล้ว..

 

8.    ตัวละครในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปาหนัน หรือ นารถ รวมทั้งสาวิตรี ได้รับอิทธิพล มาจากใครในชีวิตจริงหรือเปล่า?

ไม่มีเลยค่ะ..

 

9.   คุณชอบตอนไหนที่สุดในเรื่อง เคราะห์ร้ายของชายหนุ่ม?
ชอบตอนจบค่ะ.. ฉากที่อาจารย์นารถเล่าเหตุการณ์สมัยตนเองเป็นครูพละฝึกหัด แล้วทำให้ปาหนันเห็นภาพเก่า ๆ ภาพหนึ่ง ซึ่งที่บ้านปาหนันเองก็เก็บภาพนี้ไว้เหมือนกัน
ชอบเพราะคนเขียนบังคับข้อสงสัยของตัวเองให้เป็นจริง ที่ว่า.. มันจะเป็นไปได้ไหม หากสักวันหนึ่งคนที่เราเคยพบเคยรู้จักในช่วงเวลาสั้น ๆ จะกลับมาพบกันอีก แล้วจำกันไม่ได้ แต่ในความทรงจำลึก ๆ นั้น กลับจดจำเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกันได้ แล้วนำกลับมาเล่าสู่กันฟัง.. สรุปคำตอบของคนเขียนก็คือ.. มันเป็นไปได้.. แล้วตัวอย่างก็คือ.. เรื่องราวความรักระหว่างอาจารย์นารถกับปาหนันนี่เอง..


10.  อะไรคือแรงบันดาลใจให้คุณเขียนเรื่องนี้?

ข้อสงสัยค่ะ.. โยงไปที่คำตอบข้อ 9 ได้เลยนะคะ

 

11.  อะไรคือปัญหาหนักที่สุด  ที่ท้าทายคุณตอนที่คุณเขียน?

วิธีแก้ปัญหาของตัวละครค่ะ.. ยกตัวอย่างเช่น การแก้ปัญหาให้อาจารย์นารถค่ะ เพราะการตัดสินใจว่าจะให้เขาเดินได้เลย กับ การค่อย ๆ เดินได้ ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร ทำให้คนเขียนต้องหยุดเขียนไปถึงสองวันค่ะ.. หยุดเขียนเพราะต้องคิดให้ตัวเองพอใจที่สุดก่อนว่า ระหว่างเดินได้เลย กับค่อย ๆ เดินได้ อย่างไหนจะทำให้เราเขียนแล้วมีความสุขมากกว่ากัน..

 

12.  คุณคิดอย่างไรกับการมีเลิฟซีนในหนังสือ คุณคิดว่าเลิฟซีนเขียนยากง่ายต่างจากซีนอื่นๆ ไหม มีอะไรที่คุณหลีกเลี่ยงไม่อยากเขียนบ้างไหม?

ชอบเขียนบทเลิฟซีนค่ะ.. ชอบบรรยายให้คนอ่านคิดเอาเอง แทนการบรรยายการกระทำ บทเลิฟซีนถือได้ว่าเป็นฉากที่ช่วยผ่อนคลายในนิยาย คนอ่านก็อ่านอย่างมีความสุขกับตัวละครที่เป็นพระเอกนางเอก ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสเผยการกระทำอ่อนหวานใส่กันบ้าง โดยเฉพาะบางเรื่องที่ทะเลาะทุ่มเถียงกันเกือบตลอดเรื่อง คนอ่านก็เครียด ๆ พอมีฉากเลิฟซีนคั่น ๆ ไว้บ้าง คิดว่าคนอ่านน่าจะสบายใจขึ้น
รัชนีกานต์เขียนฉากเลิฟซีนไม่เก่งค่ะ อารมณ์มีค่ะ แต่มือไม่ค่อยไป.. ไม่ทราบเหมือนกันว่าสะดุดอยู่กับอะไร ตัวเองจะทราบเองค่ะว่า เขียนแล้วติด.. เขียนแล้วติด..
สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่อยากเขียนคือคำหยาบค่ะ เช่น คำว่า มึง กู ฉิบหาย ห่า เหี้ย ฯลฯ คำเหล่านี้ รัชนีกานต์มักจะอ่านเจอในนิยายแนวบู๊ค่ะ ทราบว่านักเลงอันธพาลต้องพูดคุยกันในลักษณะนี้ แต่อ่านแล้วก็รู้สึกไม่ดีค่ะ

