ตอบคำถามเพิ่ม คลิกที่นี่
 
  เขียนหนังสือไม่ได้ง่าย แถมต้องเผชิญปัญหามากมาย  
 
 

อ.วิชัย กอสงวนมิตร

21 มิ.ย. 56
เวลา 13:55:20

พิมพ์
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
(เขียนจากประสบการณ์นักเขียนน้อยๆ ที่ไม่มีชื่อเสียง แต่ทำหนังสือขายมาแล้วสามเล่ม)
ผมทำงานมากว่าสามสิบปี ไม่เคยคิดจะเขียนหนังสือขายมาก่อนเลย ด้วยบังเอิญสี่ปีที่ผ่านมา ผมมาลองใช้ชีวิตเป็นอาจารย์สอนด้านการจัดการและบริหารทรัพยากรมนุษย์ในมหาวิทยาลัย และมีเพื่อนส่งแรงเชียร์ให้เขียนหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คส์ ประจวบกับผมรู้สึกว่า หนังสืออ่านที่จะแนะนำการเป็นผู้นำที่ดี ที่เขียนโดยคนไทยยังมีน้อยมาก มีแต่หนังสือแปลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่เหมาะกับผู้อ่านคนไทย ผมจึงเขียนหนังสือ "33 กฏทองสู่ความสำเร็จในการเป็นผู้นำ" ขึ้น โดยนำประสบการณ์จากการทำงานและสิ่งที่เห็นมา เขียนต้นฉบับหนังสือขึ้นโดยใช้เวลาเขียนอยู่ราวครึ่งปี
ก็คงเป็นดั่งนักเขียนทุกคน ที่อยากให้สำนักพิมพ์ที่มีร้านหนังสือมากที่สุด เป็นผู้พิมพ์และวางตลาดหนังสือให้ ผมจึงส่งต้นฉบับไปให้พิจารณา ด้วยความเกรงใจผมรอสองเดือนก็แล้ว สามเดือนก็แล้ว แต่ก็ไม่มีคำตอบใดๆ กลับมาเลย จนเดือนที่สี่ผมจึงโทรไปสอบถาม ก็ได้รับคำตอบว่า "สำนักพิมพ์ไม่มีนโยบายพิมพ์หนังสือแนว how to" ผมไม่มีสิทธิ์โกรธเคือง เพราะเข้าใจดีว่าแต่ละสำนักพิมพ์อาจมีนโยบายไม่เหมือนกัน และหากไม่มั่นใจว่าขายได้ ก็คงไม่อยากลงทุนให้ ........แต่ผมก็เคืองใจมาถึงทุกวันนี้ว่า ทำไมไม่รีบแจ้งคำตอบมาให้ผู้เขียน ผมจะได้นำต้นฉบับไปเสนอสำนักพิมพ์อื่น
ผิดหวังจากสำนักพิมพ์ใหญ่สุด ผมค้นหาสำนักพิมพ์ขนาดกลาง และหาสำนักพิมพ์ที่มักพิมพ์หนังสือในแนว how to แล้วจึงส่งต้นฉบับไปให้พิจารณา (ผู้เขียนต้องมีมารยาทในการส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์ทีละแห่ง) หลังจากส่งไปได้ราวหนึ่งเดือน ผมก็ได้รับข่าวดีว่า สำนักพิมพ์นี้สนใจต้นฉบับหนังสือที่ผมเขียน ผมจึงขอนัดเข้าไปพบกับผู้อำนวยการฝ่ายของสำนักพิมพ์นี้ โดยเดินทางจากเชียงใหม่เข้าไปพบที่กรุงเทพฯ ท่านให้การต้อนรับผมเป็นอย่างดี เสนอเงื่อนไขแบ่งส่วนแบ่งจากการขายหนังสือให้ผู้เขียน 10 % ซึ่งเป็นมาตรฐานทั่วไป พร้อมกับบอกกับผมว่า จะให้ผมมาเปิดตัวหนังสือที่ผมเขียนในงานสัปดาห์หนังสือปลายปีด้วย .....ผมสุดจะดีใจ
