ตอบคำถามเพิ่ม คลิกที่นี่
 
  วันศุกร์กับภาษาไทยในนวนิยาย : ร่างบาง - ร่างใหญ่  
 
 

copter

20 ม.ค. 55
เวลา 8:47:47

พิมพ์
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
สวัสดีเช้าวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ค่ะ

น้องคอปได้ฤกษ์เปิดกระทู้วันนี้ เลยอยากจะคุยกับพี่ๆ เรื่อง
ลักษณะรูปร่างของตัวละคร (ยากไปไหมคะ ฮ่าๆ)
คือไปอ่านเจอในนวนิยายหลายๆ เรื่อง
เจอคำที่เขาใช้พูดถึงรูปร่างของหญิงสาวหรือชายหนุ่ม

ร่างบาง – ร่างใหญ่
ทำให้น้องคอปไปคิดถึง ร่างกระดาษ แหะๆ
(ก็มันร่างบาง เลยคิดไปถึงกระดาษเพราะกระดาษมันเป็นแผ่นบางๆ)

ร่างใหญ่ นี่ใหญ่แบบไหนหนอ

ถ้าเติมคำขยายไปสักนิด จะเข้าใจได้ง่ายกว่ารึเปล่า เช่น รูปร่างผอมบาง รูปร่างสูงใหญ่

ลองไปเปิดพจนานุกรมดูก็เจอแค่
รูปร่าง น. ลักษณะของร่ากาย ทรวดทรง เช่น รูปร่างสูงโปร่ง ลักษณะรูปทรงเช่น โคมไฟดวงนี้รูปร่างเหมือนฟักทอง
(พจนานุกรมไทย ฉบับทันสมัยและสมบูรณ์, ซีเอ็ด, น.๙๒๗)

น้องคอปเลยมีคำถามสงสัยถามพวกพี่ๆ ค่ะ ว่า

๑. การที่เราจะพูดถึงคนๆ หนึ่ง เราควรจะบรรยายรูปร่างลักษณะภายนอกแค่ไหน

๒. การใช้คำแทนรูปร่าง พี่ๆ ใช้คำไหนกันบ้างคะในนวนิยายของตัวเอง

มาพูดคุยแบ่งปันให้น้องคอปได้ทราบบ้างนะคะ
การบรรยาย หรือคำแทนรูปร่าง ส่วนใหญ่ใช้กันแบบไหน

เราจะได้นำมาเป็นตัวอย่าง คำไหนควรใช้ คำไหนควรละเว้น
บางคนเจอคำว่า ‘ร่างบาง’ ในนวนิยายก็วางเลยก็มี ฮ่าๆ

เราจะได้มีคำหลายๆ คำ ให้เป็นตัวอย่างกันค่ะ ^^

^________^

สาวร่างอึ๋ม
 


  คำตอบที่ 1  
 

loma

20 ม.ค. 55
เวลา 9:51:56
แบบว่ายังน้องใหม่ ไม่ค่อยได้บรรยายเท่าไหร่มารอเก็บความรู้จาก สาวร่างอึ๋ม ^_^! ขอบคุณสำหรับสาระดีๆ ที่นำมาฝากค่ะ
จาก สาวร่างสบึม สุดเซ็กซี่
 
 


  คำตอบที่ 2  
 

มะยม

20 ม.ค. 55
เวลา 10:32:43
เธอเดินเสียดังตึงๆ ประหนึ่งว่า การโยกย้ายร่างที่อวบใหญ่เหมือนไหดองยาไปอีกที่นั่น ยากเย็นเสียยิ่งนัก
 


  คำตอบที่ 3  
 

วรบรรณ

20 ม.ค. 55
เวลา 10:36:32
สวัสดีจ้าน้องคอป อายุเท่าไหร่แล้วครับเนี่ย

๑. การที่เราจะพูดถึงคนๆ หนึ่ง เราควรจะบรรยายรูปร่างลักษณะภายนอกแค่ไหน

ตอบ... สำหรับผมแล้วแต่สถานการณ์ครับ ถ้าจำเป็นต้องละเอียดก็ต้องละเอียด ถ้าไม่จำเป็นต้องละเอียดก็ไม่ต้องละเอียด ไม่ได้กวนนะ ถ้าไม่ต้องละเอียดก็จะเป็นแบบว่า บรรยายจุดเด่นของเขาก่อน แล้วก็รายละเอียดอีกเพียงนิดหน่อย เช่น

สาวร่างอวบ (ระยะสุดท้าย) ผู้มีรอยยิ้มเจือที่ริมฝีปากอิ่มอยู่เป็นนิจ แม้แขนขาของเธอจะสั้น แต่การรู้จักเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะก็ทำให้เจ้าตัวดูโดดเด่นขึ้นได้

นี่คือแบบไม่ละเอียดของผมนะครับ แต่ถ้าเจาะลึกลงไปอีกก็...

