ฟีลิปดา
30 ต.ค. 60
เวลา 11:15:30
พิมพ์
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน |
สวัสดีวันจันทร์ที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๐ ค่ะ
เช้านี้ที่บ้านเหมือนลมหนาวจะมาค่ะ พอได้นั่งจิบกาแฟ มองเป้าหมายที่ทำเอาไว้ เฉพาะการเขียนตอนนี้ก็เหลือ เรื่องดั่งไฟเสน่หา ที่ต้องเอาให้จบให้ได้ ตั้งใจจะเขียนสัก 250 หน้า ตอนนี้เพิ่งจะได้บทนำมาเท่านั้น ฮ่าๆๆ จะว่าไปการเขียนนี่ บางทีมันไม่ขึ้นกับเวลามากน้อยเลยนะ เพราะบางที ใจมันไม่มาเสียที มีเวลามากก็ใช่ว่าจะจบเร็ว ^--^
แต่ไม่ว่ายังไง ก็ควรจะสร้างนิสัยของตัวเอง ให้เขียนทุกวัน มากน้อยไม่เป็นไร ถ้าใจไม่อยู่กับเรื่องนี้ ก็แวบไปอีกเรื่อง แล้วค่อยกลับมาในเรื่องที่เราตั้งใจเอาให้จบ
อาการเขียนไม่ได้ เขียนไม่ออก เราก็ต้องรู้ตัวเอง ว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมไม่เขียนสักที จะรออินเนอร์นานแค่ไหน ถึงจะลงมือได้เสียที ^--^ สาเหตุนี้แต่ละคนต่างกันนะ แต่พี่ฟีเชื่อว่า ถ้าหากเราใช้วิธีเขียนคุยกับตัวเอง มันจะช่วยได้นะ หาแรงกระตุ้น ให้ตัวเองกระฉับกระเฉงขึ้นมาให้ได้ การตั้งเป้าหมาย ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะกระตุ้นเรา แต่การสร้างหนี้ไม่ควรใช้เป็นแรงกระตุ้นเด็ดขาด ฮ่าๆๆๆ
การแข่งขัน เปรียบเทียบนี่ ก็พอจะเป็นแรงกระตุ้นนะ รู้ไหมว่าแรลลี 23 ของเรา มีคนจบแล้วนะ พี่ทอมไง เขียนไปอีกแล้ว ดูซิที่เหลือใครจะตามไป พี่ฟีก็มีธงของตัวเองอยู่ว่า ต้องจบอีกเรื่องในปีนี้ ก็ต้องจบให้ได้เหมือนกัน
แต่พี่ฟีก็มีปัญหานะ ในการหาเรื่องมาเขียนนะ ไม่รู้จะหาอะไรมาใส่เข้าไปให้มันรู้สึกสนุกสำหรับเรา พี่ฟีเน้นว่า สำหรบตัวเรานะ ฮ่าๆๆ ถ้าพี่ฟีไม่สนุกกับเรื่องตัวเองมากพอแล้ว มักจะหนีไปทำอย่างอื่น หรือเขียนเรื่องอื่นไปเลย
แต่ถ้ายังสนุกกับเรื่องอยู่ แม้จะเขียนต่อไม่ได้ พี่ฟีก็จะนั่งหมกมุ่นอยู่กับมันนี่ล่ะ กางกระดาษเลยว่า เป็นเพราะอะไร เช็กไปที่ตัวละคร เราสร้างเขามาเหมาะที่จะแบกเรื่องเดินต่อไหม ภูมิหลังของเขา ทักษะของเขา เป้าหมายของเขา การตอบโต้ของเขา บุคลิกของเขา มันเหมาะแล้วยังกับสิ่งที่จะต้องเผชิญ ตัวดีตัวร้าย สร้างได้อย่างพอฟัดพอเหวี่ยงกันแล้วยัง ถ้าพระเอกฉลาดเต็ม 10 ก็อย่าให้ตัวโกงโง่เป็น 0 นะ อย่างน้อยตัวโกงควรจะ 8 หรือ 9 หรือบางครั้งก็ 11 เอาให้พระเอกหัวหมุนไปเลย ยิ่งร้ายเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้บทบาทพระเอกดูเข้มขึ้นค่ะ
