ตอบคำถามเพิ่ม คลิกที่นี่
 
  เรียนถามเรื่องรายได้ของนักเขียนครับ  
 
 

sogood197

3 ส.ค. 56
เวลา 4:02:32

พิมพ์
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
ขอเรียนถาม ๖ ข้อครับ

๑. นักเขียนสามารถต่อรองราคากับสำนักพิมพ์ได้ไหม หรือว่าสำนักพิมพ์เค้าจะเป็นคนกำหนดเองว่าหนังสือของเราจะต้องได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่

๒. วรรณกรรม ๑ เล่ม จะได้ค่าตอบแทนประมาณเท่าไร ในกรณีที่เป็นนักเขียนหน้าใหม่ แต่วรรณกรรมนั้นเป็นวรรณกรรมชั้นดี

๓. ค่าตอบแทนของวรรณกรรมขึ้นอยู่กับอะไร ขึ้นอยู่กับจำนวนหน้าของหนังสือ หรือขึ้นอยู่กับประเภทของวรรณกรรม หรือขึ้นอยู่กับสำนักพิมพ์เล็กใหญ่ หรือขึ้นอยู่กับอะไร

๔. หากนักเขียนมีชื่อเสียงแล้ว หรือมีรางวัลการันตี จะได้ค่าตอบแทนจากการเขียนเพิ่มขึ้นสักเท่าใด

๕. นอกจากค่าลิขสิทธิ์แล้ว นักเขียนจะได้ค่าตอบแทนทางด้านอื่นอีกหรือไม่

๖. นักเขียนจะขอต่อรอง ขอมีเอี่ยวใน % ยอดขายของหนังสือด้วยคนได้หรือไม่
 


  คำตอบที่ 1  
 

ฮาบีบี้

5 ส.ค. 56
เวลา 7:22:33
ไม่รู้ว่าต่อรองราคาได้ไหม แต่ส่วนมาก สนพ. จะมีค่าต้นฉบับกำหนดไว้อยู่แล้ว จะมีแบบเหมาจ่าย และแบบกินเปอร์เซ็นตามยอดขาย ส่วนจะเท่าไหร่ ขึ้นอยู่แต่ละ สนพ.

ตอบได้เพียงเท่านี้ ขออภัยกั๊บ><

 


  คำตอบที่ 2  
 

คุณพีทคุง

6 ส.ค. 56
เวลา 3:44:19
ข้อมูลผมเก่าหน่อยนะครับ ห่างไกลแวดวงมาหลายปีแล้ว หลักการรวมๆ น่าจะยังคล้ายๆ กันอยู่ แต่รายละเอียดวิธีการและตัวเลขคงจะเปลี่ยนแปลงไปเหมือนกัน

ค่าตอบแทนต้นฉบับในเมืองไทย เมื่อหลายปีก่อนโน้น จะมีอยู่ 3-4 แบบครับ แต่ละสำนักพิมพ์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะใช้แบบไหน อาจจะแบบเดียวหรือหลายแบบผสมกันก็ได้ โดยทั่วไปแล้วโอกาสที่นักเขียนจะต่อรองนอกเหนือจากระบบที่ สนพ วางไว้จะมีน้อยมาก ถ้าไม่พอใจก็ต้องเปลี่ยนไปเสนองานที่อื่นเสียมากกว่า

1. แบบแรกคือ ขายขาด หรือเหมาจ่ายครั้งเดียว แล้วนักเขียนโอนลิขสิทธิ์ให้ สนพ ไปเลย หลังจากนั้น สนพ จะพิมพ์ขายกี่ครั้งก็แล้วแต่ สนพ นักเขียนไม่มีผลประโยชน์เพิ่มเติมจากราคาขายขาดครั้งแรก (แต่นักเขียนยังคงได้รับสิทธิ์ตามกฎหมายให้แสดงตัวตนเป็นผู้สร้างงานได้ ไม่เสียสิทธิ์การอ้างนี้ไป) แบบนี้นักเขียนไม่นิยม แต่บาง สนพ ก็ยังใช้อยู่ (ตอนนั้น) เพราะมันสะดวกต่อทาง สนพ