พวงแก้มทั้งสองของเธอมีรอยแผลเป็น อาจเพราะตอนเป็นวัยรุ่นขี้เกียจล้างหน้า สิวเลยฝากริ้วรอยมาถึงปัจจุบัน แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ ใบหูทั้งสองข้างสูงต่ำกว่ากันอย่างเห็นได้ชัด ลำคอก็สั้นกว่าคนทั่วไป และที่สำคัญ เส้นผมบนศีรษะของเธอแทบจะนับเส้นได้

สรุปอีกครั้ง ถ้าจำเป็นต้องละเอียดก็ต้องละเอียด ถ้าไม่จำเป็นต้องละเอียดก็ไม่ต้องละเอียด (ไม่ได้กวน จิงจิ๊ง)

๒. การใช้คำแทนรูปร่าง พี่ๆ ใช้คำไหนกันบ้างคะในนวนิยายของตัวเอง

ตอบ... เยอะมาก จะเอาเฉพาะทรวดทรง หรือทุกสัดส่วนล่ะ

ถ้าทรวดทรงก็เช่น ท้วม อวบ สูงโปร่ง เกร็ง แกน หลังโก่ง เอวขอดกิ่ว ฯลฯ

ถ้าจะเอาสัดส่วนด้วยก็ยิ่งเยอะ เช่น สาวขาสั้น หนุ่มแขนถลอก สาวฟันเหยิน หนุ่มฟันคุด ฯลฯ

สรุปคือ เลือกเอาส่วนไหนมาเป็นคำแทนได้ทั้งนั้น ตั้งแต่เส้นผมขาวโพลนลงไปจนถึงนิ้วเท้าที่บิดงอ


หมายเหตุ. ไม่รู้ตีโจทย์แตกหรือเปล่านะ เพราะมัวแต่วุ่นอยู่กับเจ้าหนูมะระ เด็กบ้าอะไรไม่รู้ ช่างซักไซ้จริง
 


  คำตอบที่ 4  
 

มะยม

20 ม.ค. 55
เวลา 10:38:35
ฆ่าทิ้งเลยมะระ เดี๋ยวช่วยลบกลบเกลื่อนหลักฐาน
 


  คำตอบที่ 5  
 

samad

20 ม.ค. 55
เวลา 11:16:08
เท่าที่สายตาของโรเจอร์สังเกตเห็น คอบบร้าเป็นผู้หญิงตามแบบฉบับของหญิงสาวบนดาวโคโรบาบ้าสโตเรนเฟนโก้ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของผู้หญิงบนดาวดวงนี้ เธอมีแววตาที่เหงาเศร้าและลึกลับอย่างประหลาด ใบหน้ากลมและอูม จมูกงุ้ม ใบหูขนาดใหญ่คงช่วยให้การฟังชัดเจนขึ้น รูปร่างของเธอได้สัดส่วน แต่เป็นสัดส่วนในแบบที่ชาวโลกอย่างเขาให้นิยามว่า "สวย ถึก และบึกบึน" แค่นิยาม ก็คงบอกรายละเอียดได้อย่างกระจ่างชัดแล้ว ทันทีที่คิดได้ เขาก็รีบบรรจงกดนิ้วมือลงบนแป้นพิมพ์เพื่อบอกสรรพคุณของสาวๆ บนดาวดวงนี้เพื่อส่งทางเมล์ให้กับจอร์จ เพื่อนรักของเขามีรสนิยมที่แปลกประหลาดต่อเพศตรงข้าม นี่อาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับหมอนั่น
 


  คำตอบที่ 6  
 

copter

20 ม.ค. 55
เวลา 11:41:12
โลมาหัวคลอน ระดับน้องเนี่ยนะ มือใหม่ ฮ่าๆ
มาแชร์ความคิดเห็นกันได้ค่ะ
ไม่ว่าใหม่หรือเก่า

ลุงวรบรรณ
น้องคอปรุ่นใกล้เคียงกับเด็กชายมะระค่ะ
เป็นเจ้าหนูจำไมเหมือนกัน
แต่ความน่ารักต่างกัน

