ตอบคำถามเพิ่ม คลิกที่นี่
 
  ภาษานักหัดเขียน : มุมมอง  
 
 

copter

22 ก.พ. 56
เวลา 9:53:31

พิมพ์
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
สวัสดีเช้าวันศุกร์กับภาษานักหัดเขียนค่ะ
วันนี้น้องคอปขอนำเสนอสิ่งที่ทำเอาน้องคอปมึนไปหลายวัน
“มุมมอง” หรือ “point of view” “pov”
แล้วแต่ใครจะเรียกแบบไหนนะคะ

คำว่า “มุมมอง” คอปเชื่อว่าส่วนใหญ่ก็จะรู้จักกันเป็นอย่างดี
น้องคอปขอพูดใน”มุมมอง”ที่เราๆ ใช้กันเยอะนะคะ
นั่นคือ มุมมองที่เราเรียกกันว่า “มุมมองพระเจ้า”
บางคนอาจจะงง มันคืออะไร บางคนก็รู้ดีอยู่แล้ว

มุมมองที่นักเขียนส่วนใหญ่ใช้กันก็จะเป็นแบบนี้
แต่มุมมองพระเจ้าที่เราใช้ๆ กันก็ยังแบ่งแยกไปอีก
มีทั้งแบบที่ผู้เล่ารู้เห็นทุกอย่าง (เหมือนพระเจ้ามองมา)
เช่น อันธิกายืนอยู่ข้างคุณยาย เธออยากจะพยุงท่านลงบันได
แต่คุณแพรวใช้สายตาปรามหลานสาวเอาไว้
ท่านต้องการที่จะลงบันไดด้วยตัวเอง เพื่อพิสูจน์ว่าท่านแข็งแรงและทำได้
(แบบนี้ก็มักใช้กันเยอะค่ะ)

แบบที่สอง ผู้เล่ารู้เห็นสิ่งที่ตัวละครแสดงออก แต่ไม่รู้สิ่งที่อยู่ในหัว
เช่น อันธิกายืนเคาะเท้าอยู่ที่หัวบันได มองคุณยายที่ยืนหอบจับราวบันได
หย่อนขาลงไปทีละข้าง ไม่ถึง ๒ ขั้น ท่านก็ลื่นไถลลงไป

แบบที่สาม ตัวละครเป็นผู้เล่ารู้เห็นสิ่งที่อยู่ในหัวตัวเอง
แต่ไม่รู้สิ่งที่ตัวละครอื่นคิด
เช่น อันธิกายืนเคาะเท้าด้วยสีหน้ากังวล คิดว่าเธอไม่ควรให้คุณยายลงบันไดเองเลย
ท่านยังไม่แข็งแรงพอ และอาจจะลื่นไถลตกลงไปได้
(แบบนี้ก็ใช้กันเยอะค่ะ)

ขอบคุณข้อมูลและตัวอย่างดีๆ จาก
100 คำถามสร้างนักเขียน : นิยายคุณเขียนได้ด้วยตนเอง (ฟีลิปดา)
 


  คำตอบที่ 1  
 

copter

22 ก.พ. 56
เวลา 9:58:55
เรื่อง "มุมมอง" เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ตอนแรกก็ไม่ค่อยคิดถึงเท่าไหร่
แต่พอมาเขียนเอง มาหัดใช้ เล่นเอามึนตึบเหมือนกันค่ะ
โดยเฉพาะ คำเรียกชื่อแทนตัวเอง
ต้องขอขอบคุณพี่ฟีมากค่ะ ที่ให้คำชี้แนะ

ขอยกตัวอย่างที่เจอมานะคะ
เขาไม่รู้ว่า สองรักเขาไหม (เมฆคิด)
สองไม่แน่ใจว่า เธอจะรักเขาไหม (คนเขียนบรรยาย)
เธอไม่แน่ใจว่า เธอรักเขาไหม (สองคิด)

พอมองเห็นภาพตามไหมคะ
การใช้สรรพนาม คำเรียก ทำแทน ก็ผิดกันเยอะ
เอาไว้คราวหน้าค่ะ อิอิ

