ฟีลิปดา
5 มี.ค. 55
เวลา 9:54:21
พิมพ์
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน |
สวัสดีเช้าวันจันทร์ค่ะทุกคน จันทร์แรกของเดือนมีนาคมแล้วค่ะ อีกไม่กี่วันการเขียนโครงการ 80 หน้า 45 วันของเราก็จะจบแล้ว จากนั้น ก็เตรียมตัวแข่งเขียน แรลลีครั้งที่ 12 กันนะคะ ฮ่าๆๆ เหนื่อยกันแล้วยัง เขียนแปดสิบหน้า ดูเหมือนหลายคนก็เร่งกันใหญ่แล้ว เรื่อง ปีศาจ ของนายร้อย ก็ใส่บทจบแล้ว ยินดีด้วยนะคะ ใครยังไม่จบ ได้แค่ไหน ก็เอาให้เต็มที่นะคะ จบเรื่องนี้จะได้ไปเขียนเรื่องใหม่กันเสียที ฮ่าๆๆ
วันนี้จากคำถามคุณบอมเบย์ ที่ไปถามเอาไว้ที่กล่องแชท เรื่องการเขียนนวนิยายซีรีส์ พี่ฟีก็เลยมาคุย มาชวนพวกเราเขียนกันค่ะ
นวนิยายเขียนกันเป็นชุดอย่างนี้ ก็เห็นมีหลายสนพ. พิมพ์กัน แล้วอย่างไรจะเรียกว่านวนิยายชุดล่ะ ฮ่าๆๆ บางทีถ้าสงสัยก็สงสัยนะ ถ้าไม่สงสัยก็อย่าไปสนใจมัน ฮ่าๆๆ จริงๆ แล้ว ก็ไม่ต่างไปจากการเขียนนวนิยายเล่มอื่นๆ และการเขียนแนวอย่างนี้ แต่ละเล่มก็จะจบในตัวมันเองค่ะ สำหรับคนอยากเขียนนั้น เขียนเป็นชุดได้ โดยอาจจะใช้ส่วนประกอบ อย่างใดอย่างหนึ่งที่เคยมีหรือเหมือนกับในเรื่องแรก หรือในทุกเรื่อง
1. ตัวละครสืบเนื่อง (พ่อ ลูก พี่น้อง เพื่อน )
2. สถานที่ (สถานที่ในเรื่องอย่างธีมสถานที่เกี่ยวกับทะเล ทะเลทราย บ้านพัก โรงแรม เกาะ แผ่นดินสมมติ ฯลฯ)
3. ธีมที่ใช้แต่ง (ความรัก ความตาย สาวโสด สิบสองราศี ไพ่ทาโรต์ ฤดูกาล วันเวลา เทวดานางฟ้า ฯลฯ)
คิดอยากเขียนอย่างไร ก็ใช้โจทย์เดียวกัน บังคับเรื่องที่จะแต่งเลยก็ได้ค่ะ
พี่ฟีก็เขียนนวนิยายชุดนะคะ แต่ยังไม่จบสักชุด ฮ่าๆๆๆ สิ่งที่เป็นคีย์สำคัญสำหรับพี่ฟีแล้วคือ ตัวละคร ค่ะ เพราะคนอ่าน สนใจตัวละคร อยากรู้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับเขา เขาจะมีปัญหาอะไร เขาจะเจอกับใคร เขาจะยังไงๆๆๆๆๆ
มีการเขียนที่เล่นกับตัวละคร สองแบบคือ ตัวละครเอกเป็นคนหรือชุดเดียวกันหมดทุกเล่ม (เหมือนนวนิยายนักสืบ) หากจะเขียนแบบนี้ ต้องวางโครงเอาไว้ยาวเท่าที่เราอยากจะเขียนให้จบค่ะ วางจังหวะเล่าเรื่องให้น่าสนใจ พล็อตของตัวละครสำคัญตัวนี้ไม่จำเป็นต้องเผยให้หมดตั้งแต่เล่มต้นๆ ค่อยๆ สร้างความแปลกใจ ความอยากรู้อยากเห็นให้กับคนอ่านไปค่ะ (ส่วนมากแล้ว จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับภูมิหลัง แรงจูงใจ ของเขา ที่ส่งผลให้เขาเป็นอย่างนี้ แต่ไม่ว่าอย่างไรในทุกเล่ม คนอ่านต้องเห็นเป็นความเปลี่ยนแปลงของเขา) เพราะหากตัวละครเป็นชุดเดิม สิ่งที่จะเป็นปัญหาท้าทาย อยากให้คนอ่านรู้ มันต้องเพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละเล่ม ต้องวางเบ็ดเกี่ยวท้ายเล่มให้คนสนใจอยากจะอ่านเล่มต่อไป