แล้วจำเป็นมากน้อยแค่ไหนคะ
ที่เราจะบรรยายแบบละเอียดหรือไม่ละเอียด
หมายถึงเราควรจะเน้นหรือไม่เน้น
แต่อวบระยะสุดท้ายนี่ระยะคุณลุงรึเปล่าคะ ^^

สาวมะยม
สาวไหดองยานี่เป็นไงหนอ มะเคยกินยาดอง อิอิ

คุณสามารถที่ลัก (สายไฟ)
ตั้งแต่ไปอยู่นอกโลกนี่รู้สึกจะบรรยายได้ดีขึ้น
ฮ่าๆ ชอบสเปก แบบนี้ก็ไม่บอก

^____^
 


  คำตอบที่ 7  
 

ฮาบีบี้

20 ม.ค. 55
เวลา 12:05:42
เพลงมีวิวัฒนาการของมัน มีเพลงชานท์ ต่อมามีเพลงฆราวาท แล้วถึงมามีบทเพลงหลากหลากแนวในปัจจุบัน

ร่างบาง ร่างหนา ร่างสูง ร่างใหญ่ ก็เลยเหมือนกลุ่มคำที่วิวัฒนาการจากอดีต 555

ซึ่งจะเห็นได้เกลื่อนว่ามีคนใช้เยอะ ก็เหมือนกับเพลงลูกทุ่ง ที่มีท่วงทำนวงสวยงามภาษาสละสลวยในอดีต แต่พอมาปัจจุบัน ท่วงทำนองสวยงามอาจยังคงไว้ แต่ภาษาสละสวยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไป กลุ่มคนและเหตุการณ์ในเพลงก็เปลี่ยนแปลงไป

ถ้ามาเปรียบกับคำ ร่างหนา ร่างบาง มือบาง คิ้วเรียว ก็เหมือนกับคำที่ใช้เรียกแทกบุคคลในนิยายได้เกิดการเปลี่ยนแปลไปเช่นกัน ซึ่งมันอาจขัดตาขัดใจคนอ่านที่ชื่นชอบอะไรที่มีมากกว่า ร่างบางเป็นกระดาษ 555

เรื่องนี้มันละเอียดอ่อน555 แต่คาดว่าแต่งนิยายไปสักพัก คนแต่งนิยายจะเกิดความรู้สึกแปลกๆ กับคำว่าร่างหนา ร่างบางเองงับ

ปล. เชื่ออย่างนั้นมาก

(เขาให้แสดงความคิดเห็น ว่าจะใช้มันอย่างไร ไอ้นี่มาพร่ำอะไรอีกแล้วฟร่ะ^^)
 


  คำตอบที่ 8  
 

Tethys

20 ม.ค. 55
เวลา 12:06:03
ถึงแม้ปกติจะเป็นคนเขียนงานบรรยายเยอะกว่าบทสนทนา แต่ก็ไม่ค่อยจะบรรยายรูปร่างผ่านพรรณาโวหาร บทบรรยายเท่าไร เพราะความที่เล่นกับความรู้สึกของตัวละคร ตัวละครมองตัวละครแต่ละตัวไม่เหมือนกัน

บางทีจะใช้วิธีให้ตัวละคนนินทา บอกเล่าลักษณะตัวละครกันเอง เป็นภาษาพูดทำให้ใช้คำได้ง่ายกว่าด้วย

ปกติถ้าจะต้องบรรยายสูงเท่าไรก็ว่าไปเลย อวบ อ้วนเลย ไม่ค่อยเน้นขยายความคำพรรณารูปร่างละเอียด

สรรพนามแทนก็มักใช้แค่ หญิงสาว ชายหนุ่ม เขา เธอ เป็นปรธานไปเลยมากกว่าการขึ้นต้นประโยคด้วยอะไรหนาๆ บางๆ ไม่อยากเขียนไปเจ็บตับตัวเองไป อิอิ
 


  คำตอบที่ 9  
 

copter

20 ม.ค. 55
เวลา 12:23:11
พุงป่อง ^^
 


  คำตอบที่ 10  
 

copter

20 ม.ค. 55
เวลา 12:28:36
คำบรรยายลักษณะตัวละคร
คอปก็ไม่ค่อยเน้นค่ะ นานๆ จะพูดที
อาจจะบรรยายรูปร่างแค่ในตอนแรกๆ
ให้คนอ่านจินตนาการตามบ้าง
แต่ไม่ได้เน้นเป็นเรื่องเด่นค่ะ
 