 

13.  คุณเคยเกิดปัญหาการเขียนไม่ออก บ้างไหม? ถ้ามีคุณจัดการกับมันอย่างไร?

มีค่ะ.. มักจะเกิดขึ้นตอนถึงจุดสำคัญ จุดเปลี่ยน จุดหักเห ยกตัวอย่างเช่น หากในเรื่อง พระเอกกับนางเอกพลัดพรากกันไปนาน แล้วบรรทัดถัดไปนี้ล่ะ ทั้งสองจะได้พบกันแล้วล่ะ คนเขียนก็ตื่นเต้นค่ะ เขียนไม่ออก..
ยกตัวอย่างได้อีกเรื่องค่ะ ไฟรักโชนแสง.. ฉากที่เธียรไทเข้าห้องศิลป์ แล้วพบกับภาพเขียนของตัวเองแอบซุกไว้นานแล้ว ฉากนี้ทำให้พระเอกทราบว่านางเอกรักตนมานานแล้ว ทำให้ตนเองเข้าใจหัวใจตัวเองว่า ตนเองก็รักนางเอกเหลือเกิน.. ฉากนี้ค่ะ.. จำได้ว่า คนเขียนตื่นเต้น ใจเต้น มือสั่นไปเองค่ะ ตัวอักษรมีพร้อมในสมองค่ะ แต่เขียนไม่ออก ต้องหยุดเขียนค่ะ..
หากเจอในลักษณะนี้ จะหยุดเขียน แล้วออกไปนั่งคุยกับแม่ค่ะ แม่ก็มักจะรู้ทัน แล้วแหย่ว่า " เขียนนิยายไม่ออกอีกแล้วล่ะสิ " ทำนองนี้ค่ะ
แต่ปัจจุบันนี้ แม่ก็จากไปแล้ว.. หากเจอในลักษณะนี้อีก รัชนีกานต์ก็หยุดเขียนเหมือนเดิมค่ะ แต่เปลี่ยนเป็นดื่มกาแฟ แล้วออกไปนั่งหน้าบ้าน หรือไม่ก็ไปซักผ้า ล้างจาน ค่ะ พองานพวกนี้เสร็จ แล้วกลับมานั่งเขียนใหม่ ก็เห็นว่าเขียนต่อได้ทุกทีค่ะ


14.  แล้วอย่างที่เขียนไปๆ ความคิดเกี่ยวกับเรื่องอื่น เข้ามาแทรกแซงในเรื่องที่เขียนอยู่ล่ะคะ?

ไม่มีค่ะ.. ไม่เคยมี.. ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้กับงานเขียนทุกเรื่องเลยค่ะ


15.  คุณมีวิธีเลือกใช้คำหรือภาษาอย่างไร?

ไม่มีวิธีค่ะ คิดคำไหนได้ก็เขียนคำนั้นค่ะ ในสมองมันมีคำเยอะแยะเลยค่ะ เลยไม่ทราบว่าจะจัดวิธียังไงค่ะ

 

16.  ช่วยเล่าให้ฟัง เกี่ยวกับการเขียนของคุณในแต่ละวัน ตอนเขียนคุณใช้อะไรเพื่อสร้างอารมณ์ไหม อย่างฟังเพลง หรืออื่นๆ ไปด้วย?

