ตอบคำถามเพิ่ม คลิกที่นี่
 
  ว่าด้วยเรื่องตรรกะ  
 
 

Narina

15 ก.พ. 57
เวลา 3:23:32

พิมพ์
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
เคยได้ยินคนที่อ่านนิยายสักเรื่องหนึ่งพูดถึงเนื้อหาในเรื่องว่า"ตรรกะมันผิดนี่นะ" กันบ้างไหมคะ
อยากทราบว่าตรรกะในการเขียนมันคืออะไร งานเขียนจำเป็นต้องมีตรรกะด้วยเหรอ
 


  คำตอบที่ 1  
 

buddy

15 ก.พ. 57
เวลา 13:12:10
เขาอาจจะหมายถึงความสมจริง ความเป็นเหตุเป็นผลของเหตุการณ์หรือเปล่าคะ อย่างเรื่องอายุของตัวละคร หรือลำดับเหตุการณ์ เช่นพระเอกเป็นเพื่อนแม่นางเอกสมัยเรียน อายุมากกว่านางเอกยี่สิบปี ถ้าบอกว่าพระเอกอายุสามสิบ อันนี้ก็อาจจะไม่ค่อยสมจริงเท่าไหร่ เพราะแปลว่าแม่นางเอกมีลูกตอนอายุสิบขวบ

หรือบางคนก็อาจจะอาศัยตรรกะส่วนตัวเป็นเครื่องชี้วัดความสมเหตุสมผลของนิยาย เช่นทำงานเป็นคนขายประกัน แล้วมาเจอตัวละครทำอาชีพเดียวกันแต่พูดน้อยเคร่งขรึม ก็อาจจะไม่เชื่อว่าเป็นลักษณะของคนที่มีอาชีพขายประกัน

เพราะฉะนั้นคนเขียนนิยายก็น่าจะพยายามสร้างความสมเหตุสมผล ความชอบธรรมให้กับเรื่องที่เขียน ว่ามันมีความเป็นไปได้ค่ะ
 


  คำตอบที่ 2  
 

phakin

16 ก.พ. 57
เวลา 2:55:19
ตรรกะ หมายถึง เหตุและผล ก็คือ มีเหตุก็ต้องมีผล แล้วผลของเหตุที่เกิดขึ้นก็ต้องเหมาะสมกันด้วย ถึงมีประโยคที่ว่า สมเหตุสมผลไง
 


  คำตอบที่ 3  
 

phakin

16 ก.พ. 57
เวลา 2:59:21
ถ้าเป็น ตรรกะในนิยาย ก็คงจะหมายถึง แรงจูงใจของตัวละคร ว่าทำไมตัวละครตัวนี้ถึงทำเช่นนี้ มันเป็นเพราะอะไร ตัวละครตัวนี้ถึงทำแบบนี้
ถ้าตัวละครตัวร้าย ก็ต้องมีเหตุผลที่จะร้าย ไม่ใช่ว่าอยู่ๆก็ร้ายขึ้นมา โดยที่คนอ่านไม่รู้ว่าร้ายเพราะอะไร
 


  คำตอบที่ 4  
 

Tethys

17 ก.พ. 57
เวลา 8:40:14
ถึงแม้ในงานเขียนที่ใช้จินตนาการเป็นหลัก แต่ก็คงขาดหลักตรรกะไปไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเกิดขึ้นตามความเป็นจริงได้ หรืออาจเกิดขึ้นได้ในโลกแฟนตาซี

หากเป็นนิยายธรรมดาทั่วไป เรื่องของมนุษย์เดินดินกินข้าวแกง อยู่ในช่วงเวลาปกติแล้วนั้น ตรรกะควรเกิดขึ้นอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง

ในบางกรณีก็อาจอะลุ้มอล่วยได้บ้าง แม้มันจะยากเกินการกระทำของมนุษย์ปุถุชนทั่วไปทำ อาทิเช่น

- เขาลงจากที่นั่งคนขับ ลงมาจากรถ พร้อมกับจูงมือให้เธอลงมาด้วยกัน
(เป็นการกระทำที่เกินหลักความเป็นจริง แต่ก็ยังพอรับได้ว่า ลากคนที่นั่งข้างๆ ข้ามผ่านเบาะคนขับมาออกประตูด้านเดียวกัน แต่ต้องยอมรับความจริงว่า “มันผิดวิสัยที่คนปกติเขาทำกัน”)



ส่วนที่เรียกว่า "ตรรกะผิด" จนไม่สามารถรับได้นั้น อาทิเช่น

-เขาโอบหมีตัวใหญ่ยักษ์ไว้แนบอก ขณะเร่งขับมอเตอร์ไซค์กลับไปหาเธอในทันที
(หากโอบหมีตัวใหญ่ขนาดนี้ คงไม่สามารถขับมอเตอร์ไซค์ได้ และหากตำรวจเห็นก็คงไม่ปล่อยไว้แน่ๆ )


หรือการระบุถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ว่าสถานที่ หรือวัฒนธรรม ฯลฯ อย่างชัดเจน แต่เขียนผิดเพราะหลุดเอง หรือว่าข้อมูลไม่แน่นพอ ก็ต้องเข้าข่าย ตรรกะผิดอย่างชัดเจนเช่นกัน

- ที่ริมหาดหัวหินเขาและเธออิงแอบนั่งอยู่ด้วยกันบนพื้นทรายมองพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าลงทะเล
(ชายหาดหัวหินไม่สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ตกทะเลได้ตามที่ตั้งของภูมิประเทศ)

- ทันทีที่เจษฎามาถึงสนามบินประเทศซาอุดิอารเบีย โมฮัมเหม็ดคนขับรถก็รีบกระพุ่มมือไหว้ต้อนรับเขาทันที