  คำตอบที่ 11  
 

iloverally

20 ม.ค. 55
เวลา 14:59:21
ร่างบาง
แหะ ๆ เคยใช้ ก็ไม่รู้จะบรรยายไงอ่ะ เลย
เลียนแบบหนังสือท่านอื่น ฮ่า ฮ่า

ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเน้น รูปร่างหน้าตา คงเพราะยังไม่เก่ง
ไม่ก็อิมเมจพระนางยังไม่ชัดนัก (หรือขี้เกียจ ไม่แน่ใจ)

คิดว่ากล่าวถึง รูปร่าง กันพอประมาณก็น่าจะดีนะคะ
บางเรื่องเล่นซะละเอียดยิบ
ถ้าให้สเก็ตซ์ภาพก็คงจะได้ภาพเหมือนทีเดียว
(คนที่มีฝีมือทางศิลปะ)
ฮ่าฮ่า

คำถามยากเหมือนกันนะคะ น้องคอป
แหม คิดสด มันแหล่ม ๆ อย่างนี้นี่เอง อิอิ
 


  คำตอบที่ 12  
 

saitharn

20 ม.ค. 55
เวลา 16:28:35
เรื่องลักษณะตัวละครนี้หรือคะ?

อืม...เป็นเรื่องที่สายธารเองก็เบื่อนะคะเวลาเจอในนิยายตามเว็บออนไลน์ พอถึงคราวที่ตัวเองมาเขียนก็เลยคิดหนักสิคะคราวนี้

โดยส่วนตัวแล้วไม่ใช่ไม่ชอบนะคะ ชอบค่ะ ชอบมากเลยแหละ ประเภทที่นางเอกรูปร่างเพรียวบาง สูงเพรียว นิ้วเรียวงาม คิ้วโก่งได้รูป พระเอกร่างสูง จมูกโด่งเป็นสัน ขอย้ำว่าพระเอกนางเอกสายธารต้องสวยหล่อ รูปร่างดี ไม่อ้วนเผละ (แหม...ไม่อย่างนั้นจะเขียนนิยายทำไมเนอะ ในเมื่อเราชอบคนสวยคนหล่อ ฮาๆๆๆ)

แต่ทีนี้ ความชอบกับการเขียนออกมาให้คนอ่านจินตนาการตามมันต่างกันน่ะสิ

ปัญหาสำคัญคือเวลาอ่านนิยายโดยเฉพาะในเว็บไซต์ออนไลน์ในเรื่องหนึ่งๆ นี่จะเจอเยอะมาก ถี่มาก ประเภท ร่างบาง เอวบาง มือเรียว คิ้วเรียว อ่านแล้วรู้สึกว่า เฮ้อ ! ไม่เห็นต้องบอกบ่อยๆ เลย อะไรที่พูดบ่อยๆ ย้ำบ่อยๆ เบื่อนะ

บางทีเราหาจังหวะบอกให้คนอ่านได้รู้ในช่วงต้นๆ จะดีกว่าไหม ว่า นางเอกพระเอกของเรารูปร่างเป็นยังไง ถ้ามีการเปิดตัวละครมาพร้อมกันสองสามคน ก็อาจใช้วิธีเปรียบเทียบกับตัวละครอื่นๆ ให้เห็นภาพก็ได้ อย่างเช่น ตัวโกงหรือตัวรองสูงแค่ประมาณร้อยหกสิบเซ็นติเมตร รูปร่างท้วม หรือผอมกะหร่อง ในขณะที่พระเอกสูงกว่าเกือบฟุต

ในความรู้สึกของสายธารแล้วนะคะ ร่างบาง ใช้กันมากจนชักเกร่อไปแล้วค่ะ แต่จะไม่บรรยายรูปร่างลักษณะตัวละครเลยคนอ่านก็จะจินตนาการไม่ออกอีก งั้นจะใช้อะไรล่ะทีนี้?

จะว่าไปแล้ว เปลี่ยนมาเป็น รูปร่างเพรียว ก็พอไหว (ต่างกันตรงไหน 555+) อรชรอ้อนแอ้น ก็ได้เนอะ ในที่นี่หมายถึงว่าเราบรรยายลักษณะตัวละครได้ แต่เอาแค่ให้คนเห็นภาพนึกภาพตัวละครออกก็พอแล้ว อย่าให้ถึงขั้นมีทุกหน้า หรือบางคนร้ายกว่านั้นมีทุกย่อหน้า อ๊ากกกก อะไรจะปานนั้น