ไม่มีค่ะ.. รัชนีกานต์เขียนได้ทุกที่ไม่ว่าสถานที่นั้นจะอึกทึกคึกโครมหรือเงียบสงัด ไม่เคยสร้างอารมณ์อะไรทั้งนั้นค่ะ เพราะในสมองมันมีของมันอยู่แล้วค่ะ สิ่งรบกวนภายนอกจึงไม่มีผลกระทบใด ๆ ทั้งสิ้น รัชนีกานต์สามารถพิมพ์นิยายได้เรื่อย ๆ พร้อมกับดูละครไปด้วย ก็เลือกเอาตอนที่นักพากย์ทำเสียงดัง ๆ หน่อย แสดงให้รู้ว่าถึงซีนสำคัญ รัชนีกานต์ก็หยุดพิมพ์ แล้วดูละครแทน พอซีนสำคัญจบลงหรือมีโฆษณาคั่น ก็หันกลับมาพิมพ์นิยายต่อ มันก็เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ค่ะ พอมีเพื่อนแวะมาคุยธุระ ก็หยุดพิมพ์แล้วคุยไป พอเพื่อนกลับก็พิมพ์ต่อ ก็แบบนี้ค่ะ ไม่ทราบว่าจะสร้างอารมณ์แบบไหน ยังไง เพราะมันก็เหมือนเป็นการทำงานชิ้นหนึ่งต่อไปได้เลย..

 

17.  ตอนเขียนหนังสือ คุณมีคนอ่านที่อยู่ในใจคุณไหม คุณอยากเขียนให้คนแบบไหนอ่าน?

      ไม่มีค่ะ ไม่เลือกคนอ่านเลย อยากให้อ่านทุก ๆ คน..

 

18.  คุณใช้อินเตอร์เน็ทในการหาข้อมูลบ่อยไหม มันมีประโยชน์ต่อคุณหรือเปล่า? คุณมีวิธีหาและจัดการกับข้อมูลนั้นอย่างไร?

เปิดทุกวันค่ะ ส่วนใหญ่จะหาบทความทางวิชาการค่ะ รัชนีกานต์ต้องเขียนวิจัยบ่อยค่ะ เลยต้องหาข้อมูลเก็บตุนไว้เยอะ ๆ ก็แล้วแต่ว่าจะเลือกข้อมูลไหนมาใช้ประโยชน์ค่ะ
แต่หากเป็นเรื่องของงานเขียน ชอบอ่านนิยายแบบศึกษาค่ะ รัชนีกานต์จะอ่านนิยายของคนอื่นช้ามากค่ะ เพราะอ่านทุกตัว และคิดทุกคำ มักจะตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่า ทำไมเขาใช้คำนี้ ทำไมเขาเขียนแบบนี้ ทำไมเขาผูกประโยคแบบนี้ เขาไปหาคำเหล่านี้มาจากไหน คิดได้ยังไง ทำนองนี้ค่ะ เลยกลายเป็นอ่านแบบศึกษา มากกว่าเพื่อความบันเทิง แต่เวลาเขียนนิยายตัวเอง จะเขียนแบบบันเทิงมากค่ะ.. เพราะคำของเรา ประโยคของเรา มันออกมาจากสมองเราเอง เราเลยไม่มีเวลานั่งสงสัยว่าทำไม..

 

19.  มีนักเขียนคนไหนที่คุณประทับใจมากเป็นพิเศษจริงๆ เมื่อคุณอ่านงานเขียนของเธอหรือเขาไหม?

ชอบคุณภัคพงษ์ เขียนนิยายแปลค่ะ ชอบคุณวลัย นวาระ เขียนนิยายรักได้น่ารักค่ะ ชอบคุณนราวดี เขียนนิยายรักสอดแทรกวิชาความรู้ได้ดีค่ะ เคยอ่านเรื่อง " หยาดพิรุณ " ของคุณนราวดีค่ะ ว่าด้วยเรื่องของจิตใต้สำนึกของนางเอก ที่เข้มแข็งจนออกมาโลดแล่นก่อพฤติกรรมชวนเวียนหัวจนเป็นเรื่องเป็นราวได้ตลอดทั้งเรื่อง

 

20.  อะไรที่คุณอยากจะให้คำแนะนำ คนที่ปรารถนาอยากจะเป็นนักเขียนที่เขียนได้จบเรื่องบ้าง?