เวลาผ่านมาอีกหลายเดือน ผมไม่เห็นทางสำนักพิมพ์ทำอาร์คเวิร์คหรือแจ้งความคืบหน้าการผลิตหนังสือมาให้ผมเลย ผมจึงโทรไปสอบถามผู้อำนวยการฝ่ายคนเดิมอีกครั้ง ท่านตอบกับผมอย่างเหลือเชื่อว่า ทางกรรมการบริษัทฯ ไม่มั่นใจว่าหนังสือที่ผมเขียนจะขายได้ จึงขอเสนอซื้อลิขสิทธิ์จากผู้เขียนในราคาหนึ่งหมื่นบาทแทน ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าแล้วที่ผ่านมาทำไมคุยกับผมอย่างมั่นเหมาะ และถ้าไม่มั่นใจว่าจะขายได้ จะเสียเงินหนึ่งหมื่นบาทให้ผมทำไม ....ผมไม่ชอบคนผิดคำพูด ผมก็เลยขอต้นฉบับคืน
เท่ากับผมเสียเวลาไปเกือบปี เริ่มต้นใหม่อีกครั้งนำเสนออีกหนึ่งสำนักพิมพ์ เหมือนฟ้ามาโปรด สำนักพิมพ์นี้ตอบผมมาอย่างรวดเร็วไม่เกินสองสัปดาห์ แล้วก็เริ่มทำอาร์คเวิร์คมาให้ดู เพียงสามเดือนหนังสือก็ออกวางตลาดได้ ไม่น่าเชื่อว่า จะเป็นหนังสือที่ขายดี ขนาดติดท็อปเท็นของร้านนายอินทร์รวมทุกสาขาทุกหมวด แต่หนังสือก็ขาดตลาดอย่างมากที่ซีเอ็ดบุ๊คส์ ส่วนบีทูเอสวางขายล่าช้านับเดือนแทบทุกสาขา ในที่สุดหนังสือสี่พันเล่มที่พิมพ์รอบแรกก็หมด ผมจึงหวังว่าสำนักพิมพ์จะพิมพ์เพิ่มรอบสอง แต่สำนักพิมพ์ก็พอใจเพียงเท่านั้น ก็ไม่ว่ากัน ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า พิมพ์เพิ่มหลังขาดตลาดจะขายได้ดีเหมือนเดิมหรือไม่ แต่สัญญาลิขสิทธิ์นั้น ภายในสิบปีผมไม่สามารถพิมพ์หนังสือนี้ได้อีกเลย
ผมเริ่มได้กำลังใจอยากจะเขียนเล่มที่สอง จนผมได้หัวเรื่องชื่อหนังสือใหม่ ผมจึงเขียน "33 กฏทองสู่ความสำเร็จในชีวิตทำงาน" เพื่อเป็นหนังสือแนะนำพนักงานให้ทำงานให้ดี ชีวิตก้าวหน้า โดยหวังว่าจะเป็นหนังสือใช้คู่กับหนังสือเล่มแรกซึ่งเน้นให้คำแนะนำหัวหน้า สำนักพิมพ์นี้ก็รีบดำเนินการพิมพ์ให้ ถึงแม้ว่าจะขายไม่เร็วเท่าเล่มแรก แต่สี่พันเล่มก็ขายหมดในเวลาราวปีเศษ และก็ไม่ได้รับพิมพ์ซ้ำรอบสองอีกเช่นเดิมเหมือนหนังสือเล่มแรก ผมคิดแล้ว....รายได้จากการเขียนหนังสือขาย หากคิดว่าจะทำเพื่อชื่อเสียงก็พอได้ครับ แต่หากจะเพื่อเลี้ยงชีพแล้ว...คงยาก
พ็อกเก็ตบุ๊คส์เล่มที่สาม หนังสือเล่มใหม่นี้มีเรื่องไม่น่าเชื่อหลายอย่าง นับตั้งแต่ก่อนคิดจะเขียน หาชื่อหนังสือที่จะเขียน ไปจนถึงการหาสำนักพิมพ์ และการหาทางทำให้หนังสือขายได้ดี
ตั้งแต่ราวต้นปี มีรุ่นพี่ผมคนหนึ่งได้มาเที่ยวเชียงใหม่ และขอให้ผมขับรถพาไปพบร่างทรงพระเจ้าเสือ ที่ตำหนักแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ผมก็เลยไปนั่งฟังด้วยโดยไม่สอบถามอะไร เพราะผมไม่ชอบที่จะไปรู้อนาคตล่วงหน้า แต่ท่านก็ได้แนะนำให้ผมเขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่ง และบอกผมว่าจะประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงจากเล่มใหม่นี้ ผมก็ได้แต่รับฟังแต่ก็คิดไม่ออกว่าจะเขียนหนังสือชื่ออะไร เกี่ยวกับกับอะไรดี ผ่านมาอีกหลายเดือนก็บังเอิญมีเรื่องลูกน้องเก่าที่ชลบุรีคนหนึ่ง สามีไปถูกภรรยาน้อยทำพิธีกรรมให้หลงไหลและเสียเงินทองไปจำนวนมาก