หลังจากแจ้งแถลงไขลักษณะรูปร่างให้คนจินตนาการออกแล้ว จากนั้นก็ค่อยใช้สรรพนามแทนตัวเป็น ชายหนุ่ม หญิงสาว เธอ เขา ให้รู้ว่าใครทำอะไร ใครพูดอะไร ผู้หญิงหรือผู้ชายพูด และที่ใช้อยู่ตอนนี้คือ ใช้ชื่อพระเอกนางเอกไปเลยค่ะ เป็นกลางๆ ดี

ปล. อ่านนิยายของนักเขียนรุ่นเก่าๆ เจอรูปร่างบอบบาง มือเรียว ก็ไม่ได้รู้สึกขัดๆ อะไรเท่าไหร่ เป็นไปได้ไหมคะว่าเขาใช้ในปริมาณที่พอเหมาะจึงดูกลมกลืน

ก็ว่ากันไป หาทางกันไปเด้อพี่น้องเอ๋ย...
 


  คำตอบที่ 13  
 

คุณพีทคุง

20 ม.ค. 55
เวลา 18:46:31
ไอ้อะไรบางๆ นี่คุณพีทก็ไม่ติดใจนะครับ เคยเปรยมาหลายปีแล้วก็จริงว่านางเอกนี่บางๆ ทั้งนั้นเลยนะ สาวอวบๆ ไม่มีโอกาสเกิดกับเขาบ้าง พอเจอนิยายเรื่องไหนนางเอกไม่บาง หรืออายุสี่สิบอัพ ก็จะชอบเป็นพิเศษ แต่ถ้านิยายเรื่องไหนบางมาก็ไม่ว่าอะไร คุณพีทอ่านได้หมด

มีจุดที่ติดใจอยู่ข้อเดียวคือ บางทีคนเขียนใช้คำว่า "ร่างบาง" ผิดความหมาย คือแทนตัวบุคคล ทั้งที่จริงๆ มันหมายถึง "ร่างกาย(อันบอบบาง)" ของบุคคล

ตัวอย่างนะครับ

. . . ร่างบางเซไปเล็กน้อย --> อันนี้โอเค ร่างกายเซได้

. . . ร่างบางขมวดคิ้ว --> อันนี้เริ่มแหม่งๆ และ ร่างกายเป็นวัตถุ แต่ผู้ที่ขมวดคิ้วจริงๆ คือเจ้าของร่าง

. . . ร่างบางตัดสินใจว่าจะ... --> โอล่ะพ่อ อันนี้ไม่ไหวอย่างแรง ร่างกายไม่ได้ตัดสินใจ เจ้าของร่างตะหากที่ตัดสินใจ

นี่คือความสับสนของคนเขียนระหว่าง "ร่าง (วัตถุ)" กับ "เจ้าของร่าง (บุคคล)"

อีกแบบที่เริ่มเห็นบ่อยคือ ร่างบางขยายเป็น มือบาง มือเรียว ฯลฯ

แล้วก็จะเริ่มเห็นแบบนี้

. . . มือบางหยิบแก้วน้ำแล้วหันไปมอง... --> มือหยิบแก้วโอเค เสร็จแล้วมือหันไปมอง... ว้ากกกกก มือมีตา!!!

กลายเป็นนิสัยใหม่ของคนเขียนนิยายที่ใช้คำเหล่านี้ "แทน" ตัวบุคคลโดยลืมนึกถึงความหมาย ถ้าเจอแบบนี้แล้วจะสยองเล็กๆ ไม่กล้าคิดภาพตามครับ ฮ่าๆ

แต่มันติดได้ง่ายจริงๆ ถ้าไม่สังเกตตัวเองก็จะไม่รู้ตัวเลย หลังๆ นี่คุณพีทก็ต้องคอยจ้องจับตัวเองเหมือนกัน ว่าประโยคครึ่งแรกพูดถึงอวัยวะอะไร แล้วอวัยวะนั้นไปเป็นประธาน ทำกิริยาของประโยคครึ่งหลังได้มั้ย ถ้าไม่ได้ ก็ต้องเติมประธานใหม่ให้ประโยคหลัง หรือเปลี่ยนประธานทั้งประโยค เช่น

. . . มือบางหยิบแก้วน้ำ แล้วเธอจึงหันไปมอง --> เติมประธานให้ประโยคหลัง ความหมายถูก แต่เริ่มเยิ่นเย้อ

. . . เธอหยิบแก้วน้ำแล้วหันไปมอง --> เปลี่ยนประธานทั้งประโยคให้ถูกต้อง แค่นี้ก็กระชับดีแล้ว