ระเบียบวินัยค่ะ.. มีสิ่งนี้สิ่งเดียวก็พอค่ะ

 

21.  เราทราบว่าเรื่อง เพื่อนบ้านคู่ครองที่คุณเขียนในการแข่งแรลลี่ครั้งแรก ได้รับการตีพิมพ์ อยากให้คุณเล่าถึงความเป็นมาตั้งแต่ที่คุณเขียนเรื่องต่าง ๆ จนกระทั่งมาถึงเรื่องนี้ค่ะ

ตามที่ได้เล่าไปในข้อคำถามต้น ๆ ค่ะ เริ่มเขียนบทละครตามประสาเด็กให้เพื่อน ๆ แสดงปีใหม่สมัยเรียนมัธยมต้นค่ะ แล้วเริ่มเขียนนิยายด้วยลายมือ ค่อยพัฒนาเป็นพิมพ์ดีด ปัจจุบันก็ใช้คอมพิวเตอร์ ข้อดีของรัชนีกานต์เกี่ยวกับการเขียนนิยายคือ ไม่มีการร่างค่ะ เขียนด้วยลายมือก็คือเขียนเลย พิมพ์ดีดก็คือพิมพ์เลย พิมพ์กับคอมพิวเตอร์ก็คือพิมพ์ออกมาจากสมองเช่นกัน ไม่ต้องร่างค่ะ.. อาจเป็นเพราะเหตุผลนี้ ทำให้นิยายแต่ละเรื่องเขียนจบได้เร็ว เพราะไม่ค่อยสร้างเงื่อนไขให้ตัวเองค่ะ
รัชนีกานต์เขียนโดยให้เนื้อเรื่องหรือตัวละครพาไปเรื่อย ๆ แต่เราเองจะเป็นตัวกำหนดกรอบว่าให้มันพาไปทางไหนที่เราอยากให้ไป หากจะมีตีกรอบหรือเงื่อนไขให้ตัวเองบ้าง ก็คงมีเรื่องแนวค่ะ ก่อนเขียน.. รัชนีกานต์ตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า นิยายเรื่องนี้จะเขียนแนวไหน เลือกแนวได้แล้วก็เขียนเลยค่ะ ไม่ต้องเรื่องมาก..
หรืออาจจะบอกได้ว่า การเขียนนิยายของรัชนีกานต์ มักจะเริ่มต้นจากการตั้งคำถาม จากข้อสงสัย เสียเป็นส่วนใหญ่ค่ะ..  
สำหรับเพื่อนบ้าน..คู่ครอง ได้รับแรงสงสารจากหญิงหม้ายกับลูกที่ถูกแม่ของฝ่ายชายแสดงออกถึงความรังเกียจจริง ๆ ค่ะ โดยที่ฝ่ายชายไม่ได้คิดอะไรกับหญิงหม้ายสักนิด ก็แค่ว่าเอ็นดูเด็กทารกน่ารักน่าชังคนหนึ่งเท่านั้น หญิงหม้ายคนนั้นกับลูกมีชีวิตอยู่จริง ๆ ค่ะ ฝ่ายชายกับแม่ก็ยังมีชีวิตอยู่ แต่ในเรื่องจริง ทั้งสองฝ่ายไม่เกี่ยวข้องกันเลย และฝ่ายชายก็แต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว ส่วนหญิงหม้ายก็ใช้ชีวิตหม้ายเลี้ยงลูกต่อไปค่ะ..
และภายใต้ข้อสงสัยที่ว่า.. ถ้าฝ่ายชายหลงรักหญิงหม้ายกับลูก แม่ฝ่ายชายจะทำยังไง.. ก็เลยได้มาเป็นเพื่อนบ้าน..คู่ครอง ค่ะ..