2. แบบที่สอง คิดเป็นเปอร์เซนต์จากมูลค่าการพิมพ์ ยกตัวอย่างด้วยตัวเลขสมมุตินะครับ สมมุติว่า ตกลงกับนักเขียนว่าจะได้ 5% พิมพ์ 3,000 เล่ม ขายราคาเล่มละ 100 บาท นักเขียนจะได้รับค่าตอบแทน = 5% x 3,000 x 100 = 15,000 บาท สำหรับการพิมพ์ครั้งแรก ถ้ามีการพิมพ์ครั้งต่อไป ก็ใช้สูตรเดียวกันในการคำนวณ แบบนี้จะมีระยะเวลาสัญญาด้วย เช่น 5 ปี เมื่อหมดระยะเวลาแล้ว นักเขียนมีสิทธิ์จะเอาต้นฉบับไปเสนอที่อื่นได้ เมื่อก่อน สนพ ส่วนใหญ่จะใช้แบบนี้ครับ

3. แบบที่สาม เมื่อก่อนเมืองไทยไม่มี เพิ่งเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ 7-8 ปีที่ผ่านมานี่เอง คือคิดเป็นเปอร์เซนต์จากยอดขาย คือถ้าขายได้มากนักเขียนก็ได้มาก ถ้าขายไม่ได้ นักเขียนก็ไม่ได้ ตัวอย่างเช่น นักเขียนได้รับค่าตอบแทน 10% ราคาหนังสือ 100 บาท พิมพ์ 3,000 เล่ม แต่ขายได้ 1,000 เล่ม นักเขียนจะได้ 10,000 บาท เป็นต้น แบบนี้นักเขียนไม่ค่อยชอบ เพราะ (1) เช็คยากว่า สนพ ขายได้เท่าไหร่ ขายได้จริงตามที่บอกหรือเปล่า (2) ได้เงินช้า กว่าจะขายได้อาจจะเป็นปี (3) ถ้า สนพ ทำการตลาดไม่เก่ง หนังสือขายไม่ได้ นักเขียนก็ต้องพลอยรับผิดชอบกับความไม่เก่งของ สนพ ไปด้วย ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดตัวเอง

4. เคยมีความพยายามที่จะผสานแบบที่สามเข้ากับแบบที่ 2 โดยให้มียอดจำนวนหนึ่งก้อนแรกที่จ่ายบางส่วนก่อน ที่เหลือใช้แบบที่สาม

ปัจจุบันนี้ผมไม่แน่ใจว่าพัฒนาการเมืองไทยไปในทางไหนแล้วนะครับ แบบที่สามยังมีคนทำอยู่หรือเปล่า หรือไม่ได้รับความนิยมจนเลิกไปแล้ว อันนี้ไม่ทราบจริงๆ

ถ้าเป็นแบบที่ 2 คือคิดเปอร์เซนต์ตามมูลค่าการพิมพ์ แต่ละ สนพ จะตั้งไม่เท่ากันครับ สมัยก่อนนู้นโดยเฉลี่ยเริ่มที่ 5-8% สำหรับนักเขียนใหม่ ถ้าเริ่มเป็นที่รู้จักและขายได้ เปอร์เซนต์ก็จะเพิ่มขึ้นได้ถึง 10-12% ส่วนนักเขียนดังมากๆ ระดับแนวหน้าได้กี่เปอร์เซนต์ อันนี้ผมไม่ทราบครับ

มาที่คำถามทีละข้อนะครับ

**** ๑. นักเขียนสามารถต่อรองราคากับสำนักพิมพ์ได้ไหม หรือว่าสำนักพิมพ์เค้าจะเป็นคนกำหนดเองว่าหนังสือของเราจะต้องได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่

ส่วนใหญ่แล้ว สนพ จะมีเกณฑ์ตายตัวครับ ยิ่ง สนพ ใหญ่ยิ่งแน่นอน เพราะใช้กับทุกคนเท่ากันหมด ถ้าเป็นนักเขียนใหม่หรือเพิ่งเริ่มเป็นที่รู้จัก ก็ต้องตามระบบของ สนพ แต่ถ้าเป็นนักเขียนระดับดังคับฟ้า ที่หลาย สนพ แย่งตัวกัน อันนี้ก็เป็นกรณีเฉพาะ เป็นรายบุคคลไปครับ