เหตุการณ์หรือพล็อตที่จะใส่เข้าไป ที่จะทำให้เรื่องไหลต่อเนื่องไปได้อย่างเข้มข้น วางจังหวะดีแล้วยัง เร็วหรือช้าเกินไปไหม และมันควรจะเป็นเหตุการณ์นี้ไหม เราเอาอย่างนี้ใส่ให้ตัวละคร ตอนนี้เพื่ออะไร เพื่อจะทุบ เพื่อจะฝัง เพื่อจะให้เงยหน้า เพื่อจะให้รู้ว่าเฮ้ยเขาเก่งนะ จะผ่อนจะคลาย จะเข้มงวด บิ้วอารมณ์ได้แค่ไหน อารมณ์ตัวละครเป็นอย่างไร อารมณ์คนอ่านจะตามไปค่ะ
แล้วพวกสถานที่ฟ้าฝนอากาศเป็นใจแค่ไหน เล่นกับภูมิประเทศห้องหับของตัวละครได้ไหม เหตุการณ์อย่างนี้ควรจะเกิดตรงไหน เวลาไหน ฯลฯ
ในทุกๆ อย่าง ดูว่าจะทำให้มันเชื่อมโยงกันได้อย่างไร จะทำให้เราเขียนอะไรลงไปเพิ่มเติมได้บ้าง
คิดเรื่องถ้าหากยิ่งคิด ยิ่งจะได้เรื่องค่ะ ^--^ คิดไปก่อน แล้วค่อยมาตลบมันเข้าด้วยกัน ค่อยมาต่อมันเข้าด้วยกัน
พอใจเราจมอยู่กับมัน ก็อยากจะระบายออกด้วยการเขียนเสียที แล้วเราก็ได้เขียนไง แม้จะเป็นเพียงการเขียนความคิดที่จะเขียน แต่ก็เข้าใกล้แล้วค่ะ เหมือนเราเตรียมพร้อม เมื่อลงมือก็ลื่นไหล คงดีกว่า ไม่เขียนไม่คิดอะไรเอาเสียเลย
เอะ ชักจะยาว ฮ่าๆๆๆ ความจริงก็ว่าจะเล่าเรื่องการเขียน ไดอะล็อกแท็ก หรือคำอธิยายหลังคำพูด พอดีเปิดผ่านๆ ไปเจอ เอารูปแบบก่อนก็แล้วกัน
คือ ประโยคไหนใครพูด คำอธิบายต่อจากประโยคนั้น ต้องเป็นของคนพูดค่ะ อย่าไปเอากิริยาคนอื่นมาเขียนใส่
"ออกไปเดี่ยวนี้!" เขาขมวดคิ้วที่ถูกไล่ เธอโกรธอะไรกัน
ไอ้อย่างนี้ไม่ถูกค่ะ อ่านแล้วงง ถ้าไม่ใช่คำพูดของเขา ก็ควรจะใส่คนละบรรทัดไปเลย "ออกไปเดี๋ยวนี้!" เขาขมวดคิ้วที่ถูกไล่ เธอโกรธอะไรกัน
จริงค่ะ เขียนแบบแรกก็มีคนอ่านเข้าใจเหมือนกัน แต่ในเรื่องรูปแบบการเขียนบทสนทนา มันมีหลักที่จะช่วยทำให้การอ่านลื่นไหลขึ้นนะ การเขียนที่มีรูปแบบเหมาะสม จะทำให้การอ่านลื่นไหล และชัดเจนค่ะ อย่าไปทำให้คนอ่านงง ว่าใครพูดกันแน่
เอาละ ร่ายมาซะยาว ^--^ นี่ก็เป็นการสร้างนิสัยการเขียนของพี่ฟีเหมือนกัน เขียนสวัสดีวันจันทร์ติดต่อกันมาหลายปีแล้วนะ
ขอให้มีความสุขค่ะ ฟีลิปดา ^--^
|