 

22.  อะไรที่คุณคิดว่า เรื่องเพื่อนบ้านคู่ครองได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก?

เพื่อนบ้าน..คู่ครอง เป็นงานเขียนชิ้นแรกที่เขียนขึ้นตามคำแนะนำของคุณฟิลิปดาและคุณธาราฝันค่ะ แม้จะไม่มีการร่างตามนิสัยของคนเขียน แต่ลักษณะการบรรยาย การใช้คำพูด ก็มักจะเรียบเรียงตามคำแนะนำที่ได้รับมา หลีกเลี่ยงข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่ได้รับการบอกกล่าวแล้ว เช่น การใช้คำอุทานนำหน้าประธาน หรือการใช้คำกริยานำหน้าประธาน ซึ่งข้อบกพร่องนี้ รัชนีกานต์ออกจะติดเป็นนิสัยเสียด้วยซ้ำ บางทีก็เผลอ ๆ ไปเหมือนกันค่ะ
เหตุผลที่ได้รับการตีพิมพ์ น่าจะมาจากการใช้ภาษาและการบรรยายที่ถูกต้องขึ้น คนอ่านอ่านแล้วเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ทำนองนี้นะคะ หรือ.. สรุปว่าได้รับการตีพิมพ์ เพราะมาเจอครูดีที่เว็ปนี้ค่ะ..

 

23. การที่ผลงานได้รับการตีพิมพ์ถือเป็นว่าความปรารถนานักเขียนทุกคน คุณมีคำแนะนำอะไรสำหรับการส่ง ต้นฉบับไปยัง สนพ. ต่าง ๆ บ้าง

1. อ่านทวนเพื่อหาคำผิดสักสองรอบค่ะ
2. เขียนเรื่องย่อค่ะ ทุกสำนักพิมพ์ต้องการเรื่องย่อ สังเกตจากการเปิดหาตามเว็ปนะคะ กองบ.ก. มักจะแนะนำให้เขียนเรื่องย่อด้วย
3. จดหมายแนะนำตัวค่ะ บอกเล่าเรื่องของตัวเองสั้น ๆ ค่ะ เช่น ชื่ออะไร จบที่ไหน ทำงานอะไร มีเบอร์โทรศัพท์ไหม ติดต่อได้เวลาไหนบ้าง
4. จดเบอร์โทรศัพท์ของกองบ.ก. หรือสำนักพิมพ์ค่ะ พอเราส่งทางอีเมล์ไปแล้ว รออีกสักสิบนาที ก็โทรศัพท์ไปถามเลยค่ะว่าได้รับหรือยัง แล้วหากเรามีข้อสงสัยอะไร ก็ถามเพิ่มเติมเอาตอนนั้นได้เลยค่ะ
5. ทิ้งช่วงสักสิบห้าวัน ค่อยโทรไปถามใหม่ค่ะ

 

24.  ช่วยเล่าเกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนต่อไปด้วยค่ะ