**** ๒. วรรณกรรม ๑ เล่ม จะได้ค่าตอบแทนประมาณเท่าไร ในกรณีที่เป็นนักเขียนหน้าใหม่ แต่วรรณกรรมนั้นเป็นวรรณกรรมชั้นดี

ค่าตอบแทนไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่างานเขียนนั้นเป็นวรรณกรรมชั้นดีหรือไม่ครับ แต่ขึ้นอยู่กับว่า งานเขียนชิ้นนั้นมีแววว่าจะขายได้มากแค่ไหน ถ้าเป็นวรรณกรรมชั้นดี มีคุณภาพ สะท้อนสังคม แต่ขายไม่ออก ค่าตอบแทนอาจจะน้อย หรือ สนพ อาจจะไม่อยากพิมพ์เลยก็เป็นได้

ค่าตอบแทนประมาณเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับว่า สนพ ใช้ระบบค่าตอบแทนแบบไหนข้างต้น กับราคาขายของหนังสือ และรายได้ที่ สนพ คาดว่าจะได้รับครับ ถ้าคาดว่าจะขายได้เงินมาก ค่าตอบแทนก็มีโอกาสจะสูงตามครับ

**** ๓. ค่าตอบแทนของวรรณกรรมขึ้นอยู่กับอะไร ขึ้นอยู่กับจำนวนหน้าของหนังสือ หรือขึ้นอยู่กับประเภทของวรรณกรรม หรือขึ้นอยู่กับสำนักพิมพ์เล็กใหญ่ หรือขึ้นอยู่กับอะไร

ทุกปัจจัียที่กล่าวมาครับ แต่โดยสรุปคือ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการขายของหนังสือ

จำนวนหน้าของหนังสือ ทำให้ราคาต่อเล่มสูงกว่า ค่าตอบแทนก็มักจะสูงกว่า แต่ไม่ได้เป็นสัดส่วนต่อจำนวนหน้านะครับ เช่น ไม่ใช่ว่านิยาย 600 หน้าจะได้ค่าตอบแทนสองเท่าของนิยาย 300 หน้าเสมอไป

ประเภทของงานเขียนจะเป็นตัวกำหนดว่าตลาดผู้ซื้อมีมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นงานเขียนประเภทเฉพาะกลุ่มมาก คนซื้อน้อย ค่าตอบแทนก็ต่ำ เพราะ สนพ ได้เงินน้อย

สนพ เล็กใหญ่ก็มีผลครับ แต่ไม่ใช่ว่าใหญ่จะให้มากกว่าเล็กเสมอไป สนพ ใหญ่อาจจะมีระบบที่เข้มงวดกว่า และค่าตอบแทนเริ่มต้นอาจจะต่ำกว่าก็ได้ เพราะเขามีความเสี่ยงสูงกว่า ในขณะเดียวกันนักเขียนที่ได้ออกกับ สนพ ใหญ่ก็มีโอกาสเป็นที่รู้จักมากกว่า และมีโอกาสขายได้มากกว่า

**** ๔. หากนักเขียนมีชื่อเสียงแล้ว หรือมีรางวัลการันตี จะได้ค่าตอบแทนจากการเขียนเพิ่มขึ้นสักเท่าใด

รางวัลด้านวรรณกรรม สำหรับตลาดหนังสือทั่วไปไม่ค่อยมีผลนะครับ ถ้าเป็นคนดัง เช่น ดารา นักร้อง อันนี้ยังมีผลมากกว่า จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเท่าไหร่ ระบุเป็นตัวเลขไม่ได้หรอกครับ ขึ้นอยู่กับว่า สนพ คำนวณว่าความดังของคนเขียนจะช่วยดึงยอดขายได้แค่ไหน ถ้าดึงได้กระฉูด สนพ ก็คงอยากตอบแทนเยอะๆ ไม่งั้นนักเขียนก็คงไปให้ สนพ อื่นพิมพ์