สาเหตุของปรากฏการณ์นี้ ผมเข้าใจว่ามาจากการกลัว "คำซ้ำ" ใช้แต่ชื่อตัวละคร หรือสรรพนาม (เขา เธอ หล่อน) หรือหญิงสาวชายหนุ่ม ถ้าอยู่ติดกันเยอะๆ อาจจะรู้สึกจำเจ เลยต้องสรรหา "คำเรียก" อื่นๆ มาแทนตัวละคร ทีนี้ "ร่างบาง" ซึ่งเมื่อก่อนนักเขียนชั้นครูอย่างคุณทมยันตีเคยใช้ไว้อย่างเหมาะสม ก็เลยกลายเป็นตัวเลือกใหม่ที่ฮิตติดตลาดไป

อีกคำที่เกิดจากปรากฏการณ์ตามอย่างคล้ายๆ กัน (แต่ไม่เกี่ยวกับคำซ้ำ) คือคำว่า "คุ้นชิน"

เดี๋ยวนี้ในนิยายจะไม่ค่อยเจอคำว่า "คุ้นเคย" แล้ว นักเขียนใหม่ๆ ใช้คำว่า "คุ้นชิน" กันเป็นส่วนใหญ่ นัยว่ามัน "เพราะ" กว่าคุ้นเคย แต่ความหมายจริงๆ เหมือนกันหรือเปล่า ตรงกับสิ่งที่ตั้งใจหรือเปล่า อันนี้ไม่รู้เหมือนกัน ฮ่าๆๆ


(ยังไม่ได้ตอบคำถามสองข้อเลย เอาไว้ก่อนละกัน หมดแรง)
 


  คำตอบที่ 14  
 

copter

20 ม.ค. 55
เวลา 18:54:01
ค่ะ หลายท่าน คงกลัวเรื่องคำซ้ำ
เลยพยายามหาคำแทนตัวเอก
แล้วมาเจอ 'ร่างบาง' ฮ่าๆ
 


  คำตอบที่ 15  
 

มะนอแน่

20 ม.ค. 55
เวลา 23:39:54
ร่างบาง บางร่าง
เอิ๊กกกก นู๋ขอเวลาคิดหนึ่งคืน อิอิ
 
 


  คำตอบที่ 16  
 

samad

21 ม.ค. 55
เวลา 9:40:09
ร่างทรงก็ได้นะ แทนร่างบาง
 


  คำตอบที่ 17  
 

มะนอแน่

21 ม.ค. 55
เวลา 20:12:00
ตอนหัดเขียนใหม่ๆ ก็ใช้นะพี่ ร่างบาง ร่างหนา ร่างสูง ประมาณนี้
เขียนเองก็เบื่อเองจริงๆ ค่ะ ต้องหาคำแทน

ตอนนี้เขียนเรื่องหนึ่ง นางเอกเธอจะแนวอวบอึ๋ม ก็เรียกเธอว่า ยัยเชฟบ๊ะบ้าง ขวัญใจป๋า ธิดาโคนม สุดแต่จะสรรหามาว่าเธอ

ถ้าจะบอกถึงรูปร่างก็ใช้ร่างอวบอย่างเดียวค่ะ ไม่รู้จะอธิบายอะไรเพิ่ม เพราะอวบในเรื่องก็คืออวบอึ๋ม ฮ่าๆๆ

ทั้งคืนนึกได้เท่านี้เองพี่ ฮ่าๆๆ
 


  คำตอบที่ 18  
 

iloverally

21 ม.ค. 55
เวลา 21:37:56
เอ๊ะ มีใคร ยกตัวอย่าง ร่างใหญ่ บ้างหรือยังคะ
ไออ่านไม่ละเอียด แหะๆ

ชายร่างใหญ่สองคนเดินย่างสามขุมมาทางบ้านเธอ
คงตั้งใจจะจับตัวเธอไปให้เขาแน่ ๆ
หนี้แค่หมื่นสองหมื่น ถึงกับต้องมาลักพาตัวกัน
เจ้าหนี้หน้าเลือด อย่าให้เจอนะ จะด่าสักหน่อย
แต่ตอนนี้ เธอเผ่นดีกว่า

อันนี้ ก็สมควรแก่การให้เค้าใช้นะคะ
ร่างใหญ่ เพราะว่า
ถ้าร่างบางมาจับนางเอก
ก็คงจะโดนนางเอกถีบกระเด็น ฮ่าฮ่า