วันนี้แค่นี้ก่อนนะคะ ขอกลับไปมึนกับน้องสองต่อค่ะ

^_____^
 


  คำตอบที่ 2  
 

copter

22 ก.พ. 56
เวลา 10:06:08
อ้อ ขอเพิ่มอีกนิดนะคะ

เวลาเปลี่ยนมุมมอง อย่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาทุกย่อหน้านะคะ
ส่วนใหญ่ก็จะเลือกตัวละครหลักเป็นคนเดินเรื่อง
แล้วแช่ไว้สักพัก อาจจะสลับไปมุมมองพระเอก
หรือคนในเหตุการณ์ก็แล้วแต่

เวลาคุยกันหลายคนอย่าไป คนนั้นคิด คนนี้คิด
ถ้ากลัวลืม หรือสับสน
ก็เอาคิดว่าเราะเป็นนางเอก (หรือคนเล่า) ก็ได้ค่ะ
แล้วเราเห็น เราได้ยินยังไง
ก็ว่ากันไปตามสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราได้ยิน
หรือไม่ก็ลองสังเกตจากนิยายที่เราอ่านสิคะ
(อาจจะต้องเลือกนิยายหน่อย อิอิ
นิยายพี่ฟีเลย น้องคอปแนะนำ ฮ่าๆๆ)

ข้อนี้น้องคอปก็พยายามปรับปรุงกับนิยายตัวเอง
มือใหม่อย่างเรา ต้องใช้ความพยายามมากกันหน่อยค่ะ
สู้ๆ นะคะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ
 


  คำตอบที่ 3  
 

นิลปานัน

22 ก.พ. 56
เวลา 12:37:46
โอ้ ขอบคุณมากค่ะพี่คอป ยีนเขียนมั่วไปหมดเลยอ่ะ แหะๆๆ
 


  คำตอบที่ 4  
 

copter

22 ก.พ. 56
เวลา 17:38:05
เออ มั่วๆ ได้พิมพ์สามเล่ม

พี่มั่วบ้างดีกว่า คริ คริ
 


  คำตอบที่ 5  
 

iloverally

22 ก.พ. 56
เวลา 19:43:15
...ขอบคุณค่ะ คุณคอป...
อัดแน่น ไปด้วย มุมมอง
โอโหหหหหหห
ยากกว่า เปิดเรื่องอีกค่ะ
เพราะ มุมมอง ต้องใช้ ทั้งเรื่อง

 


  คำตอบที่ 6  
 

มะนอแน่

22 ก.พ. 56
เวลา 21:47:08
มองงงงงงงงงงงงงงงง เธอสาว เธอสวย ฉันจึงได้มองงงงงงงงงง

เธอหยั่งรู้ทุกอย่าง เธอมีดวงตาของพระเจ้านั่นเอง

ขอบคุณค่ะพี่คอป นิยายนู๋รู้สึกจะมีพระเจ้าหลายองค์เกิ๊นนนน ต้องนิมนต์กลับวังกันบ้าง ไม่งั้นแย่งกันส่อง เอ๊ย! มองอีก เฮ้ออออออ
 


  คำตอบที่ 7  
 

november

23 ก.พ. 56
เวลา 13:58:40
วันนี้ว่างเลยแวะเข้ามาดู เห็นหัวข้อที่คุณคอปนำเสนอแล้วน่าสนใจ
เชื่อว่าใครที่เคยอ่านหรือผ่านตาเรื่องมุมมองที่พี่ฟีสอนไว้
คงจะเข้าใจได้ไม่ยากนัก เพราะพี่ฟีก็เขียนไว้ละเอียดเจาะลึกทีเดียว

แต่เพื่อเสริมหัวข้อนี้ ก็ขอยกบทความที่คุณ peining แห่งบล็อกแก๊งค์ที่เธอเขียนเอาไว้ มาเสริมแล้วกันนะคะ
เธอเขียนมาจากการเรียนในมหาวิทยาลัยดังนั้นคิดว่าน่าจะมีประโยชน์

เป็นอีกหนึ่งบทความที่เก็บเอาไว้เตือนตัวเอง เนื่องด้วยผู้เขียนเขียนได้สละสลวย พร้อมยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย

ขออนุญาตคุณคอปไว้ ณ.ที่นี้ด้วยนะคะ

 


  คำตอบที่ 8  
 

november

23 ก.พ. 56
เวลา 14:00:47
Point of View

Point of View เป็นส่วนประกอบสำคัญในการเขียนวรรณกรรม ภาษาไทยน่าจะใช้คำว่า "มุมมอง" นั่นคือ เวลาเราเขียนนิยายขึ้นมาสักเรื่อง ตัวเรื่องของเราผ่าน "มุมมอง" ของใครนั่นเอง