ทั้งที่ผมก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่ก็จำเป็นต้องช่วยเหลือและทดลองแก้ไข จึงพาให้มาทำพิธีกรรมแก้คุณไสยที่ตำหนักแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง ปัญหาหนักมากขนาดต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก และต้องทำพิธีกรรมกันถึงในป่าช้าเวลากลางคืน (แต่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย) จนปัญหาคลี่คลายกลับสู่ครอบครัวปกติได้ และร่างทรงที่ทำพิธีก็แนะนำให้ผมไปนั่งสมาธิที่วัดแห่งหนึ่งแถวบ้านที่แม่ริม ในวันพุทธชยันตรี(ครบรอบสองพันหกร้อยปีของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า) และผมก็ได้ชื่อและเค้าโครงหนังสือมาเขียนเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คส์เล่มที่สามของผมอย่างเหลือเชื่อ
ผมคิดว่าการนั่งสมาธิน่าจะเป็นการใช้ความสงบร่วมกับเหตุผลไตร่ตรองปัญหา จึงทำให้ผมนึกได้ เข้าใจได้หลายๆ สิ่งที่ผมไม่เคยคิดมาก่อน การเขียนหนังสือและการทำงานทุกชนิด คนเราจำเป็นต้องทำในสิ่งที่ตนถนัด มิฉะนั้นก็จะทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อยามจิตใจสงบและตั้งใจคิดหาเหตุผล ผมก็นึกออกได้เองว่า มีเพียงสองแนวของเรื่องที่ผมจะเขียนได้ถนัด นั่นคือแนวบริหารบุคคลหรือแนวการจัดการ (เพราะทุกวันนี้ผมเป็นอาจารย์สอนในวิชาสองกลุ่มนี้อยู่แล้ว และมีประสบการณ์โดยตรงพอสมควรด้วย) แต่พ็อกเก็ตบุ๊คส์สองเล่มแรกจะหนักไปด้านการบริหารบุคคล ผมจึงน่าจะลองเขียนเรื่องการจัดการ ซึ่งใหญ่กว่ากว้างกว่าบ้าง เพียงแต่ผมจะเขียนทำนองไหนและใช้ชื่ออะไร ชื่อหนังสือก็สำคัญมาก และอะไรจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่จะนำมาเปรียบเทียบหรือยกเป็นตัวอย่างในการเขียน
ผมไม่รู้ว่าคำว่าฝนหลวงเข้ามาสู่สมองผมได้อย่างไร และผมก็เริ่มคิดว่าโครงการฝนหลวงที่ในหลวงทรงทำมานาน จะเป็นตัวอย่างการจัดการที่ดีมาก และง่ายสำหรับผมในการหาข้อมูลและในการเขียน ด้วยเพราะเป็นโครงการพระราชดำริที่ทำเพื่อประชาชน ส่วนข้อเสนอแนะหรือแนวคิดการจัดการนั้นเป็นสิ่งที่ผมจะต้องเขียนขึ้นใหม่ และก็น่าจะหาเขียนแง่คิดหรือหลักคิดการจัดการที่ดีให้เป็นตอนๆ ได้ ในที่สุดผมก็ได้ชื่อหนังสือ "การจัดการที่ดี ต้องเหมือนการทำฝนหลวง" มาจากการนั่งสมาธิที่วัดป่าดาราภิรมย์
ผมใช้ความตั้งใจหาข้อมูล ความพยายามและความละเอียดอย่างที่สุดในการเขียนต้นฉบับหนังสือเล่มใหม่ ถึงแม้จะไม่ได้เร่งรีบ แต่ผมก็ใช้เวลาว่างของทุกวันไม่เว้นวันหยุด เขียนแล้วแก้ไขปรับปรุงมาตลอด เพียงชั่วเวลาเกือบหนึ่งเดือน ต้นฉบับหนังสือเล่มใหม่ผมก็เสร็จสมบูรณ์ ระหว่างเขียนผมก็ได้ทดสอบให้อาจารย์ที่ผมนับถือ เพื่อนสนิท สองสามคนช่วยให้วิจารณ์และให้ความคิดเห็น ก็ได้รับความมั่นใจอย่างมากว่าสิ่งที่ผมเขียนมานั้นมีประโยชน์มาก และน่าจะเป็นหนังสือที่ขายดีมากกว่าสองเล่มแรก