ขอพับ ณ ปลายเส้นโค้งไว้ก่อน สาเหตุเพราะไวรัสเล่นงานหมดแล้ว ที่เขียนไปก็จำไม่ได้ค่ะ คงต้องรอไว้เริ่มต้นใหม่
ส่วนเรื่องใหม่ ตั้งใจไว้ตามนี้ค่ะ
1. เรื่องนี้.. ตั้งข้อสงสัยว่า หากภรรยาที่ตนรักหนีไป แล้วตนตามหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ ตนจะยอมแต่งงานใหม่หรือเปิดใจรักหญิงคนใหม่ได้อีกไหม
2. ส่วนเรื่องนี้.. ตำรวจปราบโจรเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว แต่ตำรวจฆ่าโจรต่อหน้าภรรยากับลูกเล็ก ๆ ของโจร อยากรู้ว่า ตำรวจรู้สึกอะไรในใจบ้างไหม..
3. และเรื่องนี้.. มีความรักแบบนี้เกิดขึ้นในชีวิตจริงบ้างไหม เช่น ให้ผู้หญิงหลงรักผู้ชายคนนี้มาก ๆ แต่ครอบครองไม่ได้ เลยต้องหาวิธีการไปแต่งงานกับพี่ชายของเขา เพื่อหาทางใกล้ชิดและสานสัมพันธ์ให้คืบหน้าต่อไป ผู้หญิงแบบนี้มีไหม.. ความรักแบบนี้มีไหม..
4 – 5 – 6 – ฯลฯ  มีปัญหาและข้อสงสัยเกิดขึ้นทุก ๆ วันค่ะ แล้วแต่ว่าประเด็นไหนที่น่าสนใจและจับมาระบายเป็นนิยายได้..


:+:+:+:+:+:

 

มารู้จักกับคุณรัชนีกานต์เพิ่มเติมค่ะ

 

คุณรัชนีกานต์มีชื่อจริงว่า นุชนีย์ โมกขบริสุทธิ์ ชื่อเล่น อ้อม  เป็นชาวใต้โดยกำเนิด

อาศัยและเติบโตที่หาดใหญ่ตั้งแต่เรียนประถมจนจบอนุปริญญา

ทำงานเป็นครูทันทีที่เรียนจบ สอนพิมพ์ดีดไทย-อังกฤษ และบัญชี ภาคปกติและภาคค่ำ

ทำได้ประมาณปีเศษ ๆ ก็ย้ายตามคุณแม่ไปอยู่นครศรีธรรมราช ทำงานครูเหมือนเดิม สอนบัญชีอย่างเดียว

ทั้งภาคปกติและภาคค่ำ รับทำบัญชีให้โรงเรียนไปด้วย โดยไม่ได้ค่าแรงเพิ่มหรอก เพียงแต่อยากรู้งาน เลยยอมเหนื่อย

ลงมือทำตั้งแต่เริ่มวิ่งเต้นจัดตั้งบริษัท จนเป็นรูปเป็นร่าง ปิดงบ เชิญผู้ตรวจสอบบัญชีมาตรวจสอบประจำปี ส่งงบพาณิชย์จังหวัด ตอนนั้นทำเป็นหมด

ในระหว่างนั้นก็เรียนต่อปริญญาตรี ม.สุโขทัยธรรมาธิราชไปด้วย

พอจบแล้ว เว้นไปหนึ่งปี ก็เรียนต่อวุฒิครูอีกปี เพราะครูรุ่นหลัง มีการบังคับด้วยว่าทุกคนต้องจบวุฒิครู

ซึ่งช่วงนั้นเลยวุ่นวายกันมาก ครูหลายคน รวมทั้งคุณรัชนีกานต์ต้อง หาที่เรียนกันใหญ่

บางคนก็เรียนภาคค่ำที่วิทยาลัยครู( ชื่อเก่าในสมัยนั้น)

ส่วนคุณรัชนีกานต์เองก็เลือกม.สุโขทัยธรรมาธิราชเหมือนเดิม


ปัจจุบันนี้ คุณรัชนีกานต์ทำงานเป็นครูเช่นเดิม โดยย้ายตัวเองมาอยู่ที่ยะลา คราวนี้สอนดะทุกวิชา คละไปหมด

แล้วแต่ฝ่ายวิชาการว่า จะจัดอะไรให้ ก็รับหมด ไม่เป็นก็รับ เพราะอยากแลกกับความรู้เหมือนเดิม

ปีนี้.. หมายถึงเทอมปัจจุบันนี้ไม่ได้สอนบัญชีเลย สอนคอมพิวเตอร์อย่างเดียว

สุดท้ายก็เดือดร้อนตัวเอง เพราะเวลาโดนนิเทศสอน ตัวเองจะโดนติงเรื่องสื่อการสอน ก็ไม่ทราบจะทำยังไง