ยกตัวอย่างเล่น ๆ ค่ะ ฮ่าฮ่า
ตอนนี้นักเขียนเก่ง ๆ หาคำอื่นมาใช้กันได้เยอะแล้วค่ะ
ดูจากความเห็นข้างบนเป็นต้น
นักเขียนจิจ้า ฝีมือ ๆๆๆๆ อิอิ
 


  คำตอบที่ 19  
 

มะนอแน่

21 ม.ค. 55
เวลา 21:48:59
เนอะๆ พี่ไอ

ท่านรองชง เลขาตอบ หัวหน้าชื่นชม อู๊ย...สมบูรณ์แบบ ฮ่าๆๆ
 


  คำตอบที่ 20  
 

copter

21 ม.ค. 55
เวลา 23:38:05
เราสามัคคีกันค่ะ
เย้ๆๆๆๆ
 


  คำตอบที่ 21  
 

moolar

22 ม.ค. 55
เวลา 4:56:46
๑. การที่เราจะพูดถึงคนๆ หนึ่ง เราควรจะบรรยายรูปร่างลักษณะภายนอกแค่ไหน

-ต๊ะไว้ก่อนนะน้องคอป คิดไม่ออก


๒. การใช้คำแทนรูปร่าง พี่ๆ ใช้คำไหนกันบ้างคะในนวนิยายของตัวเอง

-ร่างบางยังนิ่งสงบอยู่บนเก้าอี้ไม้ตรงหน้าชายร่างท้วมผู้ซึ่งกำลังทำหน้าที่สัมภาษณ์เธออยู่ โดยมีชายหนุ่มร่างสูงใหญ่ยืนพิงกรอบหน้าต่างเฝ้าจับตามองตลอดเวลา ^^!
 


  คำตอบที่ 22  
 

buddy

22 ม.ค. 55
เวลา 15:45:22
สวัสดีจ้า หนูคอปเตอร์

๑. การที่เราจะพูดถึงคนๆ หนึ่ง เราควรจะบรรยายรูปร่างลักษณะภายนอกแค่ไหน

>> โดยส่วนตัว เป็นคนไม่ค่อยได้บรรยายลักษณะทางกายภาพของตัวละครค่ะ ไม่ใช่ไม่ชอบนะ แต่มักจะลืม ฮาๆๆๆ ประจำ -_-"

ก็เลยมักจะต้องไปเขียนเติมเอาภายหลัง หมายถึงเวลาทวนหรือรีไรท์ค่ะ ไม่ใช่หมายถึงบทหลังๆ นะคะ เพราะถ้าถึงบทท้ายแล้วคงไม่จำเป็นแล้ว

จำเป็นต้องเขียนบรรยายส่วนไหน มากน้อยแค่ไหน ดี้มักจะบรรยายเท่าที่พอให้เห็นภาพ ถ้าบรรยายใบหน้าก็ไม่มีอะไรมาก ตา จมูก ปาก คิ้ว คาง พยายามดึงเอาส่วนที่เด่น (ถ้ามี) ออกมาเขียนถึง อาจไม่จำเป็นต้องละเอียดมาก ถ้ามันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังเล่า รูปร่างท่าทางก็เช่นกัน

สรุปคือการบรรยายลักษณะตัวละคร ดี้มองที่ความสำคัญต่อเนื้อเรื่องเป็นหลักค่ะ ซึ่งก็อาจจะมีข้อเสียตรงที่บางทีอาจไม่ละเอียดพอ ต้องคอยเตือนตัวเองให้ระวังเวลาอ่านทวน

๒. การใช้คำแทนรูปร่าง พี่ๆ ใช้คำไหนกันบ้างคะในนวนิยายของตัวเอง

>> คำแทนรูปร่าง...บังเอิญพระเอกนางเอกของพี่ดี้ รูปร่างมาตรฐาน เลยหนีไม่พ้น ร่างบาง ร่างสูง ฮาๆๆๆ

แต่การใช้คำแทนรูปร่างนี้ไปแทนตัวละคร จะพยายามไม่เขียนพร่ำเพรื่อค่ะ โดยอาศักหลักการเดียวกับการใช้คำแทนหรือสรรพนามอื่นๆ อย่าง ชายหนุ่ม หญิงสาว เฒ่าหน้าตี๋ เจ๊อารมณ์ดี ฯลฯ ซึ่งจะไม่ใช้คำเดิมซ้ำๆ เพราะมันน่าเบื่อค่ะ