ผมพกความมั่นใจเต็มร้อย และด้วยความหวังว่าหากสำนักพิมพ์ใหญ่ลงทุนให้น่าจะพิมพ์จำนวนมากขึ้นและหนังสือก็จะได้จัดโชว์ดีขึ้น ไม่ถูกนำไปซุกขายหรือมีๆ ขาดๆ จากชั้นโชว์ จึงนำต้นฉบับพ็อกเก็ตบุ๊คส์เล่มใหม่ไปนำเสนอสำนักพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทยอีกครั้ง ซึ่งที่นี่เคยปฏิเสธไม่พิมพ์เล่มแรกให้ผมมาแล้ว และก็ปรากฏว่าภายหลังว่าเป็นหนังสือที่ขายดี เดินทางมากรุงเทพฯ เสียเวลาไปเกือบสองเดือนและก็ได้รับคำตอบเช่นเดิม คือทางสำนักพิมพ์ไม่อยากพิมพ์หนังสือแนวความรู้ how to เพราะขายยาก เรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ผมโกรธเคืองประการใด เพราะเป็นเรื่องปกติของพ่อค้าที่จะต้องคิดถึงเงินกำไรมากกว่าสิ่งที่สังคมจะได้รับ เพียงแต่ผมอดเคืองไม่ได้ที่ผมต้องส่งอีเมล์มาสอบถามว่าทำไมถึงเงียบหายไปเฉยๆ จึงจะรู้คำตอบ นับเป็นมารยาทที่แย่มากๆ ของสำนักพิมพ์และคนไทยจำนวนไม่น้อย ที่ชอบไม่แจ้งคำตอบหรือปล่อยให้ผู้ถามรอคำตอบนานๆ โดยไม่แจ้งความคืบหน้าใดๆ
เมื่อรู้ว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ที่สุดไม่พิมพ์ให้ ผมก็รีบส่งอีเมล์(อยู่เชียงใหม่จึงยังไม่สะดวกเดินทางมาใหม่) เสนอยังสำนักพิมพ์ที่ใหญ่เป็นลำดับสอง ไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่ตอบคำถามว่าจะให้ผมต้นฉบับไปให้ใครพิจารณา เป็นเวลาอีกเกือบเดือนก็ยังไม่ได้รับคำตอบ แต่ก็โชคดีที่มีผู้แนะนำให้รู้จักคนที่ทำงานอยู่ที่สำนักพิมพ์นี้ ผมจึงใช้วิธีเดินทางมากรุงเทพฯแล้ว นำมาฝากให้นำเสนอให้ แทนที่จะรอคำตอบทางอีเมล์อย่างไม่มีกำหนดตอบต่อไป
เท่านั้นยังไม่พอ หลังจากนั้นอีกเกือบเดือน สำนักพิมพ์แห่งที่สองนี้ก็ยังปฏิเสธที่จะลงทุนพิมพ์หนังสือวางขายให้อีก แต่กลับเสนอให้ผมเป็นผู้ลงทุนพิมพ์เอง ทีแรกผมก็นึกจะปฏิเสธแต่ก็อยากฟังข้อเสนอดู ซึ่งปรากฏว่าต้นทุนในการพิมพ์หนังสือเองจะถูกมาก เพียงแต่จะต้องมีเงินทุนสำรองก่อนไม่น้อย เพราะกว่าจะได้เงินจากการขายหนังสือคืนมาก็ไม่ต่ำกว่าสี่ห้าเดือน และถูกหักเปอร์เซ็นต์ไปจากราคาหนังสือสูงถึงสี่สิบเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อคิดรวมแล้วก็ยังมีเหลือมากกว่าการได้ส่วนแบ่งจากการที่สำนักพิมพ์ลงทุนให้และให้ผู้เขียนเพียงสิบเปอร์เซ็นต์อยู่มาก ประกอบกับผมมั่นใจว่าหนังสือเล่มใหม่นี้น่าจะขายได้ดีกว่าสองเล่มแรก ผมจึงตัดสินใจลงทุนเองเพื่อทำให้หนังสือเล่มนี้ได้ออกสู่ตลาด และต้องใช้เวลาอย่างมากในการสรุปเรื่องราคา แบบ และทำอาร์คเวิร์ค
