ฟีลิปดา
22 มิ.ย. 58
เวลา 10:05:43
พิมพ์
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน |
สวัสดีวันจันทร์ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ ผ่านมาจนถึงวันนี้ พี่ฟีจึงคิดได้ว่า ตัวเองลืม! ลืมชวนพวกเราเขียน 100 หน้าใน 45 วัน ฮ่าๆๆ แถมยังลืมที่จะชวนพวกเรา รีไรต์เรื่องที่เขียนจบแล้ว เรื่องทีเขียนไม่จบ เรื่องแต่ละเรื่องที่ยังไม่เสร็จนั่นแหละ ^--^ โครงการเขียนทั้งปีของเรา เลยขาดช่วงไปเลย ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เป็นเพราะพี่ฟียุ่งแต่งานตัวเอง มีทริปไปเที่ยวช่วงนั้นด้วย เลยลืมค่ะ ต้องขอโทษทุกๆ คนด้วย แต่เมื่อผ่านไป ก็ให้มันผ่านไปเนอะ ฮ่าๆๆๆ เพราะแม้พี่ฟีจะไม่ชวน พวกเราก็คงจะทำกันเองเป็นอยู่แล้ว สิ่งใดที่ทำออกมาจากความมุ่งมั่นภายในของตัวเอง มักจะสำเร็จกว่าทำเพราะมีสิ่งกระตุ้นจากภายนอกค่ะ ^--^
มาพูดถึงเรื่องแย่ๆ ในนวนิยาย ความจริงพี่ฟีหมายถึง conflict การแผ่ขยายปัญหา ให้กับตัวละคร เพื่อสร้างพล็อตค่ะ
ในชีวิตจริงบางคนเวลามีปัญหาเกิดขึ้น ก็มักจะคิดว่ามันแย่ แล้วจิตก็มโนไปเรื่อย แล้วความแย่ๆ ต่างๆ ก็จะตามมาได้หลายอย่าง หลายระดับหลายเรื่อง แต่พอจะหาปัญหามาให้ตัวละคร ก็กลับคิดไม่ออกเสียนี่ ฮ่าๆๆ
บางคนเขียนไปแล้ว ก็มักจะคิดว่า เรื่องของตัวเองไม่มีอะไร มันราบเรียบไป มันเบาโหวงไป มันหาอะไรมาเป็น ปมปัญหาไม่ได้ ฮ่าๆๆ
มาทบทวนกันเสียหน่อยค่ะว่า ปัญาหา มี 2 อย่างคือ ภายนอก กับภายใน ภายนอก คือเหตุการณ์ที่เราเห็นว่ามันเกิดขึ้น ฮ่าๆๆ ภายใน คือ ความว้าวุ่นใจ การตัดสินใจ ความฟุ้งซ่าน ความคิด ทางเลือก ฯลฯ ของตัวละคร (ถ้าเขียนนวนิยายรัก ให้ตระหนักในจุดนี้มากๆ ค่ะ )
ปัญหาภายนอก - บ้านไฟไหม้ ปัญหาภายใน - จะยอมแต่งงานกับคนรวยเพื่อช่วยครอบครัว หรือจะยอมทนอยู่อย่างจนๆ ด้วยศักดิ์ศรี แต่ทว่า พ่อแม่ล่ะ ท่านแก่เฒ่าแล้วนา จะอกตัญญูเกินไปเปล่า (ยกตัวอย่างง๊ายง่าย ฮ่าๆๆ) แล้วการตัดสินที่จะทำอะไรออกมา ก็สร้างปัญหาต่อไป (ให้คิดเอง) ปัญหาเล็กหรือใหญ่ มันอยู่ที่วิธีคิดของตัวละครนะคะ เลือกมาเถอะว่ามันจะเป็นอะไรก็ได้ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของตัวละคร มันขัดขวางไม่ให้ตัวละครไปถึงเป้าหมายที่มุ่งหวัง เลือกมาเถอะน่า! ความสมจริงอยู่ที่เราแสดงให้คนอ่านเห็นว่า มันสร้างความจะเป็นจะตายทุรนทุรายให้กับตัวละครมากแค่ไหน ต่อให้เราบอกว่านี่เป็นปัญหาใหญ่นะ แต่ถ้าตัวละครไม่ได้เดือดร้อนไปกับมัน จนต้องหาทางออก มันก็ไม่ใช่ปัญหาค่ะ