เพราะไม่เคยเรียนด้านนี้มาก่อน ทำPowerPoint ก็ไม่เป็น อะไรก็ไม่เป็น นอกจาก Word Excel

และโปรแกรมสำเร็จรูปบัญชี Ecacc ที่เคยใช้ทำงานตอนอยู่นครศรีธรรมราช

Word น่ะ พิมพ์คล่อง เพราะใช้งานมันตลอดเวลา พิมพ์แผนการสอน พิมพ์นิยาย พิมพ์วิจัย พิมพ์ตำรา และจิปาถะ

พอได้มารู้จักกับคุณฟิลิปดา เห็นเก่งหลายด้าน ก็อยากเป็นบ้าง ไม่รู้จะไปเอาเวลาช่วงว่างตรงไหนมาฝึกเรียนPowerPoint

แต่ก็หัดทำบ้างแล้ว เป้าหมายต่อไปก็ตั้งใจจะหัดทำ Photoshop  อยากทำปกนิยายเองเหมือนคนอื่น ๆ

เหมือนที่คุณฟิลิปดาทำ สงสัยมากว่าเขาทำกันยังไง..   

ด้านการเรียนรู้ ชอบเข้าประชุม เข้าอบรม ชอบฟังการบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิ ชอบดูสารคดีเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์

โดยเฉพาะเรื่องระบบสุริยะจักรวาล ชอบอ่านเรื่องดาว ๆ ทั้งหลาย หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับขั้วโลก..

ด้านบันเทิง ชอบดูหนังอินเดียอย่างเดียว ฟังเพลงอินเดียอย่างเดียว

กำลังหัดเรียนภาษาฮินดี และแปลได้ด้วยตนเอง พูดได้เป็นประโยคง่าย ๆ

ความสามารถพิเศษ เต้นอินเดียสวยมาก (เรื่องอื่นไม่กล้ารับประกันตนเอง แต่เรื่องนี้กล้ายืนยันเต็มปากเต็มคำค่ะ..)

ชอบสีแดงไม่ว่าจะซื้ออะไร เลือกอะไร ต้องสีแดงเท่านั้น

ไม่ชอบเครื่องประดับทุกชนิด เนื้อตัวก็เลยว่าง ๆ  หากจำเป็นต้องมีก็เลือกได้แค่ต่างหูคู่เดียว เพชร ทอง ก็ไม่ชอบ

แต่หากจำเป็นต้องเลือก ก็ขอเครื่องเงินค่ะ พอทนได้..

;  

ติดตามงานเขียนเรื่อง เคราะห์ร้ายของชายหนุ่ม

ได้่ที่กระดานแรลลี ห้องแรลลีน้องพี่ หมายเลข 2 ค่ะ

หมายเหตุ...
และตอนนี้คุณรัชนีกานต์ ได้นำผลงานใหม่ เรืองสายสวาทที่ไม่ได้เลือก
มานำเสนอในห้องเดียวกันแล้วค่ะ ^--^

 

 

- - - -- - -- - --

สัมภาษณ์ันักเขียนผ่านแรลลีครั้งที่ 2

คุณยุ้ย .................................... Eden ...สวนสวรรค์

คุณพีพีพี (ปลวัชร)................ สุดปลายฟ้า

คุณทินกฤต........................... คนสองเงา

คุณรัชนีกานต์...................... เคราะห์ร้ายของชายหนุ่ม

 

 


.

ห้องมือใหม่
ห้องสร้างนักเขียน
การเขียนนวนิยายต่าง ๆ
Idea bank
ฝึกเขียนเรื่อง

ร้านหนังสือ

 

 
ฟรี E-book
 
 



 

  http://www.forwriter.com . © 2005 All rights reserved.