Point of View จำแนกได้เป็น 4 อย่าง แต่ละอย่างมีจุดประสงค์ต่างกันออกไป

1. Omnisceint Point of View หรือมุมมองแบบพระเจ้า

ตัวเรื่องจะเล่าโดยคนเขียน หรือบุคคลที่สามซึ่งไม่ว่าจะเป็นอดีตของตัวละคร ความคิดภายในใจ ก็สามารถซอกแซกไปได้ทั่วถึง ไปไหนได้ทุกที่ทุกเวลา รู้ไปหมดยิ่งกว่าอับดุลเสียอีก และคนเขียนจะบอกคนอ่านเสร็จสรรพโดยที่คนอ่านไม่ต้องมานั่งตีความให้เมื่อยลูกกะตุ้ม

วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้แพร่หลายในวงการวรรณกรรมทั้งบ้านเรา และต่างประเทศเพราะสามารถนำคนอ่านไปในทางที่ถูกที่ควรได้ง่าย หรือบางทีก็ช่วยให้เนื้อเรื่องกระจ่างมากขึ้น ไม่อย่างนั้นคนอ่านอาจงงไก่ตาแตก โดยเฉพาะเรื่องที่มีอดีตของตัวละครเป็นตัวแปรสำคัญ เรื่องแฟนตาซี และไซไฟที่คนเขียนจำเป็นต้องอธิบายความเป็นไปของโลกจินตนาการ

ตัวอย่างเช่นในเรื่อง "ทวิภพ" โดยทมยันตี ตอนที่มณีจันทร์ร้องไห้คิดถึงบ้าน หลังจากที่มาอยู่ในสมัยรัชกาลที่ห้าได้นานพอสมควร คุณหลวงฯกลับมาพบเข้าพอดี

"งานหนักมากหรือ?" น้ำเสียงอาทรนิดๆแทบจับไม่ได้

"เอาละ ไม่ให้ทำอีกแล้ว"

"ไม่ใช่หรอก คิดถึง...แม่...ต่างหาก"

คนฟังก้าวมานั่งหมิ่นๆขอบระเบียงห่างออกมา หัวใจเริ่มร้อนดังไฟจี้ เดี๋ยวแม่มณีหล่อนก็จะแล่นกลับ ชะดีชะร้ายอาจจะเข็ดไม่มาเสียอีกก็ได้

ผู้เป็นมารดาสบตาลูกชาย เข้าใจในบันดล

ความเวทนาลูกรักวิ่งเข้าจับใจ แม้จะยังขัดข้องหลายประการ หากตาทุกข์ทนของลูก แผดเผาหัวใจแม่ได้เสมอ คุณหญิงลูบแขนเสลาเบามือราวลูบหยก

"แม่จะเป็นแม่ให้ อยู่ทางนี้มีแม่เหมือนกันจะเป็นไรมี"

ตามที่เขาว่ากันนั้น กำเนิดของคนลับแลคือจู่ๆ ก็ผุดขึ้นกลางเรือน หากตกในเรือนใด ถือว่าเป็นลูกเจ้าของเรือนนั้น

นี่แม่มณีผุดขึ้นมา ก็น่าจะเป็นลูกได้เช่นกัน

มณีจันทร์สูดลมหายใจยาว...สัญญาอันตรายที่ผ่านมาบอกให้เธอรับรู้แล้วว่า ภพเธอได้ล่วงรู้ถึงการหายไปแล้ว...คงควานหากันให้ควั่ก มีการแจ้งไปยังผู้เป็นบิดา มารดาหรือยังหนอ

จากตัวอย่างข้างบน ทำให้เราได้เห็นความรู้สึกนึกคิดถึงตัวละครสามตัว นั่นคือ คุณหลวงฯ คุณหญิง และมณีจันทร์ สังเกตได้ว่าลักษณะนี้เป็นเสียงของคนเขียนที่ต้องการให้ผู้อ่านล่วงรู้ความในใจเพื่อจะได้ดำเนินเรื่องต่อไปได้ (โดยไม่ยืดเยื้อ)