เมื่อผมเป็นผู้ลงทุนพิมพ์หนังสือเอง โดยฝากให้สำนักพิมพ์ช่วยวางจำหน่ายให้ ผมจึงสามารถตัดสินใจพิมพ์หนังสือนี้ด้วยกระดาษที่คุณภาพดี พิมพ์เนื้อในสองสี ปกห้าสีมีสีทองเป็นสีพื้น พร้อมเคลือบเงาปกด้วย และหาวิธีที่จะทำการตลาดให้กับหนังสือที่จะวางตลาดด้วยตนเองเพิ่มด้วย ถึงแม้จะต้องเสี่ยงแต่ผมก็จำเป็นต้องทำ และขอให้ทางสำนักพิมพ์เร่งผลิตหนังสือให้เสร็จทันก่อนวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนม์พรรษา และเพื่อให้ได้ขายในช่วงเทศกาลปีใหม่ด้วยหลังจากนั้น
ผมต้องใช้เงินจากวงเงินบัตรเครดิต เพื่อลงทุนทำให้หนังสือเล่มที่สามที่ผมตั้งใจเขียนขึ้น เพื่ออยากให้ทุกองค์การทุกหน่วยงานเปลี่ยนวิธีการคิดและวิธีการทำงานใหม่ โดยนำเอาโครงการพระราชดำริฝนหลวง มาเป็นต้นแบบการจัดการที่ดี และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเทิดพระเกียรติในหลวงฯ ที่ทรงงานอย่างหนักเพื่อคนไทยด้วย ผมกล้าทำเพราะ ๑. ผมมีประสบการณ์ในการเขียนหนังสือขายมาแล้วสองเล่ม ผมจึงไม่เคยคิดว่าหนังสือที่มีเนื้อหาสาระ รายการโทรทัศน์สารคดีดีๆ จะไม่มีคนไทยสนใจ ก็เพราะคนที่รับผิดชอบการผลิตเอาแต่ผลิตเรื่องไร้สาระ แล้วก็สรุปเองว่ามีสาระขายไม่ได้ ไม่มีคนดู....แล้วคุณเคยทำไมไม่ลอง ไม่พยายาม แล้วอีกกี่ชาติคนไทยจึงจะได้บริโภคสิ่งที่มีสาระล่ะครับ ? ๒. ผมมีผู้ใหญ่และเพื่อนให้ความสนับสนุนและช่วยเหลือการทำหนังสือครั้งนี้ไม่น้อย และ ๓. บังเอิญธนาคารที่ผมใช้บัตรเครดิตอยู่ เคยโทรมาหาผมบ่อยๆ จะให้วงเงินสำหรับทำธุรกิจ ผมจึงตัดสินใจขอเงินกู้มาลงทุนครั้งนี้
แล้วนักเขียนใหม่ๆ คนอื่นๆ จะไม่เผชิญปัญหาแบบผมหรือ ? แล้วเขาจะฝ่าฟันเพื่อให้สำเร็จตามความตั้งใจได้อย่างไร ? ผมเชื่อว่ายังมีนักเขียนที่มีความสามารถอยู่มากมายในเมืองไทยที่ยังไม่มีชื่อเสียง แต่ทุกคนต้องฝากความหวังและอนาคตไว้กับสำนักพิมพ์เท่านั้นหรือ ? โดยที่คนที่พิจารณาต้นฉบับก็ใช่ว่าจะเก่งและถูกต้องเสมอไป
หนังสือเล่มใหม่นี้ นอกจากผมจะเสี่ยงลงทุนเองแล้ว ผมยังต้องใช้เวลาและสติปัญญาอย่างมาก ในการวางแผนการตลาดด้วยตนเอง ทั้ง 4 P ทางการตลาด ผมต้องคิดและทำเองให้มากที่สุด
ผมเขียนบทความนี้ขึ้น เพื่อสะท้อนปัญหาของผู้เขียนหนังสือเมืองไทย ด้วยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการให้กำลังใจในการตั้งใจผลิตผลงานมีคุณภาพการเขียนต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีวิธีการที่จะช่วยเหลือให้นักเขียนใหม่ๆ มีโอกาสสร้างผลงานได้บ้าง และได้รับการปฏิบัติและผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความตั้งใจและพยายามอย่างเหน็ดเหนื่อยในการเขียนหนังสือแต่ละเล่ม
วิชัย กอสงวนมิตร
25 พ.ย. 55
e-mail vichai@vipamusement.com
 