^_________^

พี่ดี้พุงหนา(แต่)หน้าบาง
 


  คำตอบที่ 23  
 

moolar

23 ม.ค. 55
เวลา 15:52:19
ฮ่าฮ่าฮ่า

พี่ดี้พุงหนา (แต่) หน้าบาง

มะล่าร์หน้าหนา ตัวกลม (ป๊อก)
 


  คำตอบที่ 24  
 

philipda

23 ม.ค. 55
เวลา 16:46:31
๑. การที่เราจะพูดถึงคนๆ หนึ่ง
เราควรจะบรรยายรูปร่างลักษณะภายนอกแค่ไหน

.... คิดเอาเองเหมือนตอนตัวเองอ่านนวนิยายเล่มอื่นๆ
แล้วก็ไม่ค่อยจะให้ความสำคัญนักกับการบรรยายเต็มรูปแบบค่ะ
เพราะจะประมวลเอาจากการกระทำ คำพูด บุคลิก
แล้วสร้างภาพ พระเอกนางเอกของเราตัวเองขึ้นมาค่ะ
ขนาดเขาบรรยายว่า พระเอกผิวคล้ำตัวไม่สูงมาก
เรายังเห็นเป็นขาว อย่างหล่ออยู่นั่นแหละ ฮ่าๆๆ
(ระพิน ไพรวัลย์ของพี่ฟี ตัวไม่เตี้ยนะขอบอก ฮ่าๆๆ)

แต่ถ้าหากจะเอา รูปกาย มาเป็นประเด็นเป็นพล็อตเรื่อง
อย่างนี้จะเขียนแบบมีรายละเอียดขึ้นบ้าง
และที่ไปที่มาจากรูปลักษณ์ที่เขามีด้วยค่ะ

๒. การใช้คำแทนรูปร่าง พี่ๆ ใช้คำไหนกันบ้างคะในนวนิยายของตัวเอง

.... ก็จะใช้ไปแบบธรรมดาค่ะ ร่างสูงใหญ่ ร่างบึกบึน ร่างสูงโปร่ง ร่างปราดเปรียว ร่างเพียว

แต่น้อยมากหรือจะแทบจะไม่เคยเอารูปลักษณ์ของตัวละคร
มาใช้เป็น *สรรพนามแทนตัวละคร* ท้ายคำพูดค่ะ

โดยเฉพาะที่ คนอ่านรู้แล้วว่า เป็นใคร ชื่ออะไร
(คือไม่ปิดบังเพื่อสร้างความสงสัย)
ประเภท พระเอกนางเอกคุยกันแล้วนางเอกก็พูดว่า

"นายคิดว่า ฉันพอใจนักหรือ" นัยน์ตาใสพูดอย่างไม่พอใจ

*** นัยน์ตาใส ***
จะหลีกเลี่ยงการใช้ไปเลยค่ะ
จะแทนด้วยชื่อ เพราะคนอ่านรู้แล้ว
หรือคำว่า เขา เธอ หญิงสาว ชายหนุ่มไปแทน
หรือไม่ก็ตำแหน่งหน้าที่การงานที่เอ่ยถึงแล้วมันเข้าท่ามาแทนค่ะ

สรรพนาม จะวนซ้ำไปหน่อย ก็คิดว่า
ดีกว่า เอาอะไรแปลกๆ ในความรู้สึกของตัวเองมาใส่ค่ะ ^--^
(เป็นคนรุ่นเก่านะ ฮ่าๆๆๆ)

มีความเห็นจากการอ่านนวนิยายนะคะว่า
... การที่เราจะใช้สรรพนามแทนตัวละครนั้น
อะไรที่ทำให้คนอ่านรู้ว่า คือใคร อย่างเร็วที่สุด
มันจะช่วยให้คนอ่านไม่สะดุดค่ะ

สรรพนามที่เลือกใช้ ที่ทำให้คนอ่านต้องมาตั้งคำถาม
หรือกรองในหัวอีกทีว่า นี่คือใคร?
บางครั้งจะทำให้อรรถรสในการเข้าสู่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
ที่เราต้องการสร้างในซีนนั้นๆ สะดุดไปได้นะคะ
^--^
 


  คำตอบที่ 25  
 

copter

27 ม.ค. 55
เวลา 8:20:37
ขอบคุณมะดี้ และพี่ฟีมากค่ะ
น้องคอปก็ไม่ค่อยได้ใช้บ่อย
จะใช้ก็นานๆ ทีในช่วงแรกๆ
ส่วนใหญ่จะใช้สรรพนามแทนมากกว่า

^____^
 




  เชิญกรอกข้อความเพื่อตั้งคำถาม  
  กรุณา login เพื่อตอบคำถาม