2. Limited Omniscient Point of View หรือมุมมองจำกัดโดยบุคคลที่สาม

คนเขียนจะเล่าเรื่องผ่านตัวละครหนึ่ง ซึ่งความรู้ของตัวละครนี้มีจำกัด ไม่ได้ไปรับรู้ถึงความคิดของคนอื่นเขา นอกจากของตัวเอง วิธีนี้มักจะใช้ผสมผสานไปกับมุมมองแบบพระเจ้า (ในวรรณกรรมหนึ่งชิ้น จะใช้ Point of View หลากหลาย)

การเขียนโดยใช้ Point of View นี้เป็นหลัก นั่นหมายความว่า ผู้เขียนต้องการซ่อนสารบางอย่างให้แก่คนอ่าน นักอ่านควรต้องสังเกตให้ดี ไม่อย่างนั้นอาจจะถูกคนเขียนหลอกเอาได้

ตัวอย่างเช่น "สี่แผ่นดิน" ของท่านคึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นตอนที่อ๊อดลาออกจากงานที่กระทรวง และนำความมาแจ้งแก่พลอย แล้วอั้นก็เดินเข้ามาพอดี อ๊อดจึงบอกพี่ชายด้วยอีกคน

ตาอั้นเดินเข้ามาในห้อง เห็นตาอ๊อดกำลังคุกเข่าอยู่ข้างๆแม่ ก็พูดสัพยอกขึ้นว่า "อ๊อดกำลังออเซาะคุณแม่อยู่ทีเดียว ถ้าจะขออะไรกระมัง"

ตาอ๊อดกลับไปนั่งที่เดิมแล้วพูดว่า "พี่อั้น อ๊อดลาออกจากงานเสียแล้วละ"

"อ้าวแล้วกัน!" ตาอั้นร้องอย่างสงสัยไม่เข้าใจ "ทำไมละ?"

"อยู่ไปก็เท่านั้น ไม่เห็นมีอะไรทำ" ตาอ๊อดตอบ

"พุทโธ่! ทำไมเป็นคนอย่างนี้" ตาอั้นพูดอย่างหัวเสีย "คนอื่นเขาทำงานมาได้เป็นก่ายเป็นกอง ทำไมเขาอดทนอยู่ได้ อ๊อดเข้าไปประเดี๋ยวเดียวแล้วก็ออกมา จะปรึกษาหารือกันก่อนก็ไม่มี!"

"จะว่าก็ว่าออกมาเถิด ว่าอ๊อดขี้เกียจ อ๊อดไม่ว่าอะไรหรอก ยอมรับแล้วว่าเป็นคนขี้เกียจ"

ตาอั้นสะบัดหน้าอย่างเคืองและรำคาญ ทำให้พลอยต้องรีบพูดแทนตาแอดขึ้นมาว่า "ไม่มีอะไรหรอกอั้น อ๊อดเขาปรึกษาแม่ไว้ก่อนเหมือนกัน แม่ก็เห็นว่าออกเสียก็ดี เพราะงานที่ทำไม่ถูกกับนิสัย อยู่ไปก็กลุ้มใจเปล่าๆ สู้ออกมาแล้วหาการงานที่ถูกใจทำดีกว่า เพราะยังไม่ช้าเกินไป"

ตาอ๊อดเหลียวมายิ้มกับพลอยเหมือนกับจะขอบใจ ที่ช่วยแก้ให้ แต่ตาอั้นกลับพูดกับพลอยอย่างรำคาญว่า "คุณแม่ก็ดีแต่ตามใจตาอ๊อดจนเกือบเสียคนอยู่รอมร่อ การทำงานก็ต้องมีความอดทนเป็นขั้นแรก อะไรไม่พอใจนิดหน่อยก็ลาออกจะไปใช้ได้ที่ไหน ที่ถูกควรจะอยู่ไป และพยายามศึกษาหาความรู้ไป นานเข้าก็จะดีไปเอง"