  คำตอบที่ 1  
 

iloverally

21 มิ.ย. 56
เวลา 20:39:37
://2g.pantip.com/cafe/library/topic/K12981910/K12981910.html

ในนี้ น่าจะอ่านสบายตาหน่อย

ชอบความเห็นที่เจ็ด
 


  คำตอบที่ 2  
 

Tethys

22 มิ.ย. 56
เวลา 13:39:13
แม้จะอ่านยาก แต่เรื่องราวที่นำเสนอทำให้ต้องตั้งใจอ่าน อ่านแล้วก็ไม่ผิดหวัง

เข้าใจความรู้สึกมากมาย เพราะก็ไม่ต่างอะไรกับท่านผู้เขียนเลยซาบซึ้งดี ทั้งในฐานะคนเขียนหนังสือ และคนทำหนังสือเอง

มันคงเป็นวัฏจักรสำหรับวงการหนังสือบ้านเรา ที่ใครมาเป็นนักเขียนก็อาจต้องตกอยู่ในวงวนแบบนี้ เมื่อเสนอสำนักพิมพ์ไม่ผ่าน หากอยากให้หนังสือออกสู่โลก ก็ต้องหาทุนมาทำเอง

เป็นหนี้ด้วยตัวเองสบายใจกว่า ติดหนี้บุญคุณหรือเสียความรู้สึกกับสำนักพิมพ์...

ขอให้ประสบความสำเร็จกับหนังสือเล่มนี้ และเล่มต่อๆ ไปนะคะ
 


  คำตอบที่ 3  
 

Tethys

22 มิ.ย. 56
เวลา 13:46:54
อีกนิดเถอะ ไม่รู้ว่าท่านผู้เขียนจะกลับเข้ามาอีกหรือเปล่า ขี้เกียจล็อกอินตอบในพันทิป

(ขอบคุณคุณไอสำหรับลิงก์ไปพันทิป ได้เห็นความเห็นของท่านอื่นๆ อีกด้วย)

ตัวเองอยู่วงการหนังสือนี้มา 40 กว่าปีแล้ว มากพอที่เห็นทุกๆ สิ่งในบ้านเรา วินาทีนี้ทำให้คิดได้ว่า

เรื่องการผลิตมันเป็นเรื่องของธุรกิจจริงๆ การเขียนหนังสือเพื่อธุรกิจมันไม่มีความสุขเลย ไม่ว่าจะส่งสนพ หรือ ทำขายเอง

สุดท้าย ถามตัวเองอีกครั้งกับ ช่วงเวลาที่เหลือ จะเขียนหนังสือ ทำหนังสือเพื่ออะไร คำตอบก็บอกว่า ขอเขียนอย่างมีความสุขแล้วกัน

จะไม่เข้าสู่วังวนของการทำธุรกิจอีก มันไม่ใช่ตัวเองจริงๆ ถึงจะทำขาย แต่ขายอย่างมีความสุข ไม่หวังว่ามันจะขายดี ได้กำไร ทำทะลุเป้าให้มากมายแค่ไหน

เขียนเพื่อตัวเอง และคนอ่านมีความสุข ได้เขียน ได้ทำ อยู่กับตัวอักษร ตัวหนังสือ ทั้งหมดแค่นี้ก็พอแล้วสำหรับความสุขช่วงสุดท้ายของชีวิต
 




  เชิญกรอกข้อความเพื่อตั้งคำถาม  
  กรุณา login เพื่อตอบคำถาม