(วัฒนธรรมของคนมุสลิม ในประเทศที่บ่งบอกความเป็นมุสลิมอย่างชัดเจน คนขับรถซึ่งตามชื่อก็น่าจะเป็นคนพื้นเมือง อีกทั้งยังไม่เคยเจอกันมาก่อน คงไม่ต้อนรับด้วยธรรมเนียมวิถีของคนไทยด้วยการไหว้อย่างแน่นอน ถึงแม้จะดูว่า อยากให้เจษฎาประทับใจก็ตาม)
ยกตัวอย่างพอหอมปากหอมคอ เดี๋ยวคนเขียนจะท้อไปเสียเปล่าๆ แต่จริงๆ แล้ว เรื่องของตรรกะ หากคนเขียนมีข้อมูลในเรื่องที่ตัวเองจะเขียน มีความเข้าใจ หรือทำการบ้านมาแน่นพอ มีการวางแผนอย่างดี ไม่ใช่เขียนไปตามอารมณ์เรื่อยเปื่อย และประณีตอ่านทบทวนสิ่งที่ตัวเองเขียนไป และคิดตามนั้น การผิดตรรกะก็คงยากที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน



 


  คำตอบที่ 5  
 

Tethys

17 ก.พ. 57
เวลา 8:42:51
เพิ่มเติมนิด กรณีเรื่องจูงลงมาจากรถด้านคนขับ หากอยู่ในภาวะวิกฤติ จวนตัวคับขัน ก็อาจลากลงมาทางเดียวกันได้

ซึ่งการพิจารณาตรรกะก็ต้องดูสถานการณ์ในฉากนั้นๆ เป็นหลักด้วยเหมือนกัน
 


  คำตอบที่ 6  
 

คุณพีทคุง

25 ก.พ. 57
เวลา 20:55:13
เห็นด้วยหมดเลยครับ ฮ่าๆ

ส่วนตัวเห็นว่าความสมเหตุสมผลในนิยาย เอาโลกความจริงมาตัดสินโดยเด็ดขาดไม่ได้ ต้องพิจารณาในสภาพแวดล้อมของนิยายเรื่องนั้นเองครับ เพราะโลกของนิยายเรื่องนั้นอาจจะมีเหตุปัจจัยบางอย่างที่ต่างไปจากโลกความจริง ในเมื่อเหตุมันเป็นยังไง ผลมันก็ต้องเป็นไปในทางเกี่ยวเนื่องกัน ถึงเรียกว่า "สมเหตุ" และ "สมผล"

ในขณะเดียวกัน คนอ่านอยู่ในโลกของคนอ่าน ไม่ได้อยู่ในโลกนิยาย จึงเป็นหน้าที่ของคนเขียนที่จะแสดงความสมเหตุสมผลนั้นออกมา ให้คนอ่านเข้าใจได้ และรู้สึก "เชื่อ" แม้ว่าความเป็นเหตุเป็นผลของนิยายนั้นอาจจะต่างจากโลกความจริง

นั่นคือขั้นตอนของการปูพื้น ให้คนอ่านค่อยๆ ก้าวเข้าไปสู่โลกของนิยาย และคุ้นเคยกับสภาพเหตุปัจจัยที่แตกต่างจากโลกความจริงที่เขารู้จักครับ

นิยายบางแนวเช่น แฟนตาซี ไซไฟ คนอ่านจะพร้อมยอมรับเหตุปัจจัยที่แตกต่างไว้ก่อนล่วงหน้า เพราะรู้อยู่แล้วว่ากฎในโลกของนิยายแนวนี้ต้องต่างจากโลกความจริง แต่นิยายแนวชีวิตจริงร่วมสมัยเองก็จำเป็นต้องมีการปูพื้น เพราะเหตุปัจจัยในนิยายหลายอย่างเป็นเรื่องของคน เช่น ภูมิหลังของตัวละคร ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร ที่มันอาจจะส่งผลให้ตัวละครตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง ที่ถ้าคนอ่านไม่รู้ก่อนว่าตัวละครมีเหตุปัจจัยที่แตกต่าง อาจจะคิดว่า "ไม่สมเหตุสมผล" แต่ถ้าคนอ่านมองเห็นว่ามีเหตุปัจจัยที่แตกต่าง (แม้จะไม่รู้ชัดเจนว่าคืออะไร) ก็สามารถทำใจให้ยอมรับว่ามันอาจจะเป็นสิ่งที่ "สมเหตุสมผล" ได้ แม้เราจะยังไม่รู้เหตุผลก็ตาม

โดยปกติแล้ว แม้นิยายจะต้องสร้างความรู้สึกสมเหตุสมผลให้กับคนอ่าน แต่ในขณะเดียวกัน ในความสมเหตุสมผลนั้นก็ต้องมีความน่าฉงนหรือแปลกใจอยู่ด้วย เพราะถ้าทุกอย่างเกิดขึ้นแบบจำเจ เดาได้ไปหมด คนอ่านก็คงไม่สนุก เรื่องก็คงไม่น่าสนใจ ไม่ตื่นเต้น

สิ่งที่คนเขียนต้องทำก็คือ พยายามผสมผสานระหว่างความน่าฉงนกับความเป็นปกติธรรมดาที่คนอ่านคุ้นเคย เพื่อให้เรื่องราวมีความ "สมเหตุสมผล" ในตัวเอง และสนุกน่าค้นหาไปด้วยพร้อมกันครับ

(คิดได้ แต่ทำไม่ได้ ฮ่าๆๆ หัดก่อน)
 




  เชิญกรอกข้อความเพื่อตั้งคำถาม  
  กรุณา login เพื่อตอบคำถาม