ปัญหานี่ก็ดูว่า จะเกิดกับคู่กรณีไหนบ้าง คน-คน / คน-ธรรมชาติ / คน- เครื่องจักร / คน-พระเจ้า ความเชื่อ สังคม / คน-ฯลฯ (ไปทบทวนเพิ่มเติมได้ที่ 100 คำถามสร้างนักเขียนนะคะ ^--^)
ยังมีอีก...ปัญหาเท่าไหร่ถึงจะพอ โอ...อันนี้ก็แล้วแต่จะคิดได้นะคะ เรื่องของใครก็เรื่องของมันค่ะ ^--^ แต่มาคิดเล่นๆ แบบ ใช้กฏ 3 ใน 4 นะคะ (ฮ่าๆๆๆ ใครจะตั้งเท่าไหร่ก็ตั้งไปนะคะ ไม่มีถูกผิด) กฏ 3 ใน 4 จะเอาไปใช้ในปัญหาใหญ่ๆ หรือเล่นแกล้งเป็นเรื่องขลุกขลักให้กับตัวละครก็ได้
ปัญหาใหญ่ในเรื่องที่เป็นประเด็น ให้ตัวละครใช้ความพยายาม 3 ครั้ง แล้วครั้งที่ 4 จึงแก้เรื่องนั้นได้ แต่ๆๆๆ ทำให้มันไปสร้างปัญหาอันใหม่ต่อไปนะคะ เป็นลูกโซ่ไปเรื่อย จนกว่า เรื่องของเราจะจบ
สำหรับเป็นซีนเล็กๆ ในระหว่างทาง ใส่ความขลุกขลักเข้าไป เพื่อที่จะทำให้เรื่องของเราดูเหมือนมีชีวิตอยู่เสมอ (หรือช่วยเสริมให้คนอ่าน รู้จัก เข้าถึงตัวละครมากขึ้น) ก็ให้มีอะไรขลุกขลักสัก 3 อย่าง มีอะไรให้ลุ้นเล็กๆ น้อยๆ ประมาณ จะต้องไปนำเสนองานครั้งแรก อ้าว... 1 นาฬิกาไม่ปลุก สายๆๆๆ 2. แม่โทรมาฟ้อง พ่อไม่กลับบ้าน จะไม่คุยด้วยก็ไม่ได้ 3. อ๊าก ก๊อปปี้ไฟล์งานผิด ต้องกลับไปเอาทำนองนั้น ฮ่าๆๆๆ แล้วทุกอย่างก็ผ่านไปได้ ก็ไม่ได้มากมายอะไรทำนองนั้น เพราะเรามุ่งแค่ให้มันขลุกขลัก ไม่ได้ให้ส่งผลในเรื่องอะไรมากมาย (ถ้าหวังผลต่อเนื่อง ก็ว่ากันไปได้ค่ะ ^--^)
กระบวนการเขียนของแต่ละคน ก็แล้วแต่วิธีคิด บางคนอาจจะต้องให้แน่น ต้องพร้อมแล้วลงมือเขียน บางคนอาจจะคิดว่า เขียนแย่ๆ ในตอนแรกก็ได้ แต่เวลารีไรต์ต้องทำแบบ เยี่ยมๆ ปนเหี้ยม กับต้นฉบับตัวเอง
แต่ไม่ว่าจะเขียนแบบไหน เขียนได้ดีเลิศลอยเพียงใด แต่ถ้าเขียนไม่จบ ก็ไม่อาจจะเป็นหนังสือได้ค่ะ!
ขอให้ทุกเรื่องที่เขียนค้างคากันเอาไว้ เอามาเขียนให้จบกันทุกคนนะคะ (นี่เป็นการย้ำให้ตัวเองเหมือนกันค่ะ)
เป็นกำลังใจค่ะ ฟีลิปดา ^--^
|