คุณพีทคุง
20 พ.ย. 57
เวลา 18:30:02
|
ลองสำรวจดูก่อนครับว่าเหมือนแค่ไหน คำว่าพล็อตมันมีความหมายหลายอย่าง ถ้าเหมือนแบบกว้างๆ เช่น
นางเอกยากจน พระเอกร่ำรวย พบกันแล้วรักกันโดยนางเอกไม่รู้ว่าพระเอกรวย พอรู้ก็เลยเจียมตัวต้องปลีกตัวออกห่าง พระเอกเข้าใจผิดคิดว่านางเอกมีคนอื่น เลยคิดแก้แค้น
ตัวอย่างนี้ก็ถือว่ายังกว้างมาก เพราะ (1) นางเอกจนพระเอกรวย อันนี้มาตรฐานซินเดอเรลล่า ใช้กันเยอะมาก (2) พระเอกเข้าใจผิดคิดแก้แค้น อันนี้ก็มาตรฐานตบจูบ ยิ่งกว่าเยอะ
นิยายที่เอาสองอันนั้นมารวมกันก็มีน้อยลง แต่ก็ยังเยอะครับ ถ้าพล็อตของเราไปเหมือนเขาแค่นี้ก็ไม่แปลก เพราะของเขาก็เหมือนคนอื่นอีกเยอะเหมือนกัน
แต่ถ้าเรื่องราว ลำดับเหตุการณ์ ตัวละคร รายละเอียดต่างๆ มันคล้ายกันไปด้วย อันนี้สิต้องตกใจ และอาจจะต้องปรับเปลี่ยนบ้าง ไม่อย่างนั้นก็คงดูไม่งาม ตัวอย่างเช่น
1. นางเอกเป็นหมอจบใหม่ 2. พระเอกเป็นอาจารย์หมอ 3. พ่อนางเอกป่วยหนัก พระเอกยื่นมือเข้าช่วย 4. แม่เลี้ยงพระเอกไม่ชอบนางเอกแต่แกล้งทำดี 5. พอนางเอกรู้ว่าพระเอกรวยแล้วตีตัวออกห่าง แม่เลี้ยงพระเอกใส่ไฟ 6. พระเอกคิดว่านางเอกหลอกใช้ให้ตัวเองรักษาพ่อ พอพ่อหายก็ทิ้งตัวเองไปมีคนใหม่
อะไรแบบนี้ ถ้าคล้ายแค่บางข้อมันอาจจะไม่แปลกอะไร อาชีพก็มีไม่กี่อาชีพ ตัวร้ายที่เป็นคนในครอบครัวก็มีไม่มีตำแหน่ง (แม่เลี้ยงก็ใช้กันเยอะ)
แต่ถ้ามันคล้ายกันไปทุกข้อหรือหลายข้อ อันนี้ก็อาจจะถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนครับ
ปกติแล้วโอกาสที่จะคล้ายกันเยอะๆ แบบนี้มันมีน้อย แต่ก็เกิดขึ้นได้ สมมุติว่าเกิดคล้ายกันมากแบบตัวอย่างนี้ เราจะมีวิธีแก้ปัญหายังไง
เริ่มต้นก็คือเลือกก่อนว่ารายละเอียดตัวไหนที่เป็นหัวใจของเรื่อง ที่เป็นจุดที่เรารักและทำให้อยากเขียนเรื่องนี้ อันนี้วงเอาไว้ว่าไม่แก้ อันที่เหลือที่ไม่ใช่หัวใจของเรื่อง (และของเรา) แต่คิดขึ้นมาเพื่อทำให้เรื่องราวดำเนินไปได้หรือสนุกสนาน อันนี้กาไว้ว่าแก้ได้หมด
ตัวอย่างนะครับ ถ้าเราอยากเขียนเรื่องนี้เพราะประทับใจกับการเป็นหมอที่ทุ่มเทรักษาคนป่วยหนัก จุดนี้เราก็ไม่แก้ พระเอกต้องเป็นหมอ พ่อนางเอกต้องป่วย แต่ที่เหลือถ้ามันไม่จำเป็นก็เปลี่ยนซะ เช่น นางเอกไม่ต้องเป็นหมอด้วยก็ได้ ตัวร้ายอาจจะไม่ใช่แม่เลี้ยงแต่เป็นป้าสะใภ้ ป้าอาจจะแสดงออกโจ่งแจ้งว่าไม่ชอบนางเอกแต่แรก พระเอกอาจจะไม่คิดว่านางเอกไปมีคนใหม่ แต่คิดว่ามีคนรักอยู่ก่อนแล้ว
หรืออีกตัวอย่าง ถ้าจุดที่สำคัญคือคนในครอบครัว ตอนแรกเราเลือกอาชีพหมอเพราะคิดว่าทำให้นางเอกกับพระเอกใกล้ชิดกันได้ง่าย เราก็อาจจะเปลี่ยนอาชีพไปเลยก็ได้ นางเอกอาจจะรับงานพาร์ตไทม์เป็นนางแบบ พระเอกเป็นตากล้อง จุดที่ทำให้เข้าใจผิดอาจจะเป็นว่า พระเอกคิดว่านางเอกหลอกใช้ตัวเองเป็นสะพานให้มีชื่อเสียง
นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ นะครับ ยังมีจุดที่คิดต่อได้อีกเยอะเลย ชีวิตคนเรามีรายละเอียดมากเป็นร้อยเป็นพันเรื่องที่เราจะเอามาใช้ได้ ยิ่งพอเติมบุคลิกตัวละครและเหตุการณ์ลงไป ยิ่งทำให้เรื่องราวของเรามีความเป็นตัวของตัวเองที่ต่างจากคนอื่นมากยิ่งขึ้นไปอีกด้วยครับ |