ตัวอย่างข้างบนเป็นการเล่าผ่านมุมมองของแม่พลอย แม่พลอยเป็นคนดี ข้อนี้ไม่มีใครเถียง แต่ต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่าแม่พลอยมีความรู้จำกัด แม่พลอยอาจจะรักชอบตาอ๊อด ถ้าอ่านไปเรื่อยๆจะจับจุดไม่ได้ ผู้อ่านบางคนก็รักตาอ๊อดด้วย อาจจะเห็นดีเห็นงามไปกับพลอยว่าตาอ๊อดลาออกเสียก็ไม่เป็นไร ในทางกลับกันตาอั้นกลับต่อว่าพลอย ทำให้คนอ่านเกลียดตาอั้นที่อกตัญญู แต่หาพินิจเนื้อสารจริงๆแล้ว สิ่งที่ตาอั้นพูดเป็นความจริงทุกอย่าง เพียงแต่ตาอั้นเขามีบุคลิกชวนให้คนไม่ชอบ ทำให้คนอ่านพาลเกลียดเอาได้ง่ายๆ

3. First Person Point of View

ก็คล้ายกับข้อสอง คือผู้เขียนเล่าเรื่องโดยผ่านมุมมองของตัวละคร แต่ต่างกันที่ข้อสองใช้สรรพนามบุรุษที่สาม แต่ข้อนี้ใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ซึ่งก็คือ "ฉัน" หรือ "ผม" นั่นเอง

ตัวอย่างเช่น เรื่องสั้นเชอร์ล็อกโฮลมส์ ชุดการผจญภัย ตอนสันนิบาตผมแดงเขียนโดยเซอร์อาร์เทอร์ โคแนน ดอยล์ แปลและเรียบเรียงโดยอ.สายสุวรรณ เรื่องของเชอร์ล็อก โฮลมส์ส่วนมากจะเขียนจากมุมมองของวัตสัน เพื่อนสนิทที่สุดของเชอร์ล็อก โฮลมส์ โดยออกมาในลักษณะคล้ายบันทึก ในตอนนี้เป็นตอนที่วัตสันและเชอร์ล็อกกำลังเริ่มเก็บข้อมูลเพื่อสืบสวนเกี่ยวกับความลึกลับของสันนิบาตผมแดง

"ตามรูปการ" ข้าพเจ้าเอ่ยขึ้นบ้าง "ผู้ชาวยของมิสเตอร์วิลสันน่าจะเกี่ยวข้องกับความลึกลับของสันนิบาตผมแดงอยู่มาก กันเชื่อว่าที่แกถามหนทางของแกก็เพื่อจะได้พบเขานั่นเอง"

"ไม่ใช่เขา"

"งั้นอะไรล่ะ"

"หัวเข่ากางเกงเขาต่างหาก"

"แล้วแกเห็นอะไร"

"เห็นสิ่งที่กันหมายว่าจะเห็น"

"แล้วทำไมแกถึงเอาไม้เท้ากระทุ้งพื้นถนน"

"นี่แน่ะหมอเอ๋ย เลานี้เป็นเวลาสังเกต ไม่ใช่เวลาที่ควรพูดเลยนะ แกต้องเข้าใจซีว่าเรากำลังเป็นจารบุรุษอยู่ในเมืองของข้าศึก เดี๋ยวนี้เรารู้อะไรลางอย่างเกี่ยวกับสี่แยกแซกส์โคบูร์กแล้ว เรามาสำรวจหนทางด้านหลังกันต่อไปดีกว่า"

ที่ผู้เขียนใช้ Point of View นี้จะทำให้เรื่องน่าติดตามมาก เพราะเรากำลังอ่านเรื่องสืบสวน วัตสันได้แต่ดูพฤติกรรมของโฮลมส์ แต่ไม่รู้จุดประสงค์ของเขาว่าทำทำไม เช่นการเคาะไม้เท้าลงกับพื้น และยอมเปิดปากให้รายละเอียดบ้างในสิ่งที่วัตสันถาม คนอ่านก็จะรู้สึกตื่นเต้นไปกับการสืบสวนของโฮลมส์ ในขณะเดียวกันก็เริ่มคิดตามไปด้วย (วัตสันอาจจะไม่ใช่คนสังเกตเท่าโฮลมส์ แต่เขาก็ให้รายละเอียดแก่คนอ่านได้ดี อีกทั้งนิสัยส่วนตัวของวัตสันน่ารัก ทำให้เรื่องนี้ดังกระฉ่อนไปทั่วโลกนั้นแล)

4. Objective Point of View หรือมุมมองแบบกล้องวึดีโอ

คือเหมือนเวลาเราดูหนัง ดูละคร เราจะเห็นแค่ว่าใครทำอะไร พูดอะไร ที่ไหนกับใครเท่านั้น แต่เราจะไม่ได้ยินเสียงที่อยู่ในใจของตัวละคร จะไม่เห็นอดีตอะไรทั้งสิ้น