อย่างน้อยคนเขียนควรมีภาพมุมกว้างเอาไว้จนจบชุดเลยค่ะ พล็อตตัวละคร วางเอาไว้เลยค่ะว่า จะเกิดอะไรกับเขาตอนไหน เขาจะเติบโตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เขาจะเข้าใกล้เป้าหมาย หรือห่างจากเป้าหมายแค่ไหน จะให้คนอ่านรู้แค่ไหนในเรื่องของเขา จะวางเอาไว้ตรงเล่มไหน แล้วเขียนเล่าเรื่องในปัจจุบันของเขา ในแต่ละเล่ม ไม่ต่างไปจากการเขียนนวนิยายธรรมดาเล่มหนึ่งค่ะ มีตอนต้น ตอนกลาง ตอนจบ เหมือนกันทั้งนั้น
ถ้าเขียนโดยตัวละครเอกเปลี่ยนคน (เหมือนนวนิยายรักที่เราเคยเห็น เล่มนี้พี่ เล่มต่อมาน้อง เล่มถัดไป เพื่อน) คนเขียนต้องวางพล็อตเอาไว้เลยค่ะว่า เล่มแรกจะให้ออกมาเป็นอย่างไร พระเอกนางเอก จบกันแบบไหน ใครจะเป็นคนเล่มในเล่มต่อมา ก็ต้องมีวางเอาไว้ให้บ้าง เพื่อให้คนอ่านอยากรู้ อาจจะทิ้งปมสำหรับคนต่อมาที่เราจะเขียน ให้กับคนอ่านสงสัยเอาไว้ ในการเขียนเล่มต่อมา หากคิดจะเอาตัวละครบางคนในเล่มแรก มาใส่เอาไว้ ให้พิจารณาถึงสัดส่วนในการกล่าวถึงจะประมาณไหน จะดึงเขาเข้ามาในเรื่องถัดไปอย่างไร หากดึงเพระเอกนางเอกเรื่องเดิมมามากไป ก็เท่ากับว่า มาแย่งซีนพระเอกนางเอกเล่มใหม่ของเราไหม
ลำดับเวลาที่จะเล่าเรื่อง สิ่งนี้ก็จำเป็นค่ะ หากจะเล่าแบบมีเวลาคาบเกี่ยวกัน แต่ถ้าเล่าไปเป็นเส้นตรง ไม่ย้อน ก็ง่ายหน่อย ยังไงก็อย่าลืมทำลำดับเวลาเอาไว้
จากที่พี่ฟีเขียนมา และคิดจะเขียนต่อไป คิดว่า การเขียนแล้ว มันไม่ได้ต่างไปจากการเขียนนวนิยายเล่มเดี่ยวๆ เสน่ห์ของเรื่อง อยู่ที่ คนเขียนสามารถทำให้คนอ่าน อยากติดตามตัวละครได้ค่ะ (ไม่ใช่นวนิยายชุด ก็ต้องทำให้คนอ่านตามตัวละครเหมือนกันค่ะ) สิ่งที่ท้าทายสำหรับคนเขียน ก็คงต้องรอลุ้นว่า เอะ เรื่องออกมาทีหลัง คนอ่านจะชอบไหม ชอบมากกว่าหรือน้อยกว่าเรื่องแรก หรือว่า จะพอแค่เล่มนี้ล่ะ ฮ่าๆๆๆ
(ไม่รู้ว่า จะพอตอบคำถามคุณบอมเบย์ได้ไหม ถ้ายังไงก็คุยแลกเปลี่ยนกันนะคะ ตอนนี้พี่ฟีคิดได้เท่านี้ ฮ่าๆ)
โอ จันทร์นี้ พี่ฟีมาอย่างยาวเลย ฮ่าๆๆ จะอ่านข้ามกันไหมเนี่ย ^--^ มีความสุขในการเขียนนวนิยายซีรีส์กันนะคะ ฟีลิปดา ^--^
|