**** ๕. นอกจากค่าลิขสิทธิ์แล้ว นักเขียนจะได้ค่าตอบแทนทางด้านอื่นอีกหรือไม่

โดยทั่วไปจะไม่ได้เป็นตัวเงินเพิ่มนะครับ ยกเว้นนักเขียนจะทำงานอื่นในกระบวนการผลิตด้วย ก็ได้รับค่าจ้างจากงานนั้นไป

แต่หลาย สนพ ส่งเสริมนักเขียนด้วยวิธีการต่างๆ เช่น จัดอบรมสัมมนา เปิดโอกาสให้พบปะเรียนรู้จักนักเขียนชั้นครู จัดกิจกรรมโปรโมทเปิดตัวนักเขียน ทำให้เป็นที่รู้จัก ฯลฯ ซึ่งมีประโยชน์ต่อนักเขียนมากครับ

**** ๖. นักเขียนจะขอต่อรอง ขอมีเอี่ยวใน % ยอดขายของหนังสือด้วยคนได้หรือไม่

ถ้าเป็นระบบการตอบแทนแบบที่ 2 ข้างต้น นักเขียนจะได้เปอร์เซนต์จากมูลค่าการพิมพ์อยู่แล้ว และจะไม่ได้รับเปอร์เซนต์จากยอดขายเพิ่มอีกครับ (คิดเสมือนหนึ่งว่าขายได้ทุกเล่ม ซึ่งนักเขียนได้ประโยชน์อยู่แล้ว)

ถ้าเป็นแบบที่ 3 นักเขียนจะได้จากยอดขายอยู่แล้วครับ ไม่ต้องต่อรอง

ถ้าเป็นแบบที่ 1 สนพ ที่ใช้ระบบนี้ไม่ต้องการจ่ายเป็นเปอร์เซนต์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นต่อรองไปก็ไม่มีผลครับ
 


  คำตอบที่ 3  
 

Tethys

9 ส.ค. 56
เวลา 8:52:25
มาอ่านคุณพีท ตาลายเลย

ทุกอย่างตามคุณพีท และท่านอื่นๆ ค่ะ ไม่มีอะไรเพิ่มเติม

แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ราคากลางกำลังเริ่มมีการขยับเริ่มต้นที่ 11-13% สำหรับนักเขียนหน้าใหม่
(ย้ำว่าหน้าใหม่ โดยถือเป็นราคากลาง)
มีบางสนพเริ่มต้นแล้วเหมือนกัน แต่กว่าจะเป็นราคากลาง ราคาตลาดคงอีกนาน

การพิมพ์ซ้ำก็ขยับขึ้นเหมือนกัน จากไม่มีก็มี จาก 15% อัพเป็น 18 หรือ 20 แต่เป็นรายๆ ไป


ช่วงนี้สนพเล่มๆ แข่งกับอีบุ้คส์มากๆ ราคาต่างๆ จึงมีการปรับตัว ตามเศรษฐกิจ

อาทิตย์หน้าจะมีการประชุมกับต่างประเทศ ถึงลิขสิทธิ์และค่าตอบแทนในอีบุ้คส์ คิดว่างานนี้ คนไทยคงลุยกันเต็มที่แน่ๆ


5555 และล่าสุดเช้านี้เอง มีคนตั้งประเด็นนอกสภาว่า ถ้าการเมือง เศรษฐกิจตึงเครียด หนังสืออาจกลับมาขายดีมากขึ้น โดยเฉพาะหมวดบันเทิง เริงใจ

จบข่าว

(เหมือนรายงานข่าวจริงๆ)

 


  คำตอบที่ 4  
 

แครอทสีส้ม

9 ส.ค. 56
เวลา 21:54:20
ขอบคุณสำหรับข้อมูลและข่าวสารดีๆมานะคะ จะได้เป็นกำลังใจกับคนเขียนรุ่นใหม่ๆต่อไปค่ะ
 




  เชิญกรอกข้อความเพื่อตั้งคำถาม  
  กรุณา login เพื่อตอบคำถาม