ตัวอย่างเช่นเรื่อง "หนึ่งในร้อย" ของดอกไม้สด คือวิชัยเพิ่งอกหักมา อนงค์ก็เลยเป็นฝ่ายหยิบยื่นไมตรีให้ วิชัยก็เลยเขียนจดหมายให้อนงค์ทบทวนใหม่โดยแจกแจงเหตุผลให้อนงค์ฟังถึงข้อเสียเปรียบที่หล่อนอาจจะได้รับหลังแต่งงานกับเขา และอนงค์ก็ตอบไปว่าคิดดีแล้ว วิชัยจึงมาหาอนงค์ที่บ้านอีกครั้งเพื่อขอคำยืนยัน อนงค์เองก็ยังยืนยันคำเดิม แต่ก็กลัวอยู่เหมือนกันว่าวิชัยจะปฏิ้เสธตน

"คุณนึกหรือว่าเมื่อฉันได้แสดงกิริยาเช่นนั้นต่อคุณในวันนั้นแล้ว ฉันจะหักหลังคุณในภายหลัง?"

หญิงสาวเงยหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว จ้องดูตาเขาพลางย้อนถาม

"เท่าที่คุณพระแสดงต่อดิฉันในวันนี้ เพราะมีเรื่องนั้นเป็นเหตุบังคับหรือคะ ความรู้สึกทั้งหลายไม่เป็นข้อสำคัญอันใดเลย!?"

สีหน้าวิชัยเผือดไปเล็กน้อย รอยยิ้มบนริมฝีปากนั้นเจือโศกมากกว่าเจือสุข ค่อยๆดึงตัวอนงค์เข้ามาใกล้ ยกมือหล่อนประทับอก พูดเสียงต่ำเบาเกือบเท่ากระซิบ

"โปรดอย่าเพ่อถามถึงความรู้สึกให้ลึกซึ้งนัก แต่ขอให้เชื่อว่าคำพูดที่ฉันได้พูดแล้วนั้นออกจากใจจริงของฉันทุกคำ อีกอย่างหนึ่งขอให้คุณระลึกไว้ให้มั่นว่าฉันเป็นคนมีแผลในใจ กรุณารักษาแผลให้หายก่อน แล้วฉันจะเป็นทาสที่ภักดีต่อคุณอย่างที่สุด"

จะเห็นได้ว่าเราไม่ล่วงรู้ความคิดที่แท้จริงของวิชัยและอนงค์เลย เราต้องตีเอาจากคำพูดของตัวละคร การใช้ Point of View นี้ก็มีจุดประสงค์ของมันเหมือนกัน คือการมุ่งให้คนอ่านตีความเอาเองโดยเสรี

ตรงจุดที่ยกมานี้สำหรับคิดว่าใช้ Point of View นี้ประสบความสำเร็จมาก และเป็นจุดสำคัญของเรื่องทีเดียว เพราะแสดงให้เราเห็นถึงความคิดของวิชัยที่มีต่ออนงค์โดยผ่านอากัปกิริยาและคำพูด .
 


  คำตอบที่ 9  
 

buddy

23 ก.พ. 56
เวลา 15:50:05
มีประโยชน์มาก ขอบคุณมากมายค่ะ

^______^
 


  คำตอบที่ 10  
 

copter

23 ก.พ. 56
เวลา 17:46:51
ขอบคุณ คุณ november มากค่ะ ที่มาช่วยเสริม
ยินดีค่ะ แบ่งปันกัน เป็นประโยชน์มากค่ะ

ดีใจที่ทุกคนสนใจ เย้ๆๆๆๆๆๆ
มุมมอง มือใหม่ที่ชอบสะดุด เขียนไปให้จบก่อนนะคะ
อย่าไปคร่ำเคร่งมาก
เอาไว้มานั่งดูตอนรีไรต์ก็ได้ค่ะ
แต่ถ้าใครคิดแต่แรกเลยก็ดีค่ะ

คอปจะพยายามหาเรื่องมานำเสนอ
ใช้ภาษาง่ายๆ จะได้ไม่งง
หรืองงเอง กร้ากกกกกก
 




  เชิญกรอกข้อความเพื่อตั้งคำถาม  
  กรุณา login เพื่